คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามลักทรัพย์นายจ้างและลูกจ้างประพฤติชั่ว การรอการลงโทษ
จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วนำใบแจ้งหนี้ไปขอเบิกค่าซ่อมจากผู้เสียหายครั้นได้เงินค่าซ่อมมาแล้ว จำเลยไม่ไปรับรถจักรยานยนต์คืน ทั้งยังหลอก จ. ผู้รับซ่อมรถจักรยานยนต์ว่ารถเป็นของจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระค่าซ่อมและให้ จ. ขายแยกชิ้นส่วนเพื่อหักชำระค่าซ่อม ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการลักรถจักรยานยนต์ไปจากผู้เสียหายโดยใช้ จ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ของกลางได้โดยไม่ปรากฏว่า จ. แยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ตามที่ถูกหลอก จำเลยจึงมีความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2378/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างและหัวหน้างานต่อความเสียหายจากการจ่ายเงินผิดระเบียบ และการหักชำระหนี้จากคดีล้มละลาย
ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 กำหนดว่า "การจ่ายเงินของสหกรณ์ให้กระทำได้ดังนี้...(2) การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์...ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด..." และข้อ 27 กำหนดว่า "ก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง ผู้มีหน้าที่จ่ายต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และใบสำคัญประกอบการจ่ายเงินให้ถูกต้องเรียบร้อย..." ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ โจทก์อนุมัติให้ ป. และ ก. กู้ยืมเงินจากโจทก์ ตามปกติแล้ว ป. และ ก. ต้องเป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง การจ่ายเงินจำนวนมากเช่นในคดีนี้ต้องจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่ ป. และ ก. เจตนาขอรับเป็นเงินสด และหาก ป. และ ก. จะไม่รับเงินด้วยตนเองต้องทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเงินแทน ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินกู้ได้ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้จำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่ น. ซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับเงินตามสัญญากู้ จึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย และถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 รับผิดน้อยลง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้โดยตรง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินทุกประเภทให้เป็นไปตามระเบียบ แล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้แก่ น. ให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงเป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
การกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างทำสัญญาผ่อนชำระแทนเจ้าของกิจการ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้เอง
โจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ ฟ. โดยโจทก์เป็นผู้พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยด้วยการให้จำเลยผ่อนชำระค่าศัลยกรรมซึ่งโจทก์ทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการสนับสนุนเงินทุนเพื่อทำศัลยกรรมกับ ซ. โดย ซ. เบิกความสนับสนุนว่ามีการทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์กันไว้จริงตามเอกสารหมาย จ.11 อันเป็นการนำสืบพยานหลักฐานในทำนองว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนร่วมกันประกอบกิจการในโครงการ ฟ. แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 4426/2563 ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่าร่วมกับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยในคดีดังกล่าวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ทำงานในโครงการ ฟ. ในฐานะเป็นลูกจ้าง ซึ่งตรงกับที่โจทก์เบิกความในคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีที่ระบุว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของโครงการ ฟ. ได้รับเงินเดือนโดยเป็นผู้อำนวยการโครงการ มีหน้าที่จัดทำเว็บไซต์ของโครงการและทำหน้าที่ด้านการเงินเท่านั้น ซึ่งคำเบิกความของโจทก์และผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันโจทก์ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ ฟ. โดยทำหน้าที่ในด้านการเงินและเป็นผู้เปิดบัญชีรับโอนเงินกับรับทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ในโครงการดังกล่าวแทน ซ. เท่านั้น โจทก์เพิ่งยกหนังสือสัญญาแบ่งผลประโยชน์เป็นหลักฐานในคดีนี้ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวขัดกับคำให้การและคำเบิกความในคดีก่อนโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบเอกสารดังกล่าวต่อศาล เชื่อว่าเอกสารหมาย จ.11 มีการจัดทำขึ้นในภายหลังเพื่อผลประโยชน์ในคดีที่เรียกร้องเงินตามสัญญาผ่อนชำระหนี้จากลูกหนี้ในโครงการเท่านั้น อีกทั้งโจทก์ยังเบิกความว่าโจทก์ได้รับมอบอำนาจจาก ซ. ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 12 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับเอกสารหมาย จ.11 จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวได้
คดีหมายเลขแดง ที่ ผบ. 4426/2563 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าการกระทำของโจทก์กับพวกซึ่งเป็นจำเลยในคดีไม่เป็นการทำละเมิด โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างหรือเป็นหุ้นส่วนกับ ซ. อันเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้หรือไม่ ผลของคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ และจำเลยให้การต่อสู้ด้วยว่าโจทก์เบิกความเท็จต่อศาลในคดีดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างไม่มีส่วนได้เสียในโครงการ ฟ. และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ อันเป็นการยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ในคดีนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ ฟ. การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทน จึงเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของ ซ. เท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก ซ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่แท้จริง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อผลจากการทุจริตหน้าที่และรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากคู่ค้าของนายจ้าง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากสินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ว่า กระทรวง... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา..." รัฐวิสาหกิจใดจะเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้นั้น คงมีแต่เฉพาะกรณีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เรื่อง การเพิ่มทุนของโจทก์ โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโจทก์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ก็ตาม แต่การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ในขณะจัดตั้งตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด การจัดตั้งโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้มีความประสงค์ให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ อันจะตกอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ ส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกค้า และ ป. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน
ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ กลับนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ โดยขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจาจาก ส. เป็น ป. ซึ่งไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของ ป. ที่ค้างชำระต่อธนาคาร ก. เกินกว่า 300 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ในบทที่ 4 ข้อ 4.1.3 (5) โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มีความสำคัญและต้องนำส่งทุกครั้งที่มีการขออนุมัติสินเชื่อ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ข้อ 5.1 ข้อ 5.1.3 และข้อ 5.1.5 และคำสั่งโจทก์ที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท ข้อ 1.2 ข้อ 1.2.3 และข้อ 1.2.5 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ หลังจากที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัท ซ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 13 งวด ค้างชำระเงินต้นถึง 60,000,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องฟ้องบริษัท ซ. และ ป. กับพวก ต่อศาลแพ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลย แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย เมื่อหนี้ดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ซ. และ ป. ร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งยังให้บังคับจำนำยึดหุ้นของบริษัท ซ. ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ และให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้น การจะกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวทั้งหมดอีกย่อมเป็นการซ้ำซ้อนและเป็นการไม่สมควร การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้คงต้องคำนึงถึงจำนวนเงินต้นทุนสินเชื่อตามจริงที่บริษัท ซ. กู้ยืมไป และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระแล้วในคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหรืออาจจะได้รับชำระตามคำพิพากษาต่อไปโดยการบังคับจากหลักประกัน คือ หุ้นของบริษัท ซ. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนอง และผู้ค้ำประกัน ประกอบเข้ากับการลดน้อยถอยลงของหลักประกันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยควรรับผิดต่อโจทก์เพียงใดตามนัยข้างต้นต่อไป
of 223