คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อตกลงพิเศษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2494 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าและสิทธิเลิกสัญญาเมื่อมีการขายสถานที่เช่า โดยมีข้อตกลงพิเศษที่ไม่ขัดกฎหมาย
ทำสัญญาเช่าเคหะกันมีอายุ 1 ปี แต่มีข้อแม้ไว้ข้อ 1 ว่า ถ้าให้ผู้เช่าตกลงขายที่และบ้านเช่าให้แก่ผู้ใดก่อน ครบกำหนดการเช่าตามสัญญาแล้วผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า เพื่อผู้เช่าเตรียมตัวออกจากบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือนและผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบด้วยว่าจะตกลงขายแก่ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อผู้เช่าจะได้มีโอกาศตกลงซื้อในเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควร ดังนี้ ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯลฯ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด เมื่อผู้ให้เช่าขายสถานที่เช่าแก่คนอื่นไปโดยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ก็ย่อมเลิกการเช่าได้ก่อนกำหนด 1 ปีและผู้เช่าก็จำต้องออกจากสถานที่เช่าไป จะอ้างว่าได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯลฯไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2492

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าและการชำระค่าเช่า ณ สำนักงานผู้ให้เช่า ข้อตกลงพิเศษมีผลเหนือมาตรา 560
ผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องนำค่าเช่าไปชำระในสำนักของผู้ให้เช่า
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากหญิงมีสามี เมื่อปรากฏว่าในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น ทั้งสามีของจ. และ จ. ได้ลงนามมอบอำนาจให้ ป. ฟ้องร้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ ดังนี้ เป็นการแสดงความยินยอมของสามี ให้ภริยาทำการฟ้องร้อง หรือมอบอำนาจให้ตัวการทำการฟ้องร้องคดีได้
บทบัญญัติมาตรา 560 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น บัญญัติไว้เพื่อเป็นข้อสันนิษฐานเจตนาของคู่สัญญาในเมื่อไม่มีความตกลงกันเป็นอย่างอื่นเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามความหมายของมาตรา 113,114 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นไม่
ผู้เช่าได้ทำสัญญาตกลงกับผู้ให้เช่าว่าถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้เช่าตามกฎหมายผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะให้เช่าบอกเลิกเพิกถอนสัญญาเช่าและกลับเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์ที่เช่าทันที โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้เช่าทราบก็ได้ข้อตกลงนี้หาตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1545/2492

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงพิเศษนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายและการวางมัดจำ ศาลไม่อาจรับฟังได้หากไม่ปรากฏในสัญญา
จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และได้มีการวางมัดจำด้วย แต่ความประสงค์ของทั้งสองฝ่ายมุ่งจะผูกมัดกันโดยหนังสือสัญญานี้ ส่วนการวางมัดจำเป็นแต่ข้อสัญญากันข้อหนึ่ง หาใช่ตกลงกันทำสัญญาด้วยการวางมัดจำไม่ กรณีเข้า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คู่ความจะสืบว่ามีข้อตกลงเป็นพิเศษว่า จำเลยจะต้องให้ผู้เช่าออกไปจากที่ก่อนโอน โดยไม่ปรากฏในหนังสือสัญญาเช่นนี้ ศาลรับฟังไม่ได้โดยขัดกับมาตรา 94(ประชุมใหญ่ ครั้งที่21/92)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14047/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงพิเศษเช่ารถยนต์: การหักค่าจ้างที่ไม่เข้าข่ายสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ทำธุรกิจแข่งกับจำเลย เนื่องจากขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงลูกความของบริษัท ด. โจทก์เชื่อโดยสุจริตใจว่าลูกความของบริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นลูกความของจำเลยอีกต่อไป เนื่องจากจำเลยโอนกิจการรวมถึงลูกความของจำเลยไปยังบริษัทนี้แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานโจทก์ จึงฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยเปิดบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งใหม่และทำหนังสือเชิญชวนลูกความของจำเลยไปใช้บริการ อันเป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับจำเลย ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกความของจำเลย ลูกความทั้งหมดของจำเลยโอนไปยังบริษัท ด. แล้วฟังไม่ขึ้น การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียลูกค้า ขาดรายได้ เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัท ต. โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัท ต. ซื้อรถยนต์ตามคำร้องของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่ามีกำหนดเช่า 36 เดือน จำเลยนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์มาตลอดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ประสงค์นำค่าเช่าไปชำระเอง แต่ก็ไม่นำไปชำระ บริษัท ต. ทวงถามค่าเช่ารถยนต์มายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่กรณีจำเลยจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์ จึงมิใช่ข้อตกลงหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามมาตรา 76 (3) และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่มีข้อตกลงพิเศษ สิทธิของคู่สัญญาเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์
การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันธ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11035/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินมีผลสมบูรณ์ แม้มีการผ่อนชำระและข้อตกลงพิเศษ ไม่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
ข้อความในสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยทั้งสองระบุว่า จำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเดือนละ 4,000 บาท กรณีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแต่การชำระเงินยังไม่ครบถ้วนเสร็จสิ้น เจ้ามรดกยอมตกลงว่าจำนวนเงินที่เจ้ามรดกได้รับไปแล้วไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดให้ถือว่าเจ้ามรดกได้รับครบถ้วนตามสัญญา ข้อความตามข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะทำให้ข้อสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอทรัพย์ชำระหนี้ vs. การปฏิเสธรับชำระหนี้ และข้อตกลงพิเศษในสัญญาจำนอง
แผ่นพับโฆษณาให้บุคคลทั่วไปทราบว่า โจทก์มีโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระสูงและไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ ให้สามารถปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่จำนองให้โจทก์แทนการชำระหนี้ โดยโจทก์กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของโจทก์ก่อน แผ่นพับโฆษณาดังกล่าวยังไม่ชัดเจนแน่นอน จึงมิใช่คำเสนอ แต่เป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้สนใจทำคำเสนอเข้ามาเท่านั้น คำร้องขอของจำเลยที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จึงจัดว่าเป็นคำเสนอเมื่อโจทก์มิได้สนองรับย่อมไม่ก่อให้เกิดสัญญา
จำเลยค้างชำระหนี้เงินแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลย โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 จำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง
แม้ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้รับจำนองและจำเลยผู้จำนองตกลงกันเป็นประการพิเศษนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติไว้ ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 733 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีเท่านั้น มิใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปแต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใด จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ ดังนั้น ในกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้เงิน โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่นของจำเลยในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การบอกเลิกสัญญา, ข้อตกลงพิเศษ, ผลของการบอกเลิกสัญญา, การส่งมอบทรัพย์สิน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่กรณีกับผู้ร้องผู้ให้เช่าโดยตรง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการดำเนินการต่อสู้คดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 155 แม้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากเป็นผู้รับสิทธิตามสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเนื่องจากมีผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่โจทก์มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านหากเห็นว่าบกพร่องก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งแก้ไขตามมาตรา 146 เมื่อผู้คัดค้านแถลงหมดพยาน ทนายโจทก์แถลงขอสืบพยานโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแล้วนั้นยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ส่วนใดจึงขอสืบพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ คดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตามสัญญาและผลของกฎหมายเมื่อสัญญาสิ้นสุดโดยการบอกเลิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแทบทั้งสิ้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำเสนอเอกสารเป็นพยานครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาเพียงพอแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ขอสืบย่อมเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร จึงไม่อนุญาตให้โจทก์นำเข้าสืบได้ตามมาตรา 86 วรรคสอง
ผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นหลักทั่วไปของนิติกรรมสัญญา กฎหมายไม่ได้ห้ามคู่สัญญาที่จะทำนิติกรรมตกลงกันให้ผลของการเลิกสัญญาเป็นประการอื่น หากข้อตกลงนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลบังคับได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หนังสือสัญญาเช่าที่ดินข้อ 4 ที่ว่า "...เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือเมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามสัญญานี้ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ทั้งหมด..." ข้อ 11 ที่ว่า "ถ้าผู้เช่า...ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที" และข้อ 12 ที่ว่า "เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือสัญญาเช่านี้สิ้นสุดตามสัญญาข้อ 11... ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง" นั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลใช้บังคับกันได้
of 3