คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สามีภริยา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาระหว่างสามีภริยาที่ทำขึ้นก่อนหย่า และสิทธิในการเรียกร้องทรัพย์สินหลังหย่า
บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 แม้จะมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันเมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับ ทรัพย์สินด้วย จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
โจทก์ฟ้องขอหย่า การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งอ้างว่าบอกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลย ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันแล้วย่อมถือได้ว่าคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการแสดงเจตนา บอกล้างไปในตัว และเป็นการบอกล้างในขณะเป็นสามีภริยากันอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าว จำเลยได้มีการบอกล้างแล้ว จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ได้ หากโจทก์มีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวแก่กันตามสิทธิต่อไป
จำเลยซึ่งเป็นสามีโจทก์มีฐานะดี ส่วนโจทก์ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายของประจำห้างสรรพสินค้า มีเงินเดือนเพียงเดือนละประมาณ 4,000 บาท โจทก์ยังต้องเช่าบ้านอยู่ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองและอุปการะเลี้ยงดูของจำเลยฝ่ายเดียวโดยไม่ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้จำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาระหว่างสามีภริยา: สิทธิในการบอกล้างสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินและผลที่ตามมา
บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วยจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8228/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุในคดีทำร้ายร่างกายถึงแก่ความตายระหว่างสามีภริยา
ผู้ตายกับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนกันมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี มีบุตรด้วยกัน 5 คน มีความสัมพันธ์รักใคร่ผูกพันซึ่งกันและกันแม้จะมีปากเสียงทะเลาะกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างสามีภริยา เหตุที่จำเลยใช้เคียวฟันผู้ตายก็เนื่องจากถูกผู้ตายถีบและเตะซึ่งถือเป็นเหตุเล็กน้อย กรณีไม่ใช่เหตุร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องฆ่ากัน จำเลยฟันผู้ตายเพียงครั้งเดียวการที่เคียวถูกที่ลำคอผู้ตายเป็นเรื่องบังเอิญ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
แม้ผู้ตายกับจำเลยจะเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะเตะถีบทำร้ายร่างกายและข่มขู่จะฆ่าจำเลยได้ เมื่อผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน กรณีถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองได้การที่จำเลยใช้เคียวเป็นอาวุธฟันผู้ตายไป 1 ครั้ง ก็เพื่อจะยับยั้งมิให้ผู้ตายทำร้ายร่างกายจำเลยอีก จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายดังกล่าว แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายเพียงแต่ถีบเตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธ ทั้งจำเลยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแม้จำเลยอ้างว่าผู้ตายขู่จะฆ่าจำเลยด้วยก็เป็นเรื่องข่มขู่กันระหว่างสามีภริยา ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องจริงจัง จึงมิใช่ภยันตรายที่ร้ายแรงอย่างมากการที่จำเลยใช้เคียวเป็นอาวุธฟันถูกที่ลำคอผู้ตาย แม้จะมีเจตนาเพียงทำร้ายเพื่อไม่ให้ผู้ตายเข้ามาทำร้ายจำเลยอีกก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ประกอบด้วยมาตรา 69

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นเรื่องสินสมรส: การให้การไม่ชัดเจนทำให้ศาลไม่ถือว่าเป็นประเด็นข้อพิพาท
จำเลยให้การเพียงว่า พ.ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 1 งานในโฉนดเลขที่ 4866 ให้แก่ ย.สามีจำเลย และที่ดินดังกล่าวต่อมาทำการแบ่งแยกเป็นที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ 10442 จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า ย.และจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก พ.หรือที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ย.และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันที่จำเลยให้การว่า ย.ซื้อที่ดินพิพาทระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ก็ได้ความว่าย.อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยภายหลัง ป.พ.พ.บรรพ 5 ใช้บังคับ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส ย.กับจำเลยจึงไม่ใช่สามีภริยากันตามกฎหมาย คำให้การดังกล่าวไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยและ ย.ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาอันเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า จำเลยและ ย.ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากันถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับ ย.ทำมาหาได้ร่วมกัน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9759/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกรณีสามีภริยาแยกยื่นภาษี: สิทธิของแต่ละฝ่ายและความถูกต้องของการประเมิน
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี หลักในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมา กฎหมายถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี โดยสามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 57 เบญจ
แม้โจทก์จะเคยเสียภาษีมาในฐานะคนโสดแต่ภายหลังมีภริยาและต้องเสียภาษีในฐานะมีคู่สมรสมิใช่ในฐานะคนโสดอีกต่อไป ทั้งภริยาของโจทก์มีเงินได้ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) ได้แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากโจทก์ จึงไม่ถือว่าเงินได้ของภริยาโจทก์นั้นเป็นเงินได้ของโจทก์ด้วยตามมาตรา 57 เบญจ โจทก์และภริยาจึงต่างฝ่ายต่างมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ)กึ่งหนึ่ง ตามบทบัญญัติของมาตรา 57 เบญจ (6) ส่วนจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) ประมวลรัษฎากรให้หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่วิธีการหักต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 57 เบญจ (6) ซึ่งให้สิทธิภริยาหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) กึ่งหนึ่ง ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภริยาโจทก์เป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และได้แยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษีต่างหากจากโจทก์ มิใช่กรณีที่ถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี ภริยาโจทก์จึงมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม แม้หากในการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีภริยาของโจทก์มิได้หักค่าลดหย่อนส่วนนี้ไว้ ทำให้ต้องเสียภาษีเกินไป ก็มีสิทธิขอคืนได้และกรมสรรพากรก็มีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้เพียง 5,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9438/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี: สามีภริยาฟ้องร่วมได้หากมีหนี้ร่วมกัน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 คำว่า ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี มีความหมายว่า มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นโดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้สินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีคือหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ทั้งจำเลยทั้งสองก็เป็นสามีภริยากัน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยสามีภริยา การพิจารณาเจตนาฆ่า และพยานหลักฐาน
จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายเกิดขึ้นจากจำเลยมีอารมณ์โกรธ ที่ถูกผู้เสียหายด่าว่าด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ไม้ของกลาง เป็นไม้แผ่นบางเล็ก แม้จะตีถูกศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะ ส่วนสำคัญของร่างกายหลายแห่งแต่ก็ไม่น่าจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ประกอบกับบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ ไม่อยู่ในอาการเป็นอันตรายสาหัส ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา ฆ่าผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์นำสืบบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน ของผู้เสียหายว่า จำเลยลากตัวผู้เสียหายไปห้องน้ำ จับศีรษะผู้เสียหายกดลงในอ่างน้ำที่มีน้ำอยู่เกือบเต็ม บีบคอผู้เสียหายและจับศีรษะผู้เสียหายโขกกับประตู เป็นทำนองว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายนั้น เป็นเพียง พยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ ยืนยันพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย จึงยังรับฟังว่าจำเลย มีเจตนาฆ่าไม่ได้ คงลงโทษจำเลยเพียงฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร: พฤติการณ์เลี้ยงดูฉันสามีภริยา ไม่เข้าข่ายความผิด
ผู้เยาว์กับจำเลยรู้จักสนิทสนมกันมานานประมาณ 4 ปีมีความรักใคร่ชอบพอกันอยู่ก่อนแล้ว ผู้เยาว์เองก็รับว่าสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลย นอกจากนี้บิดามารดาจำเลยเคยติดต่อสู่ขอผู้เยาว์จากบิดามารดาผู้เยาว์แต่ตกลงในจำนวนเงินค่าสินสอดกันไม่ได้ ผู้เยาว์จึงติดตามไปอยู่กับจำเลย และหลังจากนั้นก็อยู่กินกับจำเลยมาโดยตลอดมิได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของตนจนผู้เยาว์ตั้งครรภ์ พฤติการณ์ของจำเลยที่พาผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกันก็ด้วย ประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นภริยาจริง ๆ ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเลี้ยงดูผู้เยาว์ฉันสามีภริยาได้โดยแท้ การกระทำของจำเลยไม่อาจถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการกู้ยืม และผลของการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาจำนอง
แม้หนี้เงินกู้ซึ่ง อ.สามีจำเลยกู้ยืมจากโจทก์ เป็นหนี้ที่ อ.ก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ของ อ.ฝ่ายเดียวก็ตาม แต่จำเลยก็ยินยอมให้ อ.กู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ การที่จำเลยได้ร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่ อ.ได้ก่อให้เกิดขึ้นและจำเลยได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้นั้นจึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1490 (4) จำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องร่วมกับ อ.ผู้เป็นสามีรับผิดชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์
หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 653วรรคหนึ่ง มิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีในขณะที่ให้กู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้
หนี้เงินกู้ที่ อ.กู้ยืมจากโจทก์เป็นหนี้ที่ อ.และจำเลยภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันต่อโจทก์ การที่ อ.สามีจำเลยยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันเงินกู้ โดย อ.ทำนิติกรรมยืมเงินจากโจทก์ และตามหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว อ.ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ดังนั้น หนังสือให้ความยินยอมจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมของจำเลยซ้ำอีก ดังนี้ เมื่อ อ.ผิดนัด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินต่อโจทก์
แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินที่จำเลยเอาไปจากโจทก์ก็ตาม แต่การนำสืบถึงหนี้ตามคำฟ้องโจทก์ย่อมต้องนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้โดยละเอียดว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวมีมูลมาอย่างไรการที่โจทก์นำสืบว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีมูลหนี้เดิมมาจาก อ.สามีจำเลยเป็นผู้กู้ยืมโดยจำเลยให้ความยินยอม และจำเลยยอมจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ที่ อ.และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันเช่นนี้ จึงเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดี มิใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็น
แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุให้คิดดอกเบี้ยในหนี้จำนองอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งเสมอไป จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 21มีนาคม 2537 อ.ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ หลังจากนั้น อ.และจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก เมื่อจำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนละครั้ง แต่เมื่อถึงกำหนดงวดวันที่ 21 เมษายน 2537 จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2537เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการกู้ยืมเงินและการจำนองทรัพย์สิน แม้ฟ้องผิดฐานแต่ศาลสามารถแก้ไขได้
แม้หนี้เงินกู้จำนวน 3,500,000 บาท ซึ่งอ. สามีจำเลยกู้ยืมจากโจทก์ เป็นหนี้ที่อ. ก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ของอ.ฝ่ายเดียวก็ตามแต่จำเลยก็ยินยอมให้อ.กู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ การที่จำเลยได้ร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่อ. ได้ก่อให้เกิดขึ้นและจำเลยได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้นั้นจึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4)จำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องร่วมกับอ. ผู้เป็นสามีรับผิดชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีในขณะที่ให้กู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้ หนี้เงินกู้ที่อ.กู้ยืมจากโจทก์เป็นหนี้ที่อ. และจำเลยภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันต่อโจทก์ การที่อ. สามีจำเลยยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันเงินกู้ โดยอ.ทำนิติกรรมยืมเงินจากโจทก์ และตามหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวอ. ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ดังนั้น หนังสือให้ความยินยอมจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือแล้วกรณีไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมของจำเลยซ้ำอีกจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินต่อโจทก์ แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อ เป็นประกันการกู้ยืมเงินที่จำเลยเอาไปจากโจทก์ก็ตามแต่การนำสืบถึงหนี้ตามคำฟ้องโจทก์ย่อมต้องนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ โดยละเอียดว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวมีมูลมาอย่างไร การที่ โจทก์นำสืบว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีมูลหนี้เดิมมาจาก อ. สามีจำเลยเป็นผู้กู้ยืมโดยจำเลยให้ความยินยอมและจำเลย ยอมจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ที่อ. และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันเช่นนี้ จึงเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดี มิใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็น แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุให้คิดดอกเบี้ยในหนี้จำนองอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งเสมอไปจะเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ก็ตามแต่เมื่อจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วต่อมาอ. ได้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หลังจากนั้นอ. และจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีกเมื่อจำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนละครั้งแต่เมื่อถึงกำหนดงวดวันที่ระบุไว้ในสัญญาในวันที่21 เมษายน 2537 จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2537 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งมิใช่ผิดนัดตั้งแต่วันที่ตกลงทำสัญญาให้คิดดอกเบี้ยฝ่าฝืนกฎหมาย
of 24