คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำกัดสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 329 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรื้อถอนอาคารรุกล้ำที่ดิน & ข้อจำกัดสิทธิฟ้องร้องกรณีข้อบัญญัติท้องถิ่น
การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารผิดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครหรือไม่เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้าง ฯ ข้อ 74 ได้ หากโจทก์เห็นว่าหน้าต่างของอาคารที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างเมื่อเปิดแล้วจะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพอแปลได้ว่าโจทก์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างหรือส่วนของอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 16 เมตร จำเลยทั้งสองให้การว่า มิได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์หากแต่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกัน เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ตีราคาที่ดินส่วนที่พิพาทกันเพื่อให้คู่ความเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงระวางที่ดิน เลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ตั้งของที่ดินส่วนที่พิพาทซึ่งมีสภาพเป็นทางเข้าวัดโจทก์แล้วเห็นว่ามีราคาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริง และการวินิจฉัยความผิดฐานบุกรุกและทำร้ายร่างกาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาเกิน 200,000 บาท ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง การครอบครองปรปักษ์ต้องสุจริต
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทราคา 104,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 104,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันหลังจากวันฟ้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่อาจนำไปคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาได้ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าทดแทนที่ดินถูกจำกัดจากสายส่งไฟฟ้า และอำนาจจำเลยในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
การที่จำเลยกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินพิพาท ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็น ส.เจ้าของที่ดินเดิมในขณะที่จำเลยดำเนินการสำรวจ หรือจะเป็นโจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน เมื่อ ส.ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่รวมถึงการถูกตัดรอนสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวด้วย และเมื่อโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดให้ ไม่ว่าโจทก์จะรับหรือไม่รับเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 30 ทวิ ประกอบมาตรา 30 วรรคสาม ทั้งกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติขั้นตอนให้โจทก์มีหน้าที่ต้องโต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก่อนฟ้องคดีในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดต่อคณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มได้ ประกอบกับจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นว่ามากเกินไปหรือไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้
จำเลยประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 พร้อมทั้งปิดประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการตำบลก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ว่า ส.จะทราบหรือไม่ก็ตาม โดยผลแห่งกฎหมายต้องถือว่าได้มีการประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในบังคับมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดในเขตเดินสายไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งแก่ ส.เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าอันจะเป็นละเมิดหรือไม่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะในขณะนั้นโจทก์ยังมิใช่เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และเริ่มถมดินปลูกสร้างบ้านพิพาทวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ภายหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแจ้ง ส.นาน 1 ปี ถึง 2 ปี ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ลงประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา และปิดประกาศดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอกับที่ทำการตำบลมาแล้ว 3 ปี ถึง 4 ปี ซึ่งหากแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิด ก็คงเป็นละเมิดต่อ ส.ได้เท่านั้น ไม่อาจเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยในมูลละเมิด อีกทั้งการปลูกสร้างบ้านของโจทก์ในที่ดินพิพาทในเขตเดินสายไฟฟ้าภายหลังการประกาศฯ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง โดยแจ้งชัดจำเลยจึงมีอำนาจรื้อถอนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 32 วรรคสอง
แม้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคสอง จะบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่จำเลยไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อย่างไรก็ตามกรณีโจทก์กับจำเลยยังมีข้อพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกไปก็เพื่อให้ศาลรับรองอำนาจดังกล่าวของจำเลยและให้จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเพื่อยุติข้อโต้แย้งของโจทก์ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีแรงงานและการจำกัดสิทธิโดยระเบียบภายในองค์กร ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดว่า "เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้" เป็นการกำหนดให้สิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่ระเบียบข้อเดียวกันนั้นกำหนดว่า "คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด" มีความหมายเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใดของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 - 46 ที่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 - 46 ที่เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งคนละขั้นตอนกัน ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้องสำหรับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิฎีกาในคดีอาญาเมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยรวมทุกกระทงแล้วจำคุก 28 ปี 56 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาจำกัดสิทธิการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และการปรับบทลงโทษในคดีทุจริตต่อหน้าที่
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกินห้าปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุขัดข้องและการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ: การตีความ 'ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม' และขอบเขตจำกัดสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ โดยมีข้อยกเว้นให้สามารถจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และมาตรา 26 บัญญัติให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ เมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ดังนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 10 ซึ่งกําหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง อันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ การดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกและคุ้มครองผู้ชุมนุม จึงเป็นบทบัญญัติที่จํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 28 การตีความบทบัญญัติเช่นนี้ ซึ่งหมายรวมถึงลักษณะและความหมายของ "ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ" ในวรรคสอง จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่อาจนําบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาประกอบดังที่จําเลยฎีกา เนื่องจากบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอยู่แล้ว หากมาตรา 10 วรรคสอง ต้องการที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุม จึงจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว ก็น่าจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในบทมาตรานี้ โดยไม่จําต้องระบุเงื่อนไขให้ซ้ำซ้อนในบทนิยามดังกล่าวอีก นอกจากนั้น หากแปลความดังที่จําเลยอ้าง ย่อมจะทำให้มีการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องแจ้งการจัดการชุมนุมสาธารณะ ด้วยวิธีการที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอาจไม่แสดงตัว แล้วให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแทนตนเอง หรืออาจมีการจัดการชุมนุมโดยใช้วิธีต่างคนต่างเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ อันจะทำให้การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏแกนนําในการจัดชุมนุมสาธารณะตามฟ้องที่ชัดเจน แต่เมื่อจําเลยโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด และต่อมามีการจัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นโดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10
of 33