คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,361 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4942/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาประนีประนอมยอมความ การอายัดทรัพย์สิน และการบังคับคดีชำระหนี้
กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ว่าหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนเท่าใด มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาสูงเกินกว่าที่จะพอชำระหนี้โดยหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีจำนวนแน่นอนแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยในบัญชีเงินฝากดังกล่าวจึงไม่เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 300 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้น: สัญญาไม่ระบุเลขที่หุ้นไม่เป็นโมฆะ และการพิสูจน์กลฉ้อฉลต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุน
สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จากจำเลยที่ 3 ในสัญญาระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการ หลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาได้บัญญัติว่า ถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับเหมาผิดสัญญา ก่อสร้างอาคารไม่ตรงแบบ ทำให้ถล่มเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย
ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 ป.อ. มิได้นิยามคำว่า ผู้มีวิชาชีพไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ รวมกับคำว่า วิชา หมายถึงผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรง หรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ กรณีจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย เมื่อจำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยจึงเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในการก่อสร้างซึ่งเกิดจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างอันเป็นการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ และเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ผลของการบอกกล่าวไม่ถูกต้อง, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว
กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า "ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น "ภูมิลำเนา" ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว..." แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อผิดนัด โจทก์มีสิทธิริบของและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้...(6) ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ เช่าซื้อ (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรับรอง ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้ว และกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของตัวแทน: การฟ้องคดีในฐานะตัวการโดยมิได้ระบุฐานะตัวแทน
โจทก์มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของนางสาว ซ. และทำหน้าที่ลงชื่อในสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทนฯ แทนนางสาว ซ. เจ้าของโครงการเท่านั้น ซึ่งคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ แต่โจทก์นำสัญญาพิพาทมาฟ้อง ทั้งในคดีอื่นที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น โจทก์เบิกความเท็จว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง เป็นการใช้สิทฺธิทางศาลโดยไม่สุจริต คดีมีประเด็นตามคำให้การแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของนางสาว ซ. แต่โจทก์กลับฟ้องคดีนี้โดยอ้างสิทธิในฐานะตัวการเสียเอง โดยมิได้ระบุว่ากระทำในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนางสาว ซ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่แท้จริง โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันทางสัญญาและละเมิดจากการโฆษณาชวนเชื่อทางการแพทย์และผลประโยชน์ร่วมกัน
โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปได้พบโฆษณาโครงการของจำเลยที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ยูทูบย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมอยู่ในโครงการของจำเลยที่ 1 และการผ่าตัดศัลยกรรมกับโครงการของจำเลยที่ 1 จะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น และจะได้รับการบริการในราคาถูก ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนพบเห็นหรือทราบข้อความที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ในวิดีโอคลิปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังถือว่าการที่จำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 สนทนากับโจทก์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตามบันทึกการสนทนานั้นเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาอันถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 ตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 11 แล้ว เมื่อเป็นการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่โจทก์
คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาททั้งในเรื่องผิดสัญญาและละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้บริการทางการแพทย์ มิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในมูลละเมิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงเป็นความรับผิดอันเกิดจากสัญญา ซึ่งสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการ การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินโครงการโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเลี้ยงชีพหลังหย่า: ศาลพิจารณาเจตนาสุจริตของคู่สัญญา แม้ข้อตกลงระบุแหล่งเงิน แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิในการจ่าย
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียว ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้อง ด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ประกอบกับสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. เมื่อพิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 อย่างไรก็ตามหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคต ยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 252 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 มาตรา 182/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนำข้าวเปลือก/ข้าวสาร: สัญญาไม่ระงับ หากทรัพย์ยังอยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำ
จำเลยที่ 1 นำข้าวเปลือกและข้าวสารไปจำนำเป็นประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังของจำเลยที่ 1 เป็นที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำ แม้จำเลยที่ 1 ผู้จำนำมีสิทธิเข้าออกโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำได้ตลอดเวลา แต่สัญญาจำนำไม่ได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ การนำทรัพย์จำนำออกจากสถานที่เก็บรักษาเพื่อการไถ่ถอนทรัพย์จำนำก็ดี การนำทรัพย์จำนำไปขาย จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาระผูกพันหรือบุริมสิทธิใด ๆ กับทรัพย์จำนำก็ดี หรือการนำทรัพย์จำนำเข้าออกจากสถานที่เก็บรักษาก็ดี ล้วนแต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนทั้งสิ้น และไม่ถือว่าทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญารักษาทรัพย์จำนำก็ระบุให้ผู้รักษาทรัพย์จำนำดูแลและรักษาทรัพย์จำนำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และแทนโจทก์เท่านั้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รักษาทรัพย์จำนำมิได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์จำนำแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้รักษาทรัพย์จำนำไม่มีสิทธิเคลื่อนย้าย นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระใด ๆ แก่ทรัพย์จำนำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทรัพย์จำนำอยู่ในครอบครองของโจทก์ตลอดเวลา โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำทรัพย์จำนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำจึงหาระงับสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบ แม้ต่างจากวิธีที่ตกลงกันไว้ ย่อมระงับหนี้ได้
การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่จำเลยที่ 2 มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยมิได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ถือเป็นการชำระอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวน 1,850,000 บาท ไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทยอยถอนเงินที่จำเลยที่ 1 นำฝากออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารโดยมิได้คืนให้จำเลยที่ 1 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท
of 337