คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การสมรส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 300/2478

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตัดมรดกบุตรโดยอ้างการให้ทรัพย์สินและการสมรส: ลักษณมรดกบทที่ 18
ลักษณมฤดกบทที่ 18 จะตัดมิให้บุตร์ได้รับมฤดกต่อเมื่อบิดามารดาได้แต่งงานให้ และได้ให้ทรัพย์ไปมากแล้ว วิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิรับมฤดกเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีสิทธิรับมฤดก ก็ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาเรื่องแบ่งมฤดกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8594/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ทรัพย์สินหลังการสมรสสิ้นสุด และประเด็นสินสมรส
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสมรสซ้อน และการรับฟังเอกสารหลักฐานการสมรสก่อน
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลไทยพิจารณาหย่าชาวต่างชาติ & การอุปการะเลี้ยงดูหลังการสมรส
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331-6332/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อนและการมีอำนาจฟ้องคดีการสมรสที่เป็นโมฆะ
โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการสมรส: เฉพาะคู่สมรสที่ถูกข่มขู่เท่านั้นที่มีสิทธิ
ป.พ.พ. มาตรา 1508 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสำคัญผิดตัว หรือถูกฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สำคัญผิดตัว หรือถูกฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงหลานของผู้ตายแม้จะมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่มิใช่ผู้ถูกข่มขู่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนการสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่อ้างว่าเกิดจากการข่มขู่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสเป็นโมฆะเนื่องจากคู่สมรสเดิมยังไม่สิ้นสุด และการสมรสโดยเจตนาทุจริต
ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์อ้างเหตุหย่าว่าเป็นความผิดของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจึงสืบพยานจำเลยไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามฟ้องแย้งของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีอยู่ว่า มีเหตุหย่าตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุต่าง ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดี อ้างว่าการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ เพราะขณะทำการสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ประเด็นก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันและแม้ในคดีก่อน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้" เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม
ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย" ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" และมาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498
การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อนและการมีสิทธิในทรัพย์มรดก ศาลวินิจฉัยตามกฎหมายเดิม แม้มีการแก้ไขกฎหมาย
เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อน: การสมรสที่เกิดขึ้นในขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นโมฆะ แม้จะกระทำโดยสุจริต
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่
of 4