คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขัดต่อกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: คำว่า 'Von Dutch' ไม่ขัดต่อกฎหมาย และการพิพากษาเกินคำฟ้อง
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ข้อ 2 (2) กำหนดว่า เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า แหล่งกำเนิดของสินค้า หรือความเป็นเจ้าของสินค้า เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ซึ่งประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (13) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทบัญญัติที่ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ ดังนั้น การตีความบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" นั้น หมายถึง เครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นประเทศ เมือง หรือสถานที่อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยตรงเท่านั้น ไม่อาจตีความโดยขยายความให้หมายความรวมถึงเครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ด้วยได้ เพราะหากตีความโดยขยายความเช่นนั้นจะมีผลเท่ากับเป็นการไม่ให้นำคำที่สื่อความหมายถึงคนสัญชาติของประเทศหรือบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นมาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำว่า "Von" เป็นคำในภาษาเยอรมันที่แปลว่า "จาก ของ มาจาก" ส่วนคำว่า "Dutch" เป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า "ชาวเนเธอร์แลนด์" เมื่อนำคำทั้งสองคำมารวมเข้าด้วยกันเป็น "Von Dutch" ย่อมแปลความหมายได้ว่า "มาจากชาวเนเธอร์แลนด์" มีความหมายที่สื่อถึงคนชาติเนเธอร์แลนด์โดยตรง หาได้สื่อความหมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นชื่อเรียกสถานที่ซึ่งอยู่ในความหมายของ "แหล่งกำเนิดของสินค้า" ตามข้อ 2 (2) ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวไม่ เครื่องหมายการค้า คำว่า "Von Dutch" ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ จึงไม่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายหรือคำบรรยายอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า ทั้งยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเพราะอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าด้วย และเมื่อนำไปใช้กับสินค้าที่ขอจดทะเบียนสามารถสื่อความหมายได้เพียงว่า สินค้าดังกล่าวมาจากหรือเป็นของคนชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยรวมเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้เป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง อันจะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้านั้นได้
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 กระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวมีคำวินิจฉัยโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวและพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 นั้น ในปัญหานี้ปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการออกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) มิได้ตั้งข้อหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ว่ากระทำการโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อในการออกคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการส่วนตัว จึงไม่ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2534 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ลิขสิทธิ์ผู้อื่นเป็นเครื่องหมายการค้าขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม แม้ไม่มีข้อห้ามโดยตรง
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะดังนี้... (9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้จึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16 ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รูปภาพมีลิขสิทธิ์เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5063/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดและการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หนี้เงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 (เดิม) กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น และต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และ 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน มีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี
เมื่อในคดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งสองฉบับ พบว่าไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไว้ การที่คำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 224 กำหนดไว้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเฉพาะส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้บังคับได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่คำชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ)
of 4