คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขาดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 616 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7321/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สัตยาบันต่อกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และการนำเสนอพยานหลักฐานของจำเลยที่ขาดนัด
คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามทราบถึงการฟ้องแล้วไม่ได้คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณากลับยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์และให้จำเลยทั้งสามอ้างตนเข้าเบิกความ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยทั้งสามยอมปฏิบัติตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จสิ้น อันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบแล้ว จำเลยทั้งสามจึงยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้
เอกสารใบเสร็จรับเงินที่แนบท้ายอุทธรณ์และฎีกากับสำเนาฟ้องที่แนบมาท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา จำเลยทั้งสามมีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคสอง (เดิม) เท่านั้น หามีสิทธิส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานไม่
ฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมาเป็นฎีกาทั้งสิ้น โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร และศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกข้อต่อสู้ใหม่ในชั้นอุทธรณ์หลังขาดนัดยื่นคำให้การ: ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ในคดีแพ่งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งจะต้องให้การโดยแจ้งชัดด้วยว่าฟ้องเคลือบคลุมอย่างไร มิฉะนั้นจะไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึง ปัญหาข้อเท็จจริงเรื่องการมอบอำนาจให้บอกกล่าวขับไล่จำเลยก็เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นทั้งสองเรื่องดังกล่าวในศาลชั้นต้น การที่จำเลยยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดี: เหตุสมควรยกเว้นการพิจารณาใหม่, ความรับผิดชอบทนายความ, การแจ้งเหตุขัดข้อง
การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้นั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดินทางไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลได้นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ ซึ่งทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เอง ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีอื่นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีอื่นนัดพิจารณาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลในคดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันดังกล่าว โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตามแต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจ เนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้โดยสามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีก่อนจำหน่ายเนื่องจากขาดนัด และจำเลยยังผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์แล้วโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042-3043/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนด ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งขาดนัดและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ข้อเท็จจริงยุติว่าก่อนเวลานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รถยนต์ที่ทนายความจำเลยที่ 1 ขับมาศาลเครื่องยนต์ไม่ทำงานเนื่องจากสายพานระบบไฟฟ้าขาด ไม่สามารถเดินทางมาทันกำหนด ทนายจำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าหน้าที่ศาล โจทก์และทนายโจทก์ทราบแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนด เป็นการสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด อันมีผลให้ศาลแรงงานภาค 2 ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่มีคำสั่งนั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิเคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41
เมื่อเพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดแล้ว ข้อโต้แย้งตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 จึงหมดไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขาดนัดพิจารณาคดีล้มละลาย และการสืบพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
จำเลยทั้งสามรับทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยชอบแล้วไม่มาศาล ในวันนัดทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปพิจารณาวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น หากศาลเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวิธีพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 และข้อ 13 ประกอบกับการสืบพยานโจทก์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งสามมาศาลในวันนัด จำเลยทั้งสามยังสามารถยื่นคำให้การ ถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานเข้าสืบในวันนัดได้ การที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์สืบพยานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง
of 62