คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำหน่าย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมแปลงและจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า: ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย: ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษตามพฤติการณ์และพิจารณาโทษฐานขับขี่เสพยาเสพติดใหม่
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท ส่วนความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนศาลอุทธรณ์คงรอการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดและลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยให้จำคุกและไม่รอการลงโทษแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและการบังคับโทษตามคำพิพากษาโดยไม่ลงโทษจำคุกจำเลยและไม่รอการลงโทษในความผิดฐานนี้ คงให้ลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบซื้อขายยาเสพติดและพยายามครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกายืนแก้โทษจำเลย
การที่ จ. ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์ โดย จ. ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่จะติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันทางโทรศัพท์ ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบของกลางเช่นนี้ถือว่าเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่จุดนัดหมาย ถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับความผิดสำเร็จฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 และเงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมไว้สำหรับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำมาส่งมอบให้ เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ vs. จำหน่าย: ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานและข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย
เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ...
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป ...
และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด" ซึ่งหมายความว่ามิให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 - 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันจำหน่ายยาเสพติดและการครอบครองเพื่อจำหน่าย: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน
อ. และ พ. ร่วมกันซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยแล้วนำไปเสพและจำหน่ายให้แก่ลูกค้า เมื่อ อ. และ พ. ได้เงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากลูกค้าแล้วจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีน ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันอันเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และข้อเท็จจริงได้ความว่า ในที่สุดได้มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ อ. และ พ. รับไว้ในครอบครองแล้ว ถือว่าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้วอันเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคสอง อีกด้วยเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ อ. และ พ. สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยตกลงกันเพื่อจัดหาลูกค้า ลําเลียง เก็บรักษา ตกลงราคา ซื้อขาย ส่งมอบ และรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด มาส่งมอบให้ อ. นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตกลงว่าจะให้ อ. ชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยหลังจากนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว วันที่ 16 ธันวาคม 2558 เวลากลางวัน อ. และ พ. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อมาจากจำเลย 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อ. และ พ. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ดหรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 0.970 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.196 กรัม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาส่งมอบให้ไปจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 2,000 บาท นั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. และ พ. อันเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยกับ อ. และ พ. ด้วยกันเอง ไม่เกี่ยวกับสายลับ ทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏความเชื่อมโยงว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่ อ. และ พ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและได้มีการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7526/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อเสพ vs. จำหน่าย: ศาลฎีกาตัดสินจำกัดความผิดฐานจำหน่าย
การที่สายลับซึ่งเป็นคนรักเก่าของจำเลยชักชวนให้จำเลยมาร่วมเสพเมทแอมเฟตามีนที่ห้องพักที่เกิดเหตุ โดยได้มอบธนบัตรจำนวน 1,500 บาท ให้จำเลยเพื่อไปเอาเมทแอมเฟตามีนมาให้ เมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้สายลับ 10 เม็ด จากนั้นได้ร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีนไป 4 เม็ด พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยรับหน้าที่ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้สายลับและพวก และร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีนส่วนหนึ่งนั้น โดยจำเลยไม่ได้ประโยชน์อื่นตอบแทนในการนี้ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ คงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดที่โจทก์ฟ้อง ย่อมลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันพยายามครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การกระทำที่เป็นขบวนการและบทลงโทษ
การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยเป็นคนขับรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 และไปจอดรถยนต์เพื่อรอรับกัญชาของกลางจาก ว. เป็นจำนวนถึง 7.95 กิโลกรัม ในบริเวณที่จำเลยที่ 1 นัดหมายกับ ว. ทางโทรศัพท์ในระหว่างการเดินทาง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 โดยช่วยทำหน้าที่ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปรับกัญชาที่สั่งซื้อจาก ว. อันเป็นการกระทำที่เป็นขบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ถือเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกับจำเลยที่ 1 และ ว. เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบกัญชาจาก ว. ฝ่ายผู้ขาย จำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นตัวการร่วมกับ ว. ครอบครองกัญชาของกลาง เพราะจำเลยทั้งสองฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองกัญชาของกลางร่วมกับ ว. ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายกัญชาของกลางไม่สำเร็จ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยทั้งสองไปรอรับกัญชาของกลางจาก ว. ที่จุดนัดหมายถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ก็เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7107/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งแยกความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย/เสพ และการลงโทษฐานครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ไม่ได้ฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 193 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 191 เม็ด แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยโทรศัพท์แจ้งให้ ว. ไปรับเมทแอมเฟตามีน 191 เม็ดที่อื่น ซึ่งมิใช่ที่ห้องพักของจำเลย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยได้นำเมทแอมเฟตามีนจากห้องพักไปวางไว้ด้วยตนเองหรือใช้ให้บุคคลใดนำไปวาง ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 2 เม็ด ได้ความจาก พันตำรวจโท ก. ว่า พบอยู่บนที่นอนภายในห้องพักของจำเลย ประกอบกับจำเลยรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อน และจากการตรวจปัสสาวะของจำเลยพบสารเมทแอมเฟตามีน จึงเชื่อว่าเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด ที่ค้นพบภายหลังเป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพและเป็นคนละส่วนกับเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่าย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 191 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายกรรมหนึ่ง และฐานมีเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกรรมหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องข้อหาว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 193 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายยาเสพติดแยกต่างหากตามจำนวนที่ผู้ซื้อขอ ถือเป็นความผิดหลายกรรม
ข. ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ได้แจ้งแก่จำเลยแล้วว่า ตนเองขอซื้อ 13 เม็ด และ ป. ขอซื้อ 10 เม็ด โดย ข. มอบเงินค่าเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดให้จำเลย แต่ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กัน จำเลยเตรียมเมทแอมเฟตามีน แยกมาสำหรับ ข. 13 เม็ด และสำหรับ ป. 10 เม็ด แยกกันส่งมอบให้แต่ละคนตามจำนวนที่ขอซื้อ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้อย่างชัดเจนว่า ตั้งใจจะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ข. 13 เม็ด แยกต่างหากจากที่จำหน่ายให้ ป. 10 เม็ด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดสองกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4444/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายและครอบครองยาเสพติด: ศาลแก้โทษฐานครอบครองยาเสพติดแยกต่างหากจากฐานจำหน่าย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วจำเลยร่วมกับพวกที่หลบหนี ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ด 19,802 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 378,858 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 19,800 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 378,824 กรัม ให้แก่สายลับ จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 19,800 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 19,800 เม็ด ดังกล่าวให้แก่สายลับทั้งหมดในคราวเดียว เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวกัน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 2 เม็ด ที่ค้นพบในห้องพักของจำเลยในภายหลังเป็นเมทแอมเฟตามีนคนละส่วนที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยก็มิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 19,802 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนที่พบในภายหลัง 2 เม็ด จำเลยครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้
of 64