คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รับผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 687 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ชี้ขาดเรื่องการรับผิดในคดีรถชน, การขยายเวลาฟ้อง, และการเคลือบคลุมของฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เอกสารดังกล่าวสูญหายไปจากสำนวนความ เป็นเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 อยู่ในสำนวนความ จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้ จึงมีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุว่า การไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษ ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากผู้ใด และผู้เอาประกันภัยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เท่ากับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ผู้ตายมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เป็นเงินเดือนละเท่าใด แม้โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ของผู้ตาย ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสมควรได้ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 53 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 57 ปี ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุละเมิด: การพิสูจน์ความรับผิดและการรับช่วงสิทธิในคดีประกันภัยรถยนต์
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4759/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ตรวจสอบเช็คปลอม หากประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ ย่อมต้องรับผิดต่อความเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องระมัดระวังและต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย หากมีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินซึ่งเป็นข้อความสำคัญในเช็คโดยเห็นประจักษ์ ก็ชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงิน เพราะเหตุที่เป็นตั๋วเงินปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 โดยแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเช็คทราบทันที ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการจ่ายเงินตามเช็คไปย่อมเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทแล้ว อ. แก้ไขปลอมแปลงเช็คนั้นภายหลัง ไม่อาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ การใช้เงินไปตามเช็คของจำเลยที่ 1 จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด ต้องเป็นไปตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1009 บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4587/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรม แม้คำฟ้องมิได้ระบุชัดเจน ศาลใช้บทบัญญัติกฎหมายปรับใช้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ตาย ตามคำฟ้องจึงเป็นการขอให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายรับผิดในผลที่ผู้ตายกระทำละเมิดต่อโจทก์ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยแถลงติดใจต่อสู้คดีเพียงว่า ผู้ตายไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิดและจำเลยไม่ได้เป็นตัวการในการกระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ มีผลเท่ากับจำเลยยอมรับว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง แม้คำขอบังคับของโจทก์จะมิได้ระบุไว้ให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตาย แต่ศาลชั้นต้นย่อมยกบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวขึ้นปรับแก่คดีและพิพากษาให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434-3440/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเลยควบคุมความปลอดภัยท่าเทียบเรือทำให้เกิดเหตุจมน้ำ เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชดใช้
จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 (3) (6) (8) (9) และ (20) แม้จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนเช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบท่าเทียบเรือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย การปิดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการปิดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19431/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาซื้อขาย, การนำสืบหลักฐานนอกฟ้อง, และการร่วมรับผิดของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พยานหลักฐานใดที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นโดยฝ่าฝืนมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบตามมาตรา 27 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งได้อีก
ชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับ โจทก์เพิ่งนำสืบเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยว่า เอกสารทั้งสองฉบับต่างระบุเงื่อนไขการประมูลขายแผ่นฟิล์ม และโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1 ประกอบคำถามค้านของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่า เงื่อนไขการประมูลตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ส่งให้จำเลยที่ 1 ก่อนพิจารณาเสนอราคา จึงเป็นเอกสารที่สนับสนุนข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแผ่นฟิล์ม การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการนอกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาแต่เพียงว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับและคนละความหมายกันใช้แทนกันไม่ได้เป็นการนำสืบนอกฟ้อง ไม่มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนข้อที่อ้างว่าเอกสารหมาย จ.1 ยื่นฝ่าฝืนมาตรา 90 นั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของหน่วยงานต่อการซื้อวัสดุอุปกรณ์โดยเจ้าหน้าที่พัสดุ แม้จะมีการปฏิบัติผิดระเบียบ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 18, 19 และ 39 กำหนดให้การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีตกลงราคาซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงราคากับผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยตรงแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อและจัดจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนราชการ แต่หากกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นดำเนินการไปก่อนได้แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิมารับสินค้าที่ได้สั่งซื้อหลายครั้งไปจากโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่ในขอบเขตอำนาจที่กระทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนระเบียบขั้นตอนการจัดจ้างหรือสั่งซื้อที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 ละเลยไม่ปฏิบัตินั้นก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะทำการจัดซื้อสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบขั้นตอนและเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดระเบียบขั้นตอนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องได้รับความคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16477/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ประมูลซื้อที่ดินแล้วไม่ชำระราคาต้องรับผิดในส่วนต่างของราคาเมื่อมีการขายทอดตลาดซ้ำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516
จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ละเลยไม่ใช้ราคาส่วนที่เหลือ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซ้ำ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาด จำเลยต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทนั้น จำเลยมีเพียงตนเองเบิกความลอย ๆ และ ช. ก็มิได้เบิกความถึงข้อที่จำเลยอ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาต่ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15363/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองน้อยกว่าหนี้ประธาน: บังคับจำนองได้เฉพาะวงเงินจำนอง ส่วนที่เกินยังต้องรับผิด
กรณีหนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากร 593,750 บาท จากหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธาน 1,255,291.40 บาท โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท เงินยังขาดจากจำนวน 593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้น จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15124/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าพื้นที่: โฆษณาเป็นสาระสำคัญของสัญญา หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ผู้ให้เช่าต้องรับผิด
ข้อความที่ระบุในแผ่นพับโฆษณาให้เช่าพื้นที่อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นต้นว่า มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารและร้านค้า ชั้น 3 เป็นพื้นที่สถาบันสอนภาษาและกวดวิชา ศูนย์อาหาร และสำหรับสถานที่จอดรถมีพื้นที่รองรับได้ร่วม 100 คัน ล้วนเป็นการชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจสนใจโดยเชื่อมั่นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ระบุไว้ การเข้าประกอบธุรกิจในสถานที่นี้ย่อมจะบังเกิดผลดีแก่ตน และจำเลยที่ 1 ยังออกบู๊ธประชาสัมพันธ์โครงการ ติดแผ่นป้ายโฆษณา และพนักงานของจำเลยที่ 1 อธิบายต่อผู้สนใจซึ่งรวมทั้งโจทก์ว่า ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านค้าที่มีชื่อเสียง รวมตลอดทั้งจำเลยที่ 1 จะทำแผนการตลาดให้ทีมบริหารที่มีความสามารถทำการชักจูงลูกค้าให้เข้าใช้บริการประกอบธุรกิจภายในอาคาร แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนี้ สัญญาให้ได้รับสิทธิการเช่าบู๊ธและสัญญาเช่าพื้นที่ในอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้ต่อกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแม้แผ่นพับโฆษณามิได้แนบรวมอยู่ในสัญญาด้วยก็ตาม ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่โฆษณาไว้เป็นสาระสำคัญที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาชักจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือมิได้ว่าโจทก์ได้รับมอบพื้นที่ให้เช่าตรงตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินเพื่อให้ได้รับสิทธิในการเช่าแก่โจทก์ รวมทั้งค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ที่โจทก์เสียไปในการเข้าดำเนินการตามสิทธิแห่งสัญญา
of 69