คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันภัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 702 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5945/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย: การประเมินความรับผิดจากประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 ให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปคืนจากผู้ขับขี่รถหรือผู้ประสบภัยได้ก็แต่กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้นั้น เมื่อ น. มิได้ขับรถโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ผู้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดและการประกันภัย: สัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับประกันภัยไม่กระทบความรับผิดของผู้ทำละเมิด
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายทำละเมิดโดยขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จนเต็มจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับไว้หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์เกิดเหตุไว้กับบริษัท ส. ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัท ส. ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนจำเลยที่ 2 ภายในวงเงินประกันภัย ซึ่งโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการกรมการประกันภัย ก็เพื่อให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยและที่โจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนดังกล่าวก็เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวงเงินที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัย ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด แม้ในบันทึกข้อความเรื่องจ่ายค่าสินไหมทดแทน มีข้อความเพิ่มเติมว่า "เมื่อผู้เสนอข้อพิพาทได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วจะไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ จากบริษัทหรือผู้อื่นใดอีกต่อไป" คำว่า "ผู้อื่น" ในที่นี้ก็ไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจตีความว่าหมายถึงจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงประนีประนอมยอมความได้ ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้มูลละเมิดตามฟ้องระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดไร้อุปการะจากการเสียชีวิต: ความคุ้มครองประกันภัยแยกจากค่าเสียหายอื่น
ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิด กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วยการที่จำเลยจ่ายเงินไปเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายเงินค่าซ่อมรถก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้น ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยค้ำจุน, ค่าเสียหายจากการทำละเมิด, สิทธิเรียกร้อง, สัญญาประนีประนอมยอมความ, การชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท. ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้น หากยังมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าซ่อมรถยนต์: การจ้างซ่อมเพื่อกิจการประกันภัย เข้าข้อยกเว้นอายุความ 2 ปี ใช้ 5 ปี
โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยซึ่งเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์เรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัย: โจทก์ได้รับชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยอีก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายต้องนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่บริษัท ท. และชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าว ขณะยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าวและยังมิได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าวันที่ 11 เมษายน 2545 บริษัท พ. ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้แก่บริษัท ท. จำนวน 654,568.68 บาท ถือว่าโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินค่าซ่อมเต็มจำนวนตามที่เสียหายแล้วจากบริษัท พ. ย่อมทำให้บริษัท พ. เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง การที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าซ่อมแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องอีกจะมีผลทำให้โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับจริง จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ส่วนการที่บริษัท พ. ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจะใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจะใช้สิทธิเรียกร้องต่อไป หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10553/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการขนส่ง-ช่วงสิทธิประกันภัย: จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายตามสภาพรถยนต์จริง
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วง และฟ้องเดิมของโจทก์ระบุว่าฟ้อง นางสาวดารุณีเป็นจำเลยที่ 1 โดยให้รับผิดในมูลละเมิด ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ซึ่งภูมิลำเนาตามที่ขอแก้ไขตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าย้ายมาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ทำละเมิดในคดีนี้ ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล และภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่แก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกันแต่อย่างใด อีกทั้งการที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก "นางสาวดรุณี" เป็น "นางสาวดารุณี" พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก "สังข์แก้ว" เป็น "สังข์ทอง" ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาประกันภัยตามเจตนาคู่สัญญา แม้กำหนดระยะเวลาในสัญญาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สิทธิช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัย
บริษัท ม. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท อ. แล้วบริษัท ม. ให้ พ. เช่าซื้อช่วง โดย พ. นำรถไปประกันภัยไว้กับโจทก์ มีบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยย่อมเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ถือว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหายไปในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมของจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคือสัญญาประกันชีวิต ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิไล่เบี้ย
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยและการส่งมอบสินค้า: ความคุ้มครองยังคงมีผลตลอดระยะเวลาขนส่ง แม้กรรมสิทธิ์จะโอนไปแล้ว
สิทธิตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดต้องใช้ลักษณะนั้นบังคับ จะยกเอาบทบัญญัติในเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ขายอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยไม่ได้ ในเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันภัยอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยจะมีเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 (ผู้ขาย) และจำเลย (ผู้รับประกันภัย) ได้ตกลงประกันภัยทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งสินค้าจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบเอฟ. โอ. บี. แต่การคุ้มครองจะมีตลอดเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา
of 71