คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประเด็นฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 62 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกฟ้องประเด็นเจตนาบริจาคที่ดินนอกประเด็นฟ้อง ชี้เป็นเรื่องนอกฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งมีเพียงว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสามครอบครองเป็นของโจทก์หรือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสามเท่านั้น ซึ่งหากศาลฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ชอบที่จะพิพากษาขับไล่จำเลยและยกฟ้องแย้ง หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสามก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์และบังคับให้ไปตามคำขอท้ายฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วยังวินิจฉัยต่อไปว่าการที่ ถ. ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็โดยมีเจตนาให้บุตรทุกคนที่ยังไม่มีครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน บุตรซึ่งมีครอบครัวและหากมีเงินให้แยกไปปลูกบ้านอยู่ต่างหากนอกที่ดินพิพาท โดยจำต้องผูกพันตามเจตนาของ ถ. เมื่อจำเลขที่ 1 ยังไม่มีครอบครัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีเงิน โจทก์จึงจำต้องให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นพิพาท ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องวินิจฉัยคดีตามพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นฟ้อง หากไม่เป็นไปตามนั้น ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและอาจเพิกถอนได้
คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลไม่ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 131 และ มาตรา 133 บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่สิ้นการพิจารณา โดยมาตรา 104 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ ทั้งมาตรา 87 (1) ยังบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสืบ อันเป็นความหมายว่า การวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องประเด็นแห่งคดี ศาลต้องอาศัยพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีในคดีนั้น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ศาลต้องปฏิบัติ และต้องนำมาใช้กับคดีผู้บริโภคด้วย ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและจำนองกับมีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และบังคับเกี่ยวกับทรัพย์จำนองโดยนำสืบพยานหลักฐานตามประเด็นในคำฟ้องและอ้างส่งเอกสารเป็นพยาน แต่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกลับปรากฏตามคำพิพากษาว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ศาลพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์ประกอบพยานเอกสารแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อกับโจทก์และผิดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าข้อที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไม่ได้เป็นไปตามประเด็นในคำฟ้องและโดยอาศัยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในคดีนี้ แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาด ตามพยานหลักฐานซึ่งไม่ใช่พยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้เลย การพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ทั้งยังเป็นข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาพยานหลักฐาน อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและมีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และเป็นผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกเพิกถอนไปในตัว
ความผิดระเบียบของกระบวนพิจารณาเพิ่งปรากฏหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง
of 7