คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คืนเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 304 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโอนสิทธิทำไม้สมบูรณ์ แม้สัมปทานสิ้นสุดก่อนเงื่อนเวลา ชำระเงินแล้วต้องคืน
การชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ ทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ของจำเลยที่จะต้องให้นาย ป.ได้รับสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาที่ทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนาย ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคหนึ่ง แม้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยนาย ป. จะทวงถามให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ให้นาย ป. ได้หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535ก็ตาม แต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นอันพ้นวิสัย โดยจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ จำเลยก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ต่อไป เมื่อนาย ป. ชำระเงิน 8,000,000 บาท อันเป็นการชำระหนี้ของนาย ป. ตามสัญญาให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว นาย ป.จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อนาย ป.ตาย สิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนาย ป. จึงเป็นมรดกของนาย ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จะเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 63 ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้มีการโอนสัมปทานทำไม้ แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้ผู้รับสัมปทานโอนสิทธิตามสัมปทานให้แก่ผู้อื่น ทั้งไม่มีบทบัญญัติอื่นในพระราชบัญญัติป่าไม้ฯบัญญัติห้ามเด็ดขาดเช่นนั้นด้วย สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ อันจะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113เดิม (มาตรา 150 ใหม่) นาย ป. ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายและเป็นการชำระหนี้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับจึงไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 ดังกล่าวที่จะต้องฟ้องเรียกร้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5832/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อสิทธิเช่าซื้อผิดสัญญา การเลิกสัญญา และการคืนเงิน/ชดใช้ค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์
โจทก์ทำสัญญาซื้อสิทธิเช่าซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยและชำระเงินแก่จำเลยครั้งแรก 50,000 บาท แล้วโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ต่อมาจำเลยกับพวกมาที่ บ้านพิพาท จำเลยพูดขับไล่ ส. บุตรโจทก์ออกจากบ้านพิพาทถ้าไม่ออกจะเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ ส. และ น.กลัวจึงขนของออกแล้วจำเลยปิดประตูใส่กุญแจบ้านพิพาทเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาและเป็นการแสดงเจตนา เลิกสัญญา ดังนี้เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย สัญญาซื้อสิทธิเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 กล่าวคือ จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 50,000 บาท กับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อแทนจำเลย 18 เดือน เป็นเงิน 65,070 บาทรวมเป็นเงิน 115,070 บาท แต่จำเลยได้มอบบ้านพิพาทให้โจทก์ครอบครองซึ่งเป็นการชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ เมื่อบุตรโจทก์พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท เป็นเวลา 49 เดือนเศษ โจทก์จึงต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการใช้บ้านพิพาท ปรากฏว่าการเคหะแห่งชาติคิดค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่ออกจากบ้านพิพาทเดือนละ2,000 บาท ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นอัตราที่สมควร จึงกำหนดค่าที่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากการอยู่บ้านพิพาทคิดเป็นเงิน98,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม เมื่อหักกลบลบกันแล้วจำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ 17,070 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เลิกสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความ 'มัดจำ' ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ และการคืนเงินค่าที่ดินล่วงหน้าเมื่อสัญญาเป็นโมฆะ
ถ้อยคำที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา377บัญญัติว่า"เมื่อเข้าทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ"แสดงว่ามัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททำขึ้นเมื่อวันที่6มีนาคม2532ระบุข้อความว่า"ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน200,000บาทและในวันที่20มีนาคม2532อีกจำนวน3,300,000บาท"เงินสดจำนวน200,000บาทเท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำส่วนเงินจำนวน3,300,000บาทนั้นไม่ใช่เงินมัดจำแต่เป็นเพียงการชำระราคาบางส่วนล่วงหน้าซึ่งจะชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดินมีเงื่อนไขถูกบอกเลิกได้เมื่อเกิดข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถโอนได้ ผู้ขายต้องคืนเงิน
ในกรณีที่ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ฟังมา แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมายังไม่ชัดเจนพอ ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวนได้
ขณะโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินที่จำเลยมีสิทธิเข้าทำกินในนิคมทุ่งสาน โจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันด้วยว่า หากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ต่อไปการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลย จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายกันเท่านั้นไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ทั้งข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันก็เพิ่งจะประทับตราด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี 2529หลังจากโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วเกือบ 1 ปี จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ขณะโจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลย โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินนั้นมีข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามหรือฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับชำระจากโจทก์จำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินในป่าสงวน การซื้อขายสิทธิครอบครอง และการคืนเงินเมื่อไม่สามารถส่งมอบได้
แม้ พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา14จะห้ามมิให้บุคคลใด ยึดถือครอบครองที่ดินในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎรแต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่นและย่อมมีสิทธิขายการ ครอบครองให้แก่บุคคลอื่นได้ไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวอยู่จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำการครอบครองที่ดินไปขายให้โจทก์เมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินไม่ได้จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขาย, การบอกเลิกสัญญา, ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา, การชำระหนี้บางส่วน, การคืนเงิน
จำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านแก่โจทก์ในราคา 2,000,000 บาทแม้ไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐาน แต่โจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงิน 900,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านที่บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านแก่โจทก์ และโจทก์ชำระหนี้บางส่วนแล้ว โดยไม่ได้กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านไว้แน่นอน การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งกำหนดวันเวลาให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้ และให้รับเงินค่าที่ดินและบ้านส่วนที่เหลือ ณ สำนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ไปตามนัดขอบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ไปตามนัดส่วนโจทก์ได้ไปตามนัด และได้เขียนเช็คเพื่อชำระราคาที่ดินที่เหลือไปพร้อมแล้ว เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยผิดนัดผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเลิกกัน คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินและบ้านที่รับไว้พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับไว้จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำที่ดินและบ้านไปขายต่อได้กำไรหากจำเลยไม่ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะที่ดินและบ้านนั้นราคาสูงขึ้น เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยจากการคืนเงินค่าสัญญาหลังบอกเลิกสัญญา คิดจากวันที่ได้รับเงิน ไม่ใช่จากวันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเพราะเหตุจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์และจำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่โจทก์โดยบวกดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391เข้าด้วยไม่ใช่คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดี และการคืนเงินที่รับชำระเกินจำนวนที่ชนะคดี
การถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(3) มีสองกรณี กรณีแรกคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด กรณีที่สองหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสียเมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งกรณีที่สองนี้แปลความได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีก็คือศาลที่ออกหมายบังคับคดีอันได้แก่ศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาจนกระทั่งจำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ไปบางส่วน แต่ในเมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินที่รับชำระไปบางส่วนดังกล่าวนั้นมาคืนให้แก่จำเลยแสดงว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้วจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ในศาลฎีกา ปรากฏว่าคดีประธานของคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชนะคดีบางส่วนซึ่งยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน หากจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับไปเกินกว่าที่โจทก์ชนะคดี โจทก์ก็ต้องคืนเงินส่วนที่เกินไปจากที่โจทก์ชนะคดีนั้นให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญามัดจำเลิกโดยปริยายจากเจตนาไม่นำพาของคู่สัญญา การคืนเงินมัดจำ
โจทก์ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยที่ 2สัญญาระบุว่า คู่สัญญาจะทำหนังสือสัญญาซื้อขายต่อกัน แต่มิได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อใด คู่สัญญาจึงต้องมาตกลงกันอีกครั้งในเวลาอันสมควรว่าจะทำการซื้อขายกันเมื่อใดให้แน่ชัดลงไป แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกำหนดเวลาทำการซื้อขายกัน กลับทิ้งช่วงเวลานานถึง 5 ปีเศษ แสดงให้เห็นว่าต่างไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาในเวลาอันสมควรฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ และเป็นที่เห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากรขาเข้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิในการฟ้องขอคืนเงิน พร้อมดอกเบี้ย
พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงจึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางประกันเงินค่าอากรอีกส่วนหนึ่งได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระเงินค่าอากรเพิ่มเป็นเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แม้โจทก์มิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนและมิได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องก่อนนั้น ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่าที่โจทก์ชำระไปให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา วรรคท้าย ซึ่งคดีนี้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานของจำเลยเรียกไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การประเมินภาษีอากรขาเข้าจะชอบหรือไม่ต้องพิจารณาว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของราคาสินค้าเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าพิพาทเท่าที่โจทก์ซื้ออันอนุมานได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ที่จำเลยอ้างว่าต่ำกว่าราคาประเมินที่จำเลยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินภาษีอากรขาเข้าตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 ข้อ 1.8 ที่ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 6 เดือนนั้น จำเลยไม่ได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นจำนวนเท่าใด หลักฐานที่ว่ามีผู้นำเข้ารายอื่นในช่วง 6 เดือนดังกล่าวไม่มีในเอกสารที่ส่งจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจะเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับสินค้าพิพาทหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าราคาที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินราคาสินค้าพิพาทและประเมินภาษีอากรขาเข้าของจำเลยจึงไม่ชอบ
of 31