พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อผิดนัดชำระ การบังคับคดีต้องเป็นไปตามส่วนที่ผิดสัญญา การตีความสัญญาต้องเป็นคุณแก่ลูกหนี้
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาสละสิทธิบังคับคดีร่วมกันของผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ชั้นต้นมีผลผูกพันรวมกัน ย่อมระงับหนี้ทั้งหมด
หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับโครงสร้างหนี้, รับสภาพหนี้, และสิทธิของเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้จากผู้จำนองและลูกหนี้
ในการทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง อ. และโจทก์ที่ 2 กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย นั้น มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ในข้อ 2 ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของ อ. และโจทก์ที่ 2 และให้ถือว่าเป็นเพียงข้อตกลงรับสภาพหนี้ และ/หรือผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ ไม่ใช่การระงับหนี้เดิม มูลหนี้เดิมรวมทั้งหลักประกันยังคงมีอยู่โดยไม่ถูกกระทบกระเทือน และใน ข้อ 1 ให้คำนิยามศัพท์ "มูลหนี้เดิม" หมายถึง "สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ที่สถาบันผู้โอนมีอยู่ต่อลูกหนี้...และ บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว...ตามสัญญาโอนสินทรัพย์..." ซึ่งมูลหนี้เดิมดังกล่าว อ. และโจทก์ที่ 2 ยอมรับสภาพหนี้ไว้ในข้อ 3 ว่า ในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ช. ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นหนี้ตามมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท และสัญญา ข้อ 4 ระบุการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้เพียง 15,200,000 บาท บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ อ. และโจทก์ที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทำไว้ดังกล่าว จึงเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้อันเป็นการรับสภาพในมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท แต่ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองทั้งสองชำระหนี้บางส่วนเพียง 15,200,000 บาท มิใช่เป็นการปลดหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทุกคน ดังนั้น เมื่อ อ. กับโจทก์ที่ 2 ชำระเงินไปเพียง 200,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดชำระอีก 15,000,000 บาท โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองตามส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ของตนไปชำระให้แก่จำเลยให้ครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ส่วนที่บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ข้อ 21 ที่ระบุว่า เมื่อ อ. และโจทก์ที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่า อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมนั้น ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมด้วย บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์จะเรียกให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ ยังคงต้องรับผิดอยู่ตามจำนวนมูลหนี้เดิม ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนกรรมสิทธิ์ของ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ แล้ว 11,277,358.84 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามมูลหนี้เดิมแต่อย่างใดเพราะหนี้ยังไม่ได้ชำระโดยสิ้นเชิง ดังนี้ โจทก์ทั้งสองจึงคงต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองขอชำระหนี้เพียง 3,722,641.16 บาท จำเลยย่อมมีสิทธิไม่รับชำระหนี้ดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำคัดค้านและขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่เป็นการผิดบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของโจทก์หลังจำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และอายุความของคดี
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 จะบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียนและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งต่อเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย แต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องคดีได้ การที่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนอันเป็นผลให้ถือว่าจำเลยที่ 1 คงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่ผลของกฎหมายที่กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังจากศาลมีคำสั่งเท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบแต่อย่างใด และเมื่อจำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ย่อมเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่า ฟ้องของตนไม่ขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการ จะไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์คงมีคำพยานของพนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความ โดยไม่ปรากฏว่าพยานรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในการรับชำระหนี้แต่อย่างใด แม้โจทก์จะอ้างอิงรายการคำนวณภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างรับเป็นพยานประกอบคำเบิกความ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารยืนยันได้ว่า รายการนำเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งห้า ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินเข้าฝากมาแสดงและมิได้ติดตามพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอกสารหรือการรับชำระหนี้มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกับให้โอกาสจำเลยทั้งห้าซึ่งปฏิเสธเรื่องการชำระหนี้ได้ซักค้านหาความจริงตามกระบวนความ ลำพังคำพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ที่นำสืบมาจึงนับว่ายังมีข้อควรตำหนิและไม่พึงเชื่อถือรับฟังเป็นแน่นอนตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้คนใดได้ชำระหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยของงวดถัดจากวันทำสัญญา คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 สิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับจำนองต้องแจ้งลูกหนี้ก่อน และศาลไม่อาจบังคับให้ผู้รับโอนไถ่ถอนจำนอง
โจทก์มิได้ฟ้องบริษัท อ. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินเป็นจำเลย และแม้โจทก์จะฟ้อง ช. เป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ฟ้องในฐานะที่ ช. เป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองอีกคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ฟ้อง ช. เป็นจำเลยในฐานะผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 เมื่อผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 ผู้รับจำนองต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนด้วยตามเงื่อนไขใน ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท อ. ลูกหนี้ก่อนด้วยว่าให้ชำระหนี้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิของเจ้าหนี้ในการโต้แย้ง
การที่ผู้คัดค้านทำรายงานความเห็นและมีหมายแจ้งให้โจทก์คืนเงิน 2,500,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลายเป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ซึ่งตามรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้โจทก์ทราบ แม้ในตอนท้ายจะมีข้อความขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหมายนี้ ก็มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม รายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงหามีสภาพบังคับแก่โจทก์ไม่ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าผู้คัดค้านดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ลำพังรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 146 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนรายงานความเห็นของผู้คัดค้านที่ให้เรียกเงิน 2,500,000 บาท คืนจากโจทก์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดี: เจ้าหนี้ขอไต่สวนทรัพย์สินลูกหนี้ก่อนยื่นคำขอบังคับคดีไม่ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้มีการบังคับคดี หากลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา ด้วยการยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวต่อศาลตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในการบังคับคดีดังกล่าว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีมากกว่าที่ตนทราบ หรือมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีแต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนมีการขอให้บังคับคดีได้ เมื่อคดีนี้ โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีจึงไม่อาจยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยได้ ทั้งยังเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบหาทรัพย์สินของจำเลย เพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไปด้วยตนเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: การชำระหนี้แทนลูกหนี้ไม่ถือเป็นการรวบรวมทรัพย์สิน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (4) บัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องคิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 109 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย คดีนี้ ก่อนผู้ร้องเสนอเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2214 และ 3656 รวม 2 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 138,614,320.12 บาท จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละสามจากยอดหนี้จำนวน 138,614,320.12 บาท ที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ แม้มีหนังสือบอกกล่าวเกินกำหนด
แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดจนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมดังกล่าว