คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฉ้อโกง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 938 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงทางคอมพิวเตอร์และการกระทำเป็นกรรมเดียว
คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำผิดของจำเลยกับพวกมาเป็นข้อ ๆ โดยมีคำขอท้ายฟ้องตาม ป.อ. มาตรา 91 และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีจากข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วปรากฏว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาประการเดียวคือมุ่งประสงค์ที่จะหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 โอนเงินชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อนั้นเอง ความผิดฐานร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ฐานร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นฐานร่วมกันปลอมเอกสารและฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 หาใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ตามที่โจทก์อ้างในฎีกา
ส่วนปัญหาที่ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยมิชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งและมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฉ้อโกงประชาชนและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การพิสูจน์การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และการลดโทษรอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผ่านทางโปรแกรมเฟซบุ๊กตามฟ้อง เสนอขายสินค้าซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาขายสินค้าดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาด้วยว่าเป็นการหลอกลวงเสนอขายสินค้าต่อประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 และไม่ได้บรรยายว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่บรรยายว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อันจะถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน โจทก์จึงบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 และปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้มา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นการกระทำต่อบุคคลใดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้
การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันและเวลาเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจจะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงโดยการส่งข้อความเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้เสียหายผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องรวม 2 ครั้ง และผู้เสียหายซื้อสินค้าต่างชนิดกัน 2 ครั้ง เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายในการซื้อสินค้าต่างชนิดกันรวม 2 ครั้ง จึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รวมถึงฉ้อโกงโดยการแสดงเอกสารเท็จ
หนังสือรับรองสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิขององค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินและมีผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน อันเป็นกิจการที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นกิจการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกง-ปลอมแปลงเอกสาร: การกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว, เอกสารราชการ/เอกสารทั่วไป
แบบส่งเงินอายัด เป็นเอกสารที่ธนาคารจัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น
ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ล้วนเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่, ฟอกเงิน, และฉ้อโกงประชาชน: การปรับบทและลงโทษที่ถูกต้อง
แม้บัญชีธนาคาร ก. สาขาซีคอนสแควร์ เลขที่บัญชี 659-1-32XXX-X ของจำเลยที่ 4 ที่มีการรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีนี้ เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 7 ในคดีดังกล่าว เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและความผิดฐานฟอกเงินเช่นเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคนละคนกัน และการรับโอนเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคดีมาเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวต่างวันต่างเวลากัน แม้การกระทำความผิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สามารถแยกเจตนาในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ศาลจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นความผิดคนละกรรมกันกับคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรี ท. และเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฉ้อโกงและการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง: ค่าขึ้นศาลในคดีอาญาและอำนาจศาล
คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ในส่วนของจำเลยไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องเสีย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารเพื่อฉ้อโกงประกันสังคม: การพิจารณาความผิดหลายกรรม, เจตนา, และโทษ
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยมีรายละเอียดว่า โจทก์ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยมาโดยตลอด ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย ซึ่งการวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องย้อนไปวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ เพิ่งยกข้อเท็จจริงนั้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ อันไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบแล้ว
การกระทำความผิดในแต่ละวันเกิดเหตุจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่จำเลยมีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้ประกันตนที่ถูกปลอมเอกสารแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า วันเกิดเหตุแต่ละวันจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอมเพื่อจะนำไปใช้ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์และคลินิกมีรายได้จากการบริการทางการแพทย์จากบุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยแต่ละวันเกิดเหตุจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โฆษณาเกินจริง-ความรับผิดทางละเมิด: การร่วมกันฉ้อโกงผู้บริโภคและความรับผิดของแพทย์
จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการตัดสินใจรับผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการตรวจร่างกายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 และหากมีผู้เข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 จำนวนมากก็จะทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์จากค่าผ่าตัดเป็นจำนวนมากไปด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินโครงการร่วมกัน และจำเลยที่ 1 ในฐานะร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 ในการผ่าตัดศัลยกรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการด้วยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ก่อขึ้น ในส่วนของความรับผิดในการโฆษณาด้วยข้อความที่เกินความจริง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องอาจเป็นได้ทั้งละเมิดและสัญญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ กรณีต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำโฆษณาและคำรับรองของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เมื่อการโฆษณาและรับรองไม่ตรงกับความจริง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าผ่าตัดไร้รอยแผลเข้าลักษณะข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงอันเป็นกรณีจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 ถือได้ว่าดำเนินการโครงการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการด้วยข้อความเกินความจริง แต่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 ยังรับทำศัลยกรรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาตลอด ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเกินจริง จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย
of 94