คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีทุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของอัยการสูงสุด, การแก้ไขคำฟ้อง, และการริบทรัพย์สินในคดีทุจริต - หลักเกณฑ์และขอบเขต
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/6 ถึงมาตรา 123/8 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะริบทรัพย์สินได้โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอเช่นเดียวกับที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 บัญญัติเป็นมาตรการไว้ในมาตรา 31 และ 32 เมื่อการริบทรัพย์สินเป็นโทษตาม ป.อ. ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด หากโจทก์ประสงค์จะให้ศาลริบทรัพย์สินใดของจำเลยทั้งสองก็ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง และมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบด้วย ถึงแม้โจทก์จะนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลรับฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 33 (2) ก็ตาม แต่การนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินของจำเลยทั้งสองว่ายึดหรืออายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และไม่ต้องมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบเงินใด ๆ ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีการยึดหรืออายัดเงินใด ๆ ที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิด และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้มีคำขอให้ศาลสั่งริบเงินของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจริบเงินของจำเลยทั้งสองในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ได้ อีกทั้งไม่อาจนำมาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเงิน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ริบเป็นเงิน 62,724,776 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริต: โจทก์ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 เป็นกรณีที่ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ แม้โจทก์ให้เงินอุดหนุนแก่ที่ทำการปกครองอำเภอบ้านโฮ่งเพื่อการดำเนินงาน "ศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างและการประสานงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอ" ดังกล่าวก็ตาม ถือเป็นเงินงบประมาณของทางราชการ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ตั้งฎีกาเบิกเงินนำส่งให้แก่อำเภอบ้านโฮ่งแล้ว จึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของนายอำเภอบ้านโฮ่ง หากโจทก์เห็นว่า จำเลยทำให้โจทก์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในอำเภอบ้านโฮ่งเสียหาย ก็ชอบที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีทุจริต: วันที่คดีถึงที่สุดในหมายจำคุกต้องเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 42 ปกติคดีจะถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งคู่ความยื่นคำร้องขอฎีกาพร้อมคำฟ้องฎีกาและศาลฎีการับไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติชอบก็ยังไม่ถึงที่สุด แต่หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งไม่รับฎีกานั้น ตามมาตรา 46 วรรคสาม เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกา แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอฎีกาและคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย คดีนี้จึงต้องถึงที่สุดตามมาตรา 42 โดยถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ หลังเปิดทำการ: คดีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 อันเป็นวันภายหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ของโจทก์เสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: ศาลอาญา รับฟ้องคดีทุจริต หลังศาลอาญาคดีทุจริตเปิดทำการแล้ว เป็นการไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ภายหลังเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นอื่นจะรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาและพิพากษามิได้ การที่ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว และกรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมอันศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องของการโอนคดีไว้ ทั้งการที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10, 11, 13 มาปรับใช้แก่คดีได้ เนื่องจากตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารหรือศาลอื่น เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้