พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลแรงงานต้องพิจารณาฐานะนายจ้างและเหตุผลการเลิกจ้างควบคู่กัน เพื่อให้เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 48 บัญญัติว่า "การพิจารณาคดีแรงงานให้ศาลแรงงานคำนึงถึงสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพ ความเดือดร้อนของลูกจ้าง... รวมทั้งฐานะแห่งกิจการของนายจ้าง... ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายด้วย" การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่าการเลิกจ้างโจทก์ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยลอยๆ โดยไม่มีเหตุผลประกอบ ทั้งๆ ที่จำเลยให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และข้อที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์มาตั้งแต่ปี 2540 และมีค่าจ้างสูงถึงเดือนละ 30,000 บาท หากไม่มีประสิทธิภาพตั้งแต่แรกจำเลยน่าจะเลิกจ้างเสียตั้งแต่แรก แต่กลับจ้างมานานหลายปีนั้น เหตุผลดังกล่าวไม่เพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หรือไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานอันจะเป็นการหักล้างเหตุผลหรือข้ออ้างของจำเลย แสดงว่าศาลแรงงานกลางมิได้นำฐานะแห่งกิจการของจำเลยมาประกอบการพิจารณาด้วย จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ต้องพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อฐานะนายจ้าง
แม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุผลจำเป็นนอกเหนือไปจาก 5 ประการ ดังกล่าวแล้วจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและอยู่ระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความจำเป็น ของนายจ้างประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้เสียเลย ดังนี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องประสบกับการขาดทุน มีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจนต้องยุบหน่วยงานหรือ เลิกกิจการแล้วจะให้นายจ้างจ้างลูกจ้างอยู่ตลอดไปจนนายจ้าง ประสบความหายนะ หรือล้มละลายย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเป็นกรณี ที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควรและมิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง อันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว แล้วนายจ้างย่อมกระทำได้ คดีนี้ถึงหากโจทก์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจถดถอยทำให้โจทก์ มีผลกำไรจากการประกอบการลดลงและมีกำลังคนล้นงาน โจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายป้องกันมิให้นายจ้างต้องขาดทุนในภายหน้าก็ตาม แต่การดำเนินการของโจทก์ยังมีกำไรอยู่ หาได้ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการอันใดต่อไปได้ถึงกับต้องยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไปไม่ เมื่อเป็นเพียงการคาดหมายของโจทก์เพื่อป้องกันการขาดทุนในภายหน้าเท่านั้น การดำเนินกิจการของโจทก์ต่อไปอาจไม่ประสบภาวะการขาดทุนก็เป็นได้ การที่โจทก์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเลิกจ้างลูกจ้าง บางคนในหน่วยงานหรือยุบหน่วยงานบางหน่วยบ้างที่ไม่จำเป็นเพื่อ ลดค่าใช้จ่าย โดยถือหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการเลิกจ้าง นำมาใช้กับ ส. ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโจทก์และอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยไม่เลือกใช้วิธีการอย่างอื่นนั้น ยังไม่เป็นเหตุผลอันเพียงพอและสมควรจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้รับเหมาชั้นต้นต่อลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง: การฟ้องไม่ชัดเจนและฐานะนายจ้าง
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้างแต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้าง ก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมาย ดังกล่าวให้แจ้งชัด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ และศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้อง มายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2529
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง: ค่าจ้างจากบริษัทอื่นมิใช่จากจำเลย ทำให้จำเลยไม่มีฐานะนายจ้าง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหัวหน้าวงดนตรีมีโจทก์เป็นลูกวงเดิมบริษัทน.ร่วมกับจำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเล่นดนตรีโดยจำเลยรับเงินมาจากบริษัทน.แล้วนำมาจ่ายให้โจทก์ต่อมาบริษัทน.่และจำเลยได้สั่งให้โจทก์ไปเล่นดนตรีที่บริษัทซ.จำกัดโดยโอนให้โจทก์ไปรับเงินเดือนจากบริษัทซ.จำกัดมีจำเลยเป็นผู้รับแทนแล้วนำมาจ่ายให้โจทก์ดังนี้ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่าค่าจ้างที่โจทก์ได้รับนั้นเป็นเงินของบริษัทซ.จำกัดไม่ใช่ของจำเลยจำเลยเพียงเป็นตัวแทนของโจทก์ไปรับค่าจ้างจากบริษัทซ.จำกัดมาจ่ายแก่โจทก์เท่านั้นจำเลยจึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5037/2528
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นกับการรับผิดในค่าจ้าง: ต้องมีฐานะนายจ้างตามกฎหมาย จึงจะรับผิดได้
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 เป็นบทบังคับให้ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้มิได้หมายความว่าผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยและจำเลยให้การว่ามิได้เป็นนายจ้าง ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ หากโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 7 ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงฐานะของจำเลยให้แจ้งชัด ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนั้น เป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องและคำให้การ