คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประโยชน์ขัดแย้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการ-นิติบุคคล: กรณีประโยชน์ขัดแย้ง ศาลสั่งตั้งผู้แทนเฉพาะการ
คำว่า ผู้จัดการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 หมายถึงผู้จัดการที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อโจทก์เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีอำนาจดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งที่ระบุไว้และประทับตราสำคัญ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1
การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่โจทก์เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับของจำเลยที่ 1 เป็นปฏิปักษ์แก่กัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ประโยชน์ทางได้ทางเสียของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 ศาลจึงตั้งจำเลยที่ 2 ขึ้นเป็นผู้แทนเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีกับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2509

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาที่แท้จริง vs. เจตนาที่แสดงออก, ความรู้ของตัวแทนที่มีประโยชน์ขัดแย้ง, สัญญาค้ำประกัน
จำเลยทำสัญญาเป็นผู้กู้ แม้ในใจจริงจะถือว่าทำแทนผู้อื่นและไม่มีเจตนาให้ถูกผูกพันก็ตาม ก็ต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมา เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจนั้น
แม้ผู้จัดการของนิติบุคคลโจทก์จะทราบความในใจดังกล่าวของจำเลยก็ตามแต่เมื่อผู้จัดการนั้นกับจำเลยได้ตกลงกันไว้ว่าการกู้เงินครั้งนี้ก็เพื่อเอาเงินมาให้ผู้จัดการและเมื่อกู้เงินได้แล้ว ผู้จัดการก็ได้รับเงินไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัวผู้จัดการก็ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ความรู้ของผู้จัดการจึงถือเป็นความรู้ของนิติบุคคลด้วยไม่ได้
กู้เงินธนาคารเพื่อเอาไปปลูกบ้านโดยตรงไม่ใช่กรณีบัญชีเดินสะพัดเรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการถอนฟ้อง: ประโยชน์ขัดแย้งระหว่างกรรมการกับนิติบุคคลทำให้คำร้องถอนฟ้องเป็นโมฆะ
การถอนฟ้องเป็นการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้กระทำการนั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้น หรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ การพิจารณาอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ในขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องนั้น ต้องถือเอาข้อความในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นสำคัญ แต่ยังต้องพิจารณาด้วยว่าถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74
โจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน เนื่องจาก ค. กรรมการที่มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 บอกว่า ไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้ มูลเหตุการฟ้องส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของ ค. การไต่สวนก็ได้ความว่า ค. เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน แม้เลิกรากันแล้วแต่ ค. ยังคงไปมาหาสู่กับบุตรเป็นประจำ ในการไกล่เกลี่ยระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ค. ก็อยู่ฝ่ายเดียวกับจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ส่อแสดงว่า ค. และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเดียวกันและเป็นคู่กรณีกับโจทก์ การที่ ค. ขอถอนฟ้องเนื่องจากประสงค์ไม่ให้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ได้เสียของโจทก์ ถือได้ว่า ประโยชน์ได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของ ค. ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการในคำร้องขอถอนฟ้อง คำร้องขอถอนฟ้องจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องขอถอนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง