คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สระว่ายน้ำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2946/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ข้อตกลงสร้างสโมสร/สระว่ายน้ำเป็นสาระสำคัญของสัญญา
โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งในสัญญาข้อ 12 ระบุว่า "โครงการฯ ตามสัญญาจะจัดให้มีสโมสรโครงการโรงเรียนอนุบาล และสระว่ายน้ำ เพื่อเป็นสถานที่ส่วนกลางในการให้บริการ" ข้อกำหนดดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัตินอกเหนือไปจากการก่อสร้างสิ่งปลูกตามแบบอาคารที่กำหนดไว้ในข้อ 1 อันเป็นเงื่อนไขและสาระสำคัญแห่งสัญญาโดยชัดแจ้ง เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันตามข้อกำหนดแห่งสัญญา การที่โจทก์มิได้โต้แย้งการส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก็เป็นเพียงการแสดงเจตนาของโจทก์ที่พร้อมจะปฏิบัติการชำระหนี้ตามหน้าที่ของตนเท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าโจทก์มิได้ถือสัญญาข้อ 12 เป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการสร้างสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาข้อ 12 จึงเป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการชำระหนี้ต่างตอบแทนภายในเวลาอันสมควร จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าของสระว่ายน้ำต่อผู้ใช้บริการ กรณีขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตและเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย
มาตรฐานของความปลอดภัยในการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปโดยเก็บค่าบริการจากผู้มาใช้บริการก็ต้องยึดถือตามมาตรฐานนั้นด้วย ยิ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้มาใช้บริการจมน้ำในสระว่ายน้ำของจำเลยมาแล้ว จำเลยยิ่งควรต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่จำเลยมิได้ปรับปรุงแก้ไข ถือว่าละเว้นปฏิบัติในสิ่งซึ่งตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสระว่ายน้ำควรต้องปฏิบัติ แม้จำเลยจะปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ ผู้ปกครองของผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้วยตนเองก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิด เมื่อจำเลยไม่ระมัดระวังทำให้ไม่มีผู้เข้าช่วยเหลือเด็กชาย ภ. ซึ่งจมน้ำได้ทันท่วงทีและถูกต้อง ทั้งไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จะปฐมพยาบาล ทำให้สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจนสมองพิการจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย
หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กชาย ภ. มีอาการทางสมองพิการ แขนขาชักเกร็งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องให้ยาลดอาการทางสมองและหากมีอาการเกร็งก็ต้องทำกายภาพบำบัดทุกวันเด็กชาย ภ. จะต้องอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่นนั้นตลอดไปค่าดูแลรักษาที่จะต้องใช้จ่ายต่อไปจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปเนื่องจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคตเป็นคนละส่วนกับค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้จ่ายไปก่อนแล้วและไม่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน ทั้งเมื่อเด็กชาย ภ. อยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ย่อมเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลย หาใช่ไกลเกินเหตุไม่ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในการสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7808/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่สระว่ายน้ำที่โอนกัน และฟ้องแย้งค่าคลอรีน ศาลไม่รับฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าสระว่ายน้ำจากผู้ให้เช่าเดิมและบริวารออกไปจากสระว่ายน้ำเพราะโจทก์ได้รับโอนสระว่ายน้ำจากผู้ให้เช่าเดิมแล้ว และเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยไม่ยอมส่งมอบสระว่ายน้ำคืนโจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรับโอนทรัพย์ที่เช่าซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาโดยไม่ชอบโจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าเดิมและฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าสารคลอรีนขอให้บังคับโจทก์ชำระให้จำเลย เท่ากับจำเลยอ้างว่าหากโจทก์รับโอนทรัพย์ได้หรือโจทก์มีอำนาจฟ้องโจทก์ก็ต้องรับผิดค่าคลอรีน ตามสัญญา หรือโจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาซึ่งตอนแรกอ้างว่าไม่มีนั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม ไม่เป็นฟ้องแย้งที่จะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการสระว่ายน้ำที่ไม่จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตและเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ทำให้ผู้ใช้บริการเสียชีวิต ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ตระเตรียมพนักงานประจำสระว่ายน้ำไว้คอยช่วยเหลือผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลยที่ 1 กับไม่ได้เตรียมอุปกรณ์การช่วยชีวิตผู้ใช้สระว่ายน้ำในทันทีทันใดที่เกิดการช็อคหรือจมน้ำ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้จำเลยที่ 1 จะได้ปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าจำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการ ประกาศดังกล่าวก็ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จะให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด จำเลยที่ 1จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกอบการสระว่ายน้ำต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะเด็กเล็ก และความละเลยของพนักงานช่วยชีวิต
จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการให้ใช้บริการสระว่ายน้ำ โดยมีค่าตอบแทนแก่บุคคลทั่วไปในรูปการจำหน่ายบัตรให้แก่ผู้ใช้บริการ จำเลยที่ 2 จึงต้องมีหน้าที่และมาตรการให้ความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยของสระว่ายน้ำในระดับที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กเล็ก สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการในลักษณะนี้ของสระว่ายน้ำ ได้แก่การจัดหาพนักงานช่วยชีวิตประจำสระว่ายน้ำที่มีความสามารถและมีจำนวนเพียงพอเพื่อช่วยชีวิตหรือป้องกันอุบัติเหตุของผู้ใช้บริการในกรณีที่มีเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ประกาศที่ทางสระว่ายน้ำระบุให้ผู้ใช้บริการรับผิดชอบความปลอดภัยของตนเองนั้น ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จำเลยที่ 2 จะปัดความรับผิดได้ แม้จำเลยที่ 2 จะจ้างพนักงานช่วยชีวิตไว้ประจำสระว่ายน้ำก็ตาม แต่ขณะที่ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเด็กจมน้ำลงสู่พื้นสระว่ายน้ำไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์เลย ถือได้ว่าเป็นความละเลยของพนักงานช่วยชีวิตที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการ การกระทำโดยประมาทเลินเล่อดังกล่าวของพนักงานช่วยชีวิตซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลและสั่งการของจำเลยที่ 2 ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าของสระว่ายน้ำต่อความปลอดภัยผู้ใช้บริการ และความรับผิดของลูกจ้างที่ทำการในทางการจ้าง
จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการให้ใช้บริการสระว่ายน้ำโดย มีค่าตอบแทนแก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ 2 จึงต้องจัดหาพนักงานช่วยชีวิตประจำสระว่ายน้ำที่มีความสามารถและมีจำนวนเพียงพอเพื่อช่วยชีวิตหรือป้องกันอุบัติเหตุของผู้ใช้บริการในกรณีที่มีเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ประกาศที่ให้ผู้ใช้บริการรับผิดชอบความปลอดภัยของตนเองไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จำเลยที่ 2 จะปัดความรับผิดได้เมื่อพนักงานช่วยชีวิตประจำสระว่ายน้ำของจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ขณะที่ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเด็กจมน้ำ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของพนักงานช่วยชีวิตที่อยู่ในความควบคุมดูแลและสั่งการของจำเลยที่ 2 ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในการใช้บริการสระว่ายน้ำ: สัญญาณเตือนความเสี่ยงของผู้ใช้
ระเบียบของสโมสรฯ ซึ่งอยู่ในการดำเนินการของจำเลยระบุไว้ว่า ผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบอันตรายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องระมัดระวังอันตรายหรือคอยดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ ต้องระมัดระวังอันตรายหรือจะต้องจัดเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตประจำสระน้ำไว้เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการด้วย บุตรโจทก์ว่ายน้ำเป็น ไปว่ายน้ำ ในสระเล็กแล้วจมน้ำตาย การตายมิได้เกิดจากความชำรุดบกพร่องของสระว่ายน้ำหรือน้ำในสระเป็นพิษ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15695/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากสระว่ายน้ำ: จำเลยต้องดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ แม้ไม่มีกฎหมายบังคับเฉพาะ
สถานที่ที่โรงแรม ข. ตั้งอยู่ ไม่มีระเบียบข้อบังคับหรือข้อบัญญัติที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง อำเภอปากช่อง เกี่ยวกับการก่อสร้างและใช้สระว่ายน้ำเอกชน โจทก์ จ. ผู้ตาย และ ม. กับครอบครัวของ น. เข้าพักที่โรงแรม ข. ผู้ตาย ม. และ ด.ญ.ด. ว่ายน้ำอยู่ในสระว่ายน้ำของโรงแรม โดยมี จ. นั่งอยู่ริมสระว่ายน้ำ ขณะที่ผู้ตายว่ายน้ำอยู่กลางสระ ผู้ตายจมน้ำ ม. ว่ายไปช่วยแต่ช่วยไม่ได้จึงเรียก จ. ลงไปช่วย จ. ลงในสระช่วยผู้ตาย แต่ช่วยไม่ได้จึงให้ ม. ไปตามโจทก์ โจทก์จึงกระโดดลงไปดำน้ำช่วยจนกระทั่งสามารถดึงผู้ตายขึ้นมาที่ขอบสระได้และช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ตรวจร่างกายผู้ตายพบว่าผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หัวใจไม่เต้น วัดความดันไม่ได้ ม่านตาไม่ตอบสนอง แสดงว่าผู้ตายเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล ต่อมาโจทก์และ จ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีถึงที่สุด
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิยื่นฟ้องแทน จ. เหตุแห่งการฟ้องในครั้งนี้เกิดจากโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องสินสมรสเพราะไม่เกี่ยวกับรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน จึงเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดตามสิทธิที่มีอยู่เป็นการเฉพาะตัวตามที่บทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้
การที่จำเลยทั้งสองจัดให้มีสระว่ายน้ำไว้ในโรงแรมก็เพื่อเป็นทางเลือกที่จะให้ลูกค้าเข้าใช้บริการโรงแรมของจำเลยทั้งสองเพิ่มขึ้นมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองคงไม่สร้างสระว่ายน้ำในปี 2540 ซึ่งต้องใช้เงินถึง 560,000 บาท ทั้งสระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองมีความลึกสูงสุด 2.55 เมตร และบริเวณที่ลึกที่สุดมีลักษณะเป็นกรวยลงไปด้วย ลักษณะดังกล่าวของสระว่ายน้ำ ทำให้ยากต่อการช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ใช้บริการเมื่อเกิดอุบัติเหตุตลอดเวลาที่เปิดบริการ ชุดปฐมพยาบาลประจำสระว่ายน้ำ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น ไม้ช่วยชีวิต ห่วงชูชีพ โฟมช่วยชีวิต เครื่องช่วยหายใจ ทั้งจะต้องมีป้ายบอกแสดงความลึกของสระว่ายน้ำให้ผู้ใช้บริการทราบ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้คิดค่าบริการส่วนนี้รวมกับค่าเช่าที่พักแล้วไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หากจำเลยทั้งสองจัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าว เมื่อผู้ตายจมน้ำก็สามารถช่วยเหลือผู้ตายให้รอดชีวิตได้ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดบุคลากรและอุปกรณ์จึงเป็นเหตุให้โจทก์ ภริยาโจทก์และบุตรโจทก์ไม่สามารถช่วยผู้ตายขึ้นจากสระว่ายน้ำ ซึ่งได้ความจากโจทก์และภริยาโจทก์ว่า พื้นสระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองลื่นเนื่องจากขาดการดูแลรักษา สระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองเปิดให้บุคคลที่มาใช้บริการโรงแรมของจำเลยทั้งสองเข้าใช้ได้ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกถึง 2.55 เมตร ซึ่งท่วมศีรษะของบุคคลทั่วไป หากมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรืออาจจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยพลัดตกลงไปอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ ควรอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสองจะจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากการจมน้ำมาคอยดูแลหรือมีเชือกกั้นแสดงเขตส่วนที่ลึกท่วมศีรษะเพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ใช้สระว่ายน้ำจมน้ำได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้แต่หาได้กระทำไม่ แม้ว่าสระว่ายน้ำในโรงแรมของจำเลยทั้งสองจะตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่หาทำให้ความสำคัญของสระว่ายน้ำแตกต่างไปจากสระว่ายน้ำในกรุงเทพมหานครไม่ แม้ อ.บ.ต. หมูสีและอำเภอปากช่องจะไม่มีข้อบังคับหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการก่อสร้างสระว่ายน้ำ ก็หาทำให้จำเลยทั้งสองพ้นความรับผิดในกรณีที่มีผู้ประสบภัยจมน้ำตายดังเช่นผู้ตายในคดีนี้ไม่ ทั้งนี้เพราะการที่จำเลยทั้งสองมีสระว่ายน้ำซึ่งลึกและมีสภาพเป็นกรวยย่อมเป็นที่เล็งเห็นได้ว่าหากบุคคลที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือเกิดเป็นตะคริวจมน้ำลงไปย่อมถึงแก่ความตาย หรือเด็กอาจพลัดตกลงไปถึงแก่ความตายได้ ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องป้องกันเองโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบังคับหรือระเบียบใดๆ ของทางราชการออกมาบังคับอีกชั้นหนึ่ง