คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หน่วยการขนส่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน่วยการขนส่งทางทะเล: การกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล
สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในกล่องหรือลังรวม 231 กล่อง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว แสดงว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้ามีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งตามคำนิยามในมาตรา 3 พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง เมื่อสินค้าได้รับความเสียหาย 31 กล่อง และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเป็นเงินไม่เกิน 310,000 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่คำนวณได้ตามน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้านั้น เมื่อโจทก์ (ผู้รับประกันภัย) ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 188,631 บาท โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: การกำหนดหน่วยการขนส่ง, ข้อจำกัดความรับผิด, และการร่วมรับผิดของลูกหนี้
ใบตราส่งสินค้าตามฟ้อง แม้จะระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ก็ตาม แต่ก็ระบุว่าสินค้าของโจทก์บรรจุในกล่อง (Packages) จำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งตู้สินค้า (container) จำนวน 1 ตู้ ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน 7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายตามคำฟ้องว่ามีเพียง 2 หน่วยการขนส่งเป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ได้ 18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง จากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่ง เป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาท แม้สินค้าของโจทก์ที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและมาตรา 59 (1) และเมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาท แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดหน่วยการขนส่งทางทะเลตามใบตราส่ง และข้อจำกัดความรับผิดของผู้นำของเข้า
การวินิจฉัยเกี่ยวกับหน่วยการขนส่งจะต้องวินิจฉัยจากใบตราส่งว่าระบุจำนวนลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้อย่างไรการที่ใบตราส่งสินค้าระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์1 ตู้แต่ก็ระบุว่าสินค้ากระดาษทิชชูของโจทก์บรรจุในกล่องจำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ตู้สินค้าจำนวน 1 ตู้ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่ง ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้นจึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายมีเพียง 2 หน่วยการขนส่ง เป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมได้18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่งจากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่งเป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาทแม้สินค้าที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6141/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางทะเล: จำนวนหน่วยการขนส่งตามใบตราส่ง และข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีทรัพย์สินทางปัญญา
คดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าดังกล่าวเกิดความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ใบตราส่งตามความหมายในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59(1) หมายถึง ใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่งที่ออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งออกให้แก่บริษัท อ. ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจึงถือเป็นใบตราส่งตามความหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัท น. จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5614/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล การจำกัดความรับผิด และหน่วยการขนส่งตามใบตราส่ง
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้บริษัท บ. เป็นตัวแทนดำเนินการขนส่งและบริษัท บ. ได้ว่าจ้างบริษัทเรือ อ. ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปจัดการดูแลให้มีการควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ตลอดระยะทางที่ส่งสินค้ามานั้นก็เพราะจำเลยที่ 1 ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องดูแลมิให้สินค้าที่ส่งนั้นต้องเสียหาย สูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง และยังดำเนินการทางพิธีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการทำพิธีการทางศุลกากรหรือตัวแทนการออกของ หรือทำในฐานะที่จะต้องส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแต่อย่างใด นอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบริการการดำเนินการทางพิธีศุลกากรจากโจทก์แล้ว ยังได้รับเงินค่าบริการในการขนส่งอีกจำนวนหนึ่งจากโจทก์ การดำเนินงานของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในฐานะผู้ขนส่งเพื่อบำเหน็จในทางค้าปกติโดยมีข้อตกลงกับโจทก์ในการขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งแม้จะต้องรับผิดในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่า การที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นผลอันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำหรือละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าพิพาทแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 โดยจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น
ตามใบตราส่งระบุจำนวนหีบห่อที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ว่ามีจำนวน 521 หีบห่อ (Pieces of banded christmas trees) กรณีจึงต้องถือว่าได้มีการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่งรวมเป็นจำนวน 521 หน่วยการขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58, 59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน่วยการขนส่งทางทะเล: การคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับขนฯ โดยเทียบหน่วยการขนส่งและน้ำหนัก
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3บัญญัติคำนิยามคำว่า "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้าไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และคำว่า"หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถังกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้วใช้นอตขันห่วงให้ยึดไว้ แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือล.2 ในช่อง "คำพรรณนาสินค้า" ระบุว่า ตู้คอนเทนเนอร์ 1x20 ฟุตบรรจุอาหารสัตว์ 375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่า แต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น"หนึ่งหน่วยขนส่ง" ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง การคำนวณค่าเสียหาย ที่จำเลยจะต้องรับผิดจึงต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้หน่วยการขนส่งของสินค้าพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณจะมากกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้น้ำหนักแห่งสินค้าพิพาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 59(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า: การจำกัดความรับผิดและหน่วยการขนส่ง
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลจากท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์มาท่าเรือแหลมฉบัง และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้ามาที่ลานพักสินค้าลาดกระบังเพื่อรอส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นตามนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
ตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่วและมิได้ถูกจัดเก็บในสถานที่หรือสภาพที่จะปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน จึงเป็นเหตุให้มีน้ำซึมไหลผ่านรูรั่วด้านบนลงไปในตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกน้ำเสียหายก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบสินค้า ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายของสินค้าพิพาทต้องถูกจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่ากันตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นฉนวนทองแดงบรรจุอยู่ในหีบห่อ 12 หีบห่อ หีบห่อละ 50 ชิ้น วางซ้อนกันและห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลและพลาสติกใสรัดด้วยสายรัดพลาสติกวางอยู่บนพัลเล็ตโดยห่อหุ้มรวมกันเป็นห่อเดียว ไม่สามารถเห็นสินค้าแต่ละชิ้นจากภายนอกได้ การขนส่งห่อดังกล่าวสามารถขนส่งไปได้โดยลำพัง ประกอบกับตามใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ให้เข้าใจได้ชัดเจน กรณีย่อมถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าว 1 หีบห่อ เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ 1 พัลเล็ต เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือแต่ละชิ้นที่อยู่ในหีบห่อเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง
เนื่องจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความเสียหายของสินค้าพิพาทถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3215/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล การสูญหายของสินค้า และขอบเขตการจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง จำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องกับการขนส่งโดยทำหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับรูปแบบการขนส่งที่ท่าเรือปลายทาง กับรับค่าระวางและเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือผู้ขนส่งอื่น คงเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งเกี่ยวกับการดำเนินการที่ท่าเรือปลายทางแทนผู้ขนส่งเท่านั้น
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นต่อสู้ว่า ผู้ส่งบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าไม่ครบหรือสินค้าสูญหายไปในระหว่างการบรรจุสินค้าที่ท่าเรือต้นทาง เป็นการกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9) จำเลยที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ในข้อนี้
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง การระบุไว้ในใบตราส่งว่า มีสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์จำนวน 510 ชุด หน่วยการขนส่งในการขนส่งครั้งนี้จึงหมายถึง 1 ชุด ของสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อสินค้าสูญหายไป 50 ชุด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องได้ คือ ไม่เกิน 500,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล กรณีสินค้าเสียหาย ต้องพิจารณาหน่วยการขนส่งที่แท้จริงตามกฎหมาย
โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งเป็นเช็ค แต่ผู้รับตราส่งไม่สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้จึงจัดส่งคืนโจทก์ จากนั้นผู้รับตราส่งตกลงให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับค่าสินไหมทดแทนผู้รับตราส่ง และโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับตราส่งแล้ว เท่ากับโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่งซึ่งมีต่อผู้ขนส่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และ "หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่นเมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าการขนส่งสินค้าครั้งนี้ สินค้ามี 880 ชุด บรรจุอยู่ในลังหรือกล่องกระดาษรวม 22 ลัง และวางบนไม้รองสินค้า 2 ไม้รองสินค้าดังนี้ แม้สินค้ามี 880 ชุด แต่ชุดของสินค้าดังกล่าวไม่ใช่หน่วยการขนส่งตามคำนิยามข้างต้น ส่วนไม้รองสินค้าตามคำนิยามก็เป็นเพียงภาชนะขนส่ง เมื่อสินค้าที่ขนส่งมี 22 ลัง แต่ละลังที่บรรจุสินค้าอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละลังที่บรรจุสินค้าเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าทั้งหมดมี 22 ลัง ใน 1 ลังบรรจุสินค้ารวม 40 ชุด แต่สินค้าได้รับความเสียหายรวม 660 ชุด เท่ากับ 17 ลัง หรือ 17 หน่วยการขนส่ง ดังนี้ จำเลยและจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 170,000 บาท และเมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ และผู้รับตราส่งมีสิทธิเท่ากับผู้ส่ง เมื่อผู้ขนส่งมีสิทธินำการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม มาตรา 58 มาใช้บังคับได้ ผู้ขนส่งจึงยกการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าวมาใช้อ้างต่อโจทก์ได้ด้วย