คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หักกลบหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย ไม่อาจนำไปหักกลบหนี้หรือถือเป็นการชำระหนี้ต้นเงินได้
การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราตามกฎหมายให้แก่โจทก์ไป เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระจำเลยจึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยจำนวนที่ชำระไปแล้วคืน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 407จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำไปหักกลบลบหนี้กับต้นเงินกู้ที่จำเลยยังไม่ได้ชำระหรือถือเอาว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้บางส่วนตามสัญญาแล้วได้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วตามสัญญาคำนวณแล้วได้เท่ากับอัตราร้อยละ 36 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลยแต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยเริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด หาใช่ดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยไม่เมื่อหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 22 ตุลาคม 2541จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของภรรยาที่ไม่ได้ความยินยอมจากสามี และการหักกลบหนี้จากการซื้อขาย
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้ เงินตาม สัญญาซื้อขาย จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ เป็นประเด็นในคำให้การไว้ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 294 แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรที่จะได้ รับการวินิจฉัย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกฟ้องหนี้จากการจำนองและการหักกลบหนี้: เมื่อจำเลยไม่บังคับชำระจากทรัพย์จำนอง
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ในการทำสัญญาจ้างโจทก์ได้จำนองที่ดินแปลงหนึ่งไว้เป็นประกันความเสียหาย การที่โจทก์ได้จำนองที่ดินไว้ดังกล่าวย่อมแยกการจำนองกับหนี้ที่เอาทรัพย์สินจำนองเป็นประกันออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามสัญญาจำนองก็ได้ เพราะว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๓มิได้บังคับว่าจำเลยมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเพียงทางเดียว ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะบังคับชำระหนี้ค่าเสียหายจากที่ดินที่จำนองและจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระเงินสะสมและเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่งให้โจทก์ประกอบกับจำเลยได้ใช้สิทธิขอหักหนี้มาในคำให้การแล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำเงินบำเหน็จของโจทก์มาหักกับค่าเสียหายแก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑โดยหาจำต้องบังคับเอาจากทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันก่อนไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1693/2493 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศและการหักกลบหนี้ตามสัญญาซื้อขาย
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยผิดสัญญาให้ใช้ค่าเสียหายจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาขอให้ยกฟ้อง เมื่อศาลเห็นว่าต่างผิดสัญญาฝ่ายโจทก์ต้องให้ใช้จำเลยเป็นเงินเหรียญต่างประเทศ ฝ่ายจำเลยต้องใช้ให้โจทก์เป็นเงินบาทและเงินเหรียญ ดังนี้เป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้โดยทรัพย์สินต่างประเภทอันจะหักทอนกันมิได้ แม้จำเลยจะยกข้อผิดสัญญาขึ้นต่อสู้เพียงให้ยกฟ้องก็ดี ศาลก็ย่อมพิพากษาบังคับได้เพียงเท่าที่ไม่เกินคำขอของโจทก์ คือพิพากษาให้ต่างฝ่ายต่างชำระหนี้แก่กันเป็นเงินตราคนละประเภท แต่สำหรับเงินตราต่างประเทศนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเสียตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชในกรุงเทพฯ เมื่อคำนวณได้เท่าใดให้หักกลบลบกัน ถ้าจำนวนที่จำเลยจะต้องชำระยังเหลืออีกก็ให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้าไม่มีเหลือหรือจำนวนที่โจทก์จะต้องชำระมากกว่าก็ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
สัญญากันว่าจะชำระหนี้เป็นเงินเหรียญมะลายู และชำระที่สิงคโปร์แต่สถานเดียวดังนี้จะต้องชำระหนี้กันเป็นเงินเหรียญมลายู จะชำระเป็นเงินไทยไม่ได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมมิฉะนั้นย่อมถือว่าฝ่ายชำระหนี้ผิดสัญญา
หนี้เป็นเงินตราต่างประเทศนั้นเมื่อจะต้องชำระตามคำบังคับของศาลในประเทศไทยก็จะต้องเปลี่ยนเป็นเงินตรา ของประเทศไทยซึ่งมาตรา 196 แห่ง ป.ม.แพ่งฯ บัญญัติให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 196 นั้น ย่อมต้องหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีซึ่งโดยปกติก็คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชในกรุงเทพฯ
ในกรณีที่จะต้องชำระหนี้กันเป็นเงินตามต่างประเทศนั้นเพื่อสดวกแก่การบังคับคดี ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินเป็นเงินตามต่างประเทศ หรือมิฉะนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิช ทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษาถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้น ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาสัญญาจ้างทำของ-ต่างตอบแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย-หักกลบหนี้
โจทก์ว่าจ้างจำเลยทำแม่พิมพ์พื้นเตารีดในราคา 100,000 บาท จำเลยทำเสร็จพร้อมกับได้รับค่าจ้างแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จ้างจำเลยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวผลิตพื้นเตารีดโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระ คือแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น และจำเลยต้องผลิตพื้นเตารีดตามจำนวนแท่งทองแดงนำความร้อนดังกล่าวในราคาค่าจ้างชิ้นละ 32 บาท จำเลยผลิตเสร็จแล้วและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้าง 536,384 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระ กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พร้อมทั้งแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น คืนโจทก์ จำเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงแม่พิมพ์และแท่งทองแดงนำความร้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นเตารีด ต่อมาจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป ถือได้โดยปริยายว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์จำเลยคู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันไว้และไม่มีทางจะบังคับเป็นอย่างอื่น ก็ต้องอนุโลมบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ โจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับแม่พิมพ์หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 100,000 บาท
สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งเสร็จแล้วแต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืน กรณีหักกลบหนี้ เป็นอายุความ 10 ปี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขในการชำระค่าสินค้าโดยให้โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยภายใน 60 วัน นับแต่วันรับสินค้าในแต่ละครั้ง และโจทก์มีสิทธิตรวจนับและรับรองสินค้าตลอดจนคุณภาพและสามารถคืนสินค้าได้ในกรณีที่สินค้าหมดอายุ ชำรุด หรือโจทก์จัดรายการส่งเสริมการขาย เมื่อรายการนั้นจบลงและยังมีสินค้าของจำเลยเหลืออยู่จำเลยมีหน้าที่จะต้องรับสินค้านั้นคืน โดยโจทก์จะหักกลบเงินค่าคืนสินค้ากับเงินที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าให้จำเลยในงวดต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยเมื่อหักกลบกับเงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยในงวดต่อไป หาใช่เรื่องฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไม่ จึงจะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 มาใช้บังคับหาได้ไม่ และมิใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาเงินค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยจึงจะนำอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) มาใช้บังคับหาได้ไม่อีกเช่นกัน การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยเพื่อชำระราคาค่าสินค้าเมื่อหักกลบกับเงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยในงวดต่อไปคืน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8972/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้จากการรับตราส่งสินค้าและการหักกลบหนี้ โดยให้ชำระหนี้ตาม L/C เป็นลำดับแรก
จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อชำระค่าสินค้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากต่างประเทศ เมื่อสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ธนาคารในต่างประเทศไปแล้ว และรับมอบใบตราส่งสำหรับสินค้าและรายการบรรจุสินค้าไว้จากธนาคารในต่างประเทศ ดังนี้ การที่โจทก์อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งสินค้ารถยนต์ก็เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชำระเงินค่าสินค้ารถยนต์แทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน สินค้ารถยนต์ตามใบตราส่งจึงเป็นการประกันหนี้ตามคำขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้และไม่มาติดต่อขอรับเอกสารเพื่อไปขอออกสินค้า และต่อมาโจทก์นำสินค้ารถยนต์ดังกล่าวออกขายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ต้องนำเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ไปชำระหนี้ตามคำขอเลตเตอร์ออฟเครดิตอันเป็นมูลเหตุให้มีการส่งมอบรถยนต์มาทางเรือเดินทะเลนั้น ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปหักกับหนี้รายอื่นหรือหักกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบหนี้ค่าจ้างและค่าเสียหายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน การไม่มีส่วนผิดทำให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิหักค่าจ้างตามสัญญาที่ต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นเงิน 798,962 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้เครื่องบินขับเฉี่ยวชนสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนผิดในความเสียหายดังกล่าวอยู่ด้วย จึงกำหนดให้โจทก์รับผิดในความเสียหายแก่จำเลยเพียงกึ่งหนึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหักกลบลบหนี้ระหว่างกันเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี และให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่หักไว้กึ่งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนผิดในความเสียหาย หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงพิพากษายกฟ้อง กับบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 399,481 บาท เท่ากับว่าให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 798,962 บาท ตามฟ้องแย้ง เมื่อหักกลบกับเงินค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างในวันฟ้องซึ่งจำเลยได้หักไว้เป็นค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันอีก เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลย