โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินต้นที่กู้ไป 7,000 บาทรวมทั้งดอกเบี้ยเป็น 10,412.50 บาท ฯลฯ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง จำเลยฎีกาว่า รอยแก้ไขจำนวนเงินกู้ไม่ได้ลงชื่อกำกับ คดีได้ความว่า ชั้นแรกจำเลยขอกู้เงิน 4,000 บาท กับที่กู้เดิม 2,000บาท เป็น 6,000 บาท เมื่อนางประจวบผู้เขียนสัญญาเขียนเลขจำนวน6,000 บาทไปแล้ว จำเลยขอเพิ่มอีก 1,000 บาท รวมเป็น 7,000 บาทนางประจวบจึงแก้ตัวเลข 6 เป็นเลข 7 และแก้ตัวอักษรด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การแก้ตัวเลขและตัวอักษรดังกล่าวนี้เป็นการแก้ให้ตรงตามความประสงค์ของจำเลย ก่อนที่จำเลยจะพิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญากู้เห็นได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาที่จะให้เอกสารฉบับนี้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ตามจำนวนที่แก้ไขแล้วคือ 7,000 บาท หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์นำมาแก้ไขเองในภายหลังโดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอมไม่ ฉะนั้น แม้ตัวเลขและตัวอักษรที่แก้ไขจะไม่ได้ลงชื่อกำกับ หนังสือสัญญาฉบับนี้ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมโดยสมบูรณ์ จำเลยฎีกาว่า เด็กหญิงสุนีย์ อายุ 14 ปี จะรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9 จะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เมื่อโจทก์มีพยานรับรองลงลายมือชื่อครบถ้วนตามกฎหมายแล้วก็เป็นอันใช้ได้ จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์หาพยานหลักฐานของโจทก์เอง จำเลยไม่ได้ตกลงจะเป็นผู้รับผิด เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายขอให้ส่งเอกสารสัญญากู้ไปตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อประโยชน์แก่คดีของโจทก์ แต่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์นี้ก็เป็นค่าฤชาธรรมเนียม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 152 ซึ่งตามธรรมดาความรับผิดย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายแพ้คดี เว้นแต่ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 เฉพาะคดีนี้จำเลยปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือในสัญญากู้ไม่ใช่ของจำเลย แต่เมื่อผลของการพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นของจำเลย จำเลยจึงตกเป็นผู้แพ้ และไม่มีเหตุพิเศษอย่างอื่นที่จะไม่ให้จำเลยต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ พิพากษายืน.