กรณีที่บริษัทธนาคารกรุงเทพฯ ผู้ร้องฎีกาขึ้นมานี้ ได้ความว่าธนาคารผู้ฎีกาเป็นเจ้าหนี้จำเลยผู้ล้มละลายตามคำพิพากษาเป็นเงิน 700,000 บาทเศษ ต่อมาห้างหุ้นส่วนสามัญเบอรี่ยุคเกอร์ได้ฟ้องและยึดไม้จำเลยไว้ก่อนคำพิพากษา ธนาคารร้องคัดค้านว่ามีบุริมสิทธิ์ในฐานะผู้รับจำนำ ในระหว่างนั้นจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าเป็นคู่ความร่วมในการพิพาทระหว่างธนาคารกับบริษัทเบอรี่ยุคเกอร์ ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าธนาคารไม่มีบุริมสิทธิ์ ธนาคารจึงยื่นคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นว่า ธนาคารยื่นคำขอรับชำระหนี้พ้นกำหนดเวลา 2 เดือน จึงขาดอายุความ ควรยกคำขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งคงมีคำสั่งดังความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาเห็นว่า โดยปกติบรรดาเจ้าหนี้ของผู้ล้มละลาย จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 91 แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 93 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาว่าคดีค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ และแพ้คดีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 นับแต่วันคดีถึงที่สุด
ในคดีนี้ที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เป็นการพิพาทกันในประเด็นที่ว่าธนาคารจะมีบุริมสิทธิ์ในไม้สักที่อยู่ในความล้มละลายหรือไม่ส่วนหนี้ซึ่งธนาคารเป็นเจ้าหนี้ผู้ล้มละลายนั้นเป็นอันรับรองว่าได้มีอยู่จริง ฉะนั้นแม้ธนาคารจะแพ้คดีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว ก็แพ้เฉพาะในข้อที่ว่า ธนาคารไม่มีบุริมสิทธิ์ ส่วนหนี้ตามคำพิพากษาจะว่าธนาคารแพ้มิได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คงถือได้ว่า ธนาคารคงเป็นเจ้าหนี้ธรรมดาผู้ล้มละลายอยู่ตามคำพิพากษาฉะนั้นคดีจึงพอจัดเข้าอยู่ในพระราชบัญญัติ มาตรานี้ว่าธนาคารมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ เพราะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายใน 2 เดือนนับแต่วันคดีถึงที่สุด
จึงพิพากษากลับว่า คำขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงเทพฯ ไม่ขาดอายุความ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับวินิจฉัยต่อไป ฯลฯ