โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร สังกัดกองบัญชาการตำรวจจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ควบคุมผู้ต้องหาปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวโดยมีหรือไม่มีประกันและหลักประกัน ปัจจุบันพันตำรวจเอกธัชชัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกันนายจิรัฏฐ์ผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 และความผิดฐานฉ้อโกงต่อโจทก์โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นประกัน สัญญาว่าหากจำเลยไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนตามกำหนดนัด จำเลยยอมชำระเงิน 975,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์แจ้งจำเลยให้ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา แต่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประกัน โจทก์สั่งปรับจำเลยตามสัญญาประกัน และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกัน จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,097,609.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 975,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พันตำรวจเอกธัชชัยไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนและผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนในขณะที่ยื่นฟ้องและหลังยื่นฟ้อง จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สำเนาคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่แนบมาท้ายคำฟ้องเป็นเอกสารปลอมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2541 นายได้ ผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อโจทก์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่นายจิรัฏฐ์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เนื่องจากนายจิรัฏฐ์ออกเช็ค จำนวน 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายรวมเป็นเงิน 1,300,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายจิรัฏฐ์และควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร จำเลยและนายอภิชาตจึงยื่นคำร้องขอปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวนโดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตนเป็นหลักประกัน โจทก์มีคำสั่งให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวระหว่างสอบสวน กำหนดราคาหลักทรัพย์หรือหลักประกันเป็นเงิน 1,408,334 บาท และให้จำเลยกับนายอภิชาตทำสัญญาประกันผู้ต้องหาแยกกันคนละ 1 ฉบับ จำเลยทำสัญญาประกันเป็นเงิน 975,000 บาท และนายอภิชาตทำสัญญาประกันเป็นเงิน 433,334 บาท โจทก์ตีราคาประกันเกิน 1 ใน 3 ส่วน ของจำนวนเงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับ ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 สัญญาประกันทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยและนายอภิชาตส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ครั้งแรกและครั้งที่สองตามที่โจทก์นัด หลังจากนั้นจำเลยและนายอภิชาตไม่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์ให้ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์อีก ผู้ต้องหาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหายและแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว คดีที่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ไว้จึงระงับไป สัญญาประกันผู้ต้องหาของจำเลยและนายอภิชาตย่อมระงับไปด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 975,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 975,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าปรับคือ วันที่ 31 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2541 นายจิรัฏฐ์ถูกจับฐานกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และฉ้อโกง ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยนายจิรัฏฐ์ผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับโจทก์ สัญญาว่าจะส่งผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด ถ้าผิดสัญญาจำเลยยินยอมใช้เงิน 975,000 บาท โดยจำเลยได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยเป็นหลักประกันตามเอกสารหมาย จ.10 ภายหลังสัญญาจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.10 ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะพนักงานสอบสวน ขณะโจทก์ฟ้องคดีร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ยังเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์จึงเป็นร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ไม่ใช่พันตำรวจเอกธัชชัยการที่พันตำรวจเอกธัชชัยลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความและดำเนินคดีนี้แก่จำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารโดยมีร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์เป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์จึงมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามกำหนดนัด ดังนี้ แม้ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ยังเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารก็ตาม แต่เมื่อพันตำรวจเอกธัชชัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารในขณะยื่นฟ้องและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า สัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.10 เป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.10 จำเลยประกันผู้ต้องหาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นสาระสำคัญจะแปลความเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ การที่โจทก์ตีราคาหลักประกันเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินในเช็คจึงไม่ชอบตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า คำร้องขอประกันและสัญญาประกันที่จำเลยทำกับโจทก์อยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน โดยจำเลยรับว่าได้ยื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องหาจริง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยขอประกันนายจิรัฏฐ์ต้องหาว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ฉ้อโกง โดยจำเลยมีหลักทรัพย์ตามบัญชีท้ายสัญญานี้ และจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้อง จำเลยไม่นำสืบโต้แย้งความถูกต้องของข้อความในคำร้องขอประกันดังกล่าว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเจตนาประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกงด้วย เมื่อโจทก์พิจารณาคำร้องขอประกันของจำเลยและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา จำเลยจะอ้างว่าประกันผู้ต้องหาเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งระบุไว้ในสัญญาประกันหาได้ไม่ เมื่อการกระทำความผิดทั้ง 2 ฐาน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่โจทก์ใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันเป็นเงิน 975,000 บาท อันเป็นการพิจารณาให้ประกันในความผิดฐานฉ้อโกงที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ซึ่งไม่เกิน 3 ใน 4 ของจำนวนเงิน 1,300,000 บาท ที่ผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาฉ้อโกงไปตามหลักเกณฑ์ในเอกสารหมาย จ.5 จึงชอบแล้ว สัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.10 ไม่เป็นโมฆะ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า จำเลยผิดสัญญาประกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์มีหนังสือให้จำเลยส่งผู้ต้องหาแก่พนักงานสอบสวนและชำระค่าปรับกรณีผิดสัญญาไปยังบ้านเลขที่ 62/2 ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และรัฐสภา ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาและสถานที่ทำการตามปกติของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญา เห็นว่า แม้จำเลยจะอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 44/16 ตามเอกสารหมาย ล.5 แต่บ้านเลขที่ 62/2 ดังกล่าว เป็นที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เขต 10 ท้องที่อำเภอปากพนัง ซึ่งจำเลยรับว่าได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่เพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6 ว่า จำเลยย้ายเข้าไปอยู่ตั้งแต่ปี 2529 จนบัดนี้ยังไม่แจ้งย้ายไปอยู่แห่งใหม่ โดยจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62/2 ในวันเสาร์อาทิตย์ และจันทร์ ที่ทำการพรรคดังกล่าวเป็นที่ทำการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนประจำอยู่ กับจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยได้แจ้งที่อยู่ตามเอกสารหมาย ล.6 ให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นที่อยู่ที่สะดวกแก่การติดต่อ ดังนี้ บ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นทั้งภูมิลำเนาและเป็นหลักแหล่งที่ทำการตามปกติของจำเลย กรณีถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา โดยส่งไปยังบ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นการส่งตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแทนโดยชอบตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยจึงผิดสัญญา ส่วนที่อาคารรัฐสภานั้น เห็นว่า ขณะทำสัญญาจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและใช้ตำแหน่งดังกล่าวประกันผู้ต้องหาระบุในสัญญาประกันว่าที่อยู่ของจำเลยอยู่ที่อาคารรัฐสภา กับแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 แก่โจทก์ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.8 กรณีจึงถือว่าจำเลยได้เลือกเอาอาคารรัฐสภาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าปรับแก่โจทก์ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดโดยส่งไปที่อาคารรัฐสภาและบ้านเลขที่ 62/2 โดยมีผู้รับไว้แทน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัด ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งผู้ต้องหาในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา และสัญญาประกันข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อ 1 ข้าพเจ้ายินยอมใช้เงิน 973,000 บาท" ถือว่าจำเลยทราบกำหนดนัดและทราบจำนวนค่าปรับแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดส่งผู้ต้องหาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาชำระในวันที่ 30 มกราคม 2542 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ