โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,097,609.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 975,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 975,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 975,000 บาท นับแต่วันผิดสัญญา (วันที่ 30 มกราคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าปรับคือ วันที่ 31 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2541 นายจิรัฏฐ์ถูกจับฐานกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และฉ้อโกง ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อย นายจิรัฏฐ์ ผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับโจทก์ สัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด ถ้าผิดสัญญาจำเลยยินยอมใช้เงิน 975,000 บาท โดยจำเลยได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยเป็นหลักประกัน ภายหลังสัญญาจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาประกันร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะพนักงานสอบสวน ขณะโจทก์ฟ้องคดีร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ยังเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์จึงเป็นร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ไม่ใช่พันตำรวจเอกธัชชัย การที่พันตำรวจเอกธัชชัยลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความและดำเนินคดีนี้แก่จำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารโดยมีร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์เป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์จึงมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามกำหนดนัดดังนี้ แม้ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์ยังเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารก็ตาม แต่เมื่อพันตำรวจเอกธัชชัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารในขณะยื่นฟ้องและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า สัญญาประกันเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามสัญญาประกันจำเลยประกันผู้ต้องหาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นสาระสำคัญจะแปลความเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ การที่โจทก์ตีราคาหลักประกันเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินในเช็คจึงไม่ชอบ ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า คำร้องขอประกันและสัญญาประกันที่จำเลยทำกับโจทก์อยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน โดยจำเลยรับว่าได้ยื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องหาจริง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยขอประกันนายจิรัฏฐ์ต้องหาว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ฉ้อโกง โดยจำเลยมีหลักทรัพย์ตามบัญชีท้ายสัญญานี้ และจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้อง จำเลยไม่นำสืบโต้แย้งความถูกต้องของข้อความในคำร้องขอประกันดังกล่าว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเจตนาประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกงด้วย เมื่อโจทก์พิจารณาคำร้องขอประกันของจำเลยและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา จำเลยจะอ้างว่าประกันผู้ต้องหาเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งระบุไว้ในสัญญาประกันหาได้ไม่ เมื่อการกระทำความผิดทั้ง 2 ฐาน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่โจทก์ใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันเป็นเงิน 975,000 บาท อันเป็นการพิจารณาให้ประกันในความผิดฐานฉ้อโกง ที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวซึ่งไม่เกิน 3 ใน 4 ของจำนวนเงิน 1,300,000 บาท ที่ผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาฉ้อโกงไปตามหลักเกณฑ์ในเอกสารหมาย จ.5 จึงชอบแล้ว สัญญาประกันไม่เป็นโมฆะ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า จำเลยผิดสัญญาประกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ร้อยตำรวจเอกอนุพงษ์มีหนังสือให้จำเลยส่งผู้ต้องหาแก่พนักงานสอบสวนและชำระค่าปรับกรณีผิดสัญญาไปยังบ้านเลขที่ 62/2 ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และรัฐสภา ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาและสถานที่ทำการปกติของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญา เห็นว่า แม้จำเลยจะอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 44/16 แต่บ้านเลขที่ 62/2 ดังกล่าว เป็นที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เขต 10 ท้องที่อำเภอปากพนัง ซึ่งจำเลยรับว่าได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่เพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และปรากฏว่า จำเลยย้ายเข้าไปอยู่ตั้งแต่ปี 2529 จนบัดนี้ยังไม่แจ้งย้ายไปอยู่แห่งใหม่ โดยจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62/2 ในวันเสาร์ อาทิตย์และจันทร์ ที่ทำการพรรคดังกล่าวเป็นที่ทำการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนประจำอยู่ กับจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยได้แจ้งที่อยู่บ้านเลขที่ 62/2 ให้พนักงานสอบสวนว่า เป็นที่อยู่ที่สะดวกแก่การติดต่อ ดังนี้ บ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นทั้งภูมิลำเนาและเป็นหลักแหล่งที่ทำการตามปกติของจำเลย กรณีถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา โดยส่งไปยังบ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นการส่งตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแทนโดยชอบ จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยจึงผิดสัญญา ส่วนที่อาคารรัฐสภานั้น เห็นว่า ขณะทำสัญญาจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและใช้ตำแหน่งดังกล่าวประกันผู้ต้องหาระบุในสัญญาประกันว่าที่อยู่ของจำเลยอยู่ที่อาคารรัฐสภา กับแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยแก่โจทก์ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือรับรอง กรณีจึงถือว่าจำเลยได้เลือกเอาอาคารรัฐสภาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าปรับแก่โจทก์ภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยส่งไปที่อาคารรัฐสภาและบ้านเลขที่ 62/2 โดยมีผู้รับไว้แทน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัด ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งผู้ต้องหาในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา และสัญญาประกันข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อ 1 ข้าพเจ้ายินยอมใช้เงิน 973,000 บาท" ถือว่าจำเลยทราบกำหนดนัดและทราบจำนวนค่าปรับแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดส่งผู้ต้องหาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาชำระในวันที่ 30 มกราคม 2542 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ