คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อรุณี วีระรัศมี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทิศที่ดินเป็นทางสาธารณะ ผลต่อกำแพงกั้นที่ดินและสิทธิของเจ้าของ
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อจำหน่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินโดยสร้างถนนบนที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสร้างกำแพงคอนกรีตบนที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตถนนกับที่ดินของโจทก์ วันที่ 30 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภคในที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ตอบแทน และมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสงวนกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้สอยทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของกรุงเทพมหานครที่ประสงค์จะก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหนังสือสัญญายินยอมให้ใช้สอยทรัพย์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินพิพาทให้กรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปพัฒนาถนนเดิมให้กลายเป็นถนนคอนกรีตพร้อมวางระบบระบายน้ำและสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมุ่งหมายให้ตนพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว ดังนั้น ถนนและที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครจึงเป็นผู้ดูแลและมีหน้าที่บำรุงถนนและที่ดินพิพาทตามกฎหมาย
แต่สำหรับกำแพงคอนกรีตนั้นมิได้เป็นประโยชน์แก่โจทก์และประชาชนอื่นที่อยู่นอกที่ดินที่จัดสรรหรือนอกโครงการของจำเลยที่ 1 อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีความประสงค์เพียงเฉพาะแต่จะทำการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันเท่านั้น แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า มิได้มีเจตนาอุทิศหรือโอนกำแพงคอนกรีตให้แก่กรุงเทพมหานครด้วย กำแพงคอนกรีตยังคงเป็นสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่จัดสรรในโครงการของจำเลยที่ 1 และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นต่อไป และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับกำแพงคอนกรีตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องรื้อกำแพงคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินที่เป็นสินสมรสโดยไม่ยินยอมของคู่สมรส และผลของการเพิกถอนต่อกรรมสิทธิ์
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 โดยอ้างว่า ส. ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ส. ให้แก่จำเลยโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมีเพียงว่าให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องโดยรวมที่โจทก์บรรยายว่านำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลย และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวประกอบด้วยแล้วแปลเจตนาของโจทก์ได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพที่มีการเพิกถอนนิติกรรมการให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องและนิติกรรมรายนี้มีการทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ทำเป็นหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลก็ย่อมพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ทำตามแบบดังกล่าวได้ทั้งหมด และเมื่อนิติกรรมการให้ถูกเพิกถอนก็ย่อมทำให้ที่ดินพิพาทกลับตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับ ส. ดังเดิม จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงต้องส่งมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่าง ส. กับจำเลยในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการได้เองตาม ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทย่อมกลับมีชื่อของ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีก จึงไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาไถ่ทรัพย์ขายฝากต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้นสิทธิในการไถ่ขาดอายุ การครอบครองหลังครบกำหนดถือเป็นการละเมิด
แม้การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก กฎหมายจะมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการขยายเวลาไถ่โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้รับไถ่ไว้โดยผู้แทนของโจทก์ตามความประสงค์ของนิติบุคคลซึ่งย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 กรณีการทำหลักฐานเป็นหนังสือในการขยายกำหนดเวลาไถ่ จึงเป็นสาระสำคัญ มิฉะนั้นไม่อาจบังคับกันได้ หาใช่เป็นเพียงแบบพิธีที่ต้องทำกันภายหลังครบกำหนดเวลาขายฝากดังที่จำเลยฎีกาไม่ แม้จำเลยนำสืบว่า ป. บุตรจำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้เจรจาตกลงได้ติดต่อกับ ส. ประธานกรรมการของโจทก์ ทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีข้อความที่ ป. ขอไปพบ ส. เพื่อทำสัญญาและนำของขวัญไปมอบให้ ส. ที่ให้โอกาสต่อสัญญาอีก 1 ปี ก็เป็นข้อความที่เกิดจากการส่งข้อความของ ป. แต่ฝ่ายเดียว โดยที่ ส. มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสนทนาโดยการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 ที่บัญญัติให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้วมาใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่จำเลยมิได้ชำระสินไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินซึ่งขายฝากทำให้โจทก์เสียหายจึงเป็นการละเมิด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าจากพฤติกรรมร้ายแรงและการใช้อำนาจปกครองบุตร
การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) การที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันเป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้นยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518
โจทก์มีอาชีพรับราชการถือว่าเป็นอาชีพมั่นคงมีรายได้แน่นอน ส่วนจำเลยมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นอาชีพมีรายได้ไม่มั่นคงเท่ากับโจทก์ ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่อยู่กับโจทก์ในทุกเรื่อง ทั้งยังอุปการะดูแลชำระค่าเล่าเรียนและให้ค่าใช้จ่ายรายวันแก่บุตรอีกคนซึ่งอยู่กับจำเลยด้วย บุตรที่อยู่กับโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะส่อไปในทางไม่เหมาะสม ส่วนบุตรที่อยูในความดูแลของจำเลยกลับมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าวเอาแต่ใจ และขาดเรียนบ่อยครั้ง นอกจากนี้การให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน รวมทั้งได้อยู่กับมารดาและพี่สาวซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ก่อนน่าจะเป็นผลดียิ่งกว่า จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว แต่จำเลยซึ่งเป็นบิดายังคงมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาเนื่องจากพ้นโทษแล้วกระทำผิดซ้ำภายใน 5 ปี แม้คำขอท้ายฟ้องมิได้ระบุขอเพิ่มโทษโดยชัดแจ้ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าก่อนคดีนี้ จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 7 ปี 18 เดือน และปรับ 400,000 บาท ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานมีและพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 255/2556 และจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน นับโทษจำคุกต่อในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 255/2556 ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2556 จำเลยพ้นโทษทั้งสองคดีดังกล่าวแล้ว ภายหลังพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งคดีก่อนและคดีนี้มิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และมิใช่ความผิดซึ่งจำเลยได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ขอศาลเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยหนึ่งในสามของโทษสำหรับความผิดในคดีนี้ และในคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 90, 92, 371, ดังนี้คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวถึงข้อที่ว่าจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว และจำเลยมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ อันจะเป็นเหตุให้ถูกเพิ่มโทษ และโจทก์ได้อ้างบทบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะมิได้ระบุขอให้เพิ่มโทษจำเลยไว้อีกก็ตาม ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพกับรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง ย่อมแสดงว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในคำขอให้เพิ่มโทษด้วย จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 92 หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงทองคำ - การบังคับชำระราคาทองคำที่แท้จริง - อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปหลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ