คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 91

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,422 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสมคบองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับการกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน เป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคบโดยรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลกระทำการชักชวน ว. ให้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น โดยจะให้เงินเป็นการตอบแทนเพื่อกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยความผิดดังกล่าวจะกระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกให้ ว. ไปรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้วนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิผสมกับไข่ใส่เข้าไปในรังไข่ของ ว. ซึ่งสามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าออกจากกันได้ ความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่, ฟอกเงิน, และฉ้อโกงประชาชน: การปรับบทและลงโทษที่ถูกต้อง
แม้บัญชีธนาคาร ก. สาขาซีคอนสแควร์ เลขที่บัญชี 659-1-32XXX-X ของจำเลยที่ 4 ที่มีการรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีนี้ เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 7 ในคดีดังกล่าว เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและความผิดฐานฟอกเงินเช่นเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคนละคนกัน และการรับโอนเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคดีมาเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวต่างวันต่างเวลากัน แม้การกระทำความผิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สามารถแยกเจตนาในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ศาลจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นความผิดคนละกรรมกันกับคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรี ท. และเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ: การสมคบเพื่อค้ามนุษย์ และความผิดต่อเนื่องในการช่วยเหลือคนต่างด้าว
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2) มีองค์ประกอบของความผิด คือ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติ คำว่า "องค์กรอาชญากรรม" หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปรวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม คำว่า "องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ" หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ความผิดที่กระทำในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ... และคำว่า "ความผิดร้ายแรง" หมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น ซึ่งความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นและช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2)
อนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยังร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดนั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจัดให้มีการเล่นพนันฟุตบอลต่างประเทศ ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศ เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสามฐานร่วมกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวอีกกระทงหนึ่งได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับนั้น เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์เงินสินบนนำจับนำเจ้าพนักงานไปจับกุมจำเลยทั้งสาม จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้กู้ยืมเงินเกินอัตราดอกเบี้ย: เป็นกรรมต่างกัน, ริบของกลางซ้ำ
ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า ...จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค...อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ...(3) การธนาคาร.." แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า "ผู้ใด" ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้อง
ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรม การลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และการรอการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านจัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันเล่นพนันสนุกเกอร์ ซึ่งสภาพแห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกันได้ และเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จึงเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันสนุกเกอร์ด้วย อันมีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดสำเร็จอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันและความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันและร่วมเล่นการพนันก็เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อลงโทษบทหนักตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานเรียกเงินต่อสัญญาจ้างหลายกรรมต่างกัน, ไม่รอการลงโทษ
การร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบและการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เรียกเงินและสนับสนุนการเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจาก พ. น. อ. และ ว. ซึ่งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป กับ ม. และ ช. ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง แตกต่างกันทั้งจำนวนเงินและระยะเวลา ประกอบกับหากบุคคลทั้งหกคนใดคนหนึ่งให้เงินหรือไม่ให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่บุคคลทั้งหกเป็นรายบุคคลไป แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ที่ประสงค์จะให้เกิดผลของการกระทำความผิดต่อบุคคลทั้งหกแยกออกจากกันโดยชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การแจ้งความล่าช้าและการร้องทุกข์เฉพาะความผิดปลอมเอกสาร ทำให้คดีขาดอายุความ
เช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารเพื่อฉ้อโกงประกันสังคม: การพิจารณาความผิดหลายกรรม, เจตนา, และโทษ
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยมีรายละเอียดว่า โจทก์ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยมาโดยตลอด ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย ซึ่งการวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องย้อนไปวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ เพิ่งยกข้อเท็จจริงนั้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ อันไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบแล้ว
การกระทำความผิดในแต่ละวันเกิดเหตุจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่จำเลยมีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้ประกันตนที่ถูกปลอมเอกสารแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า วันเกิดเหตุแต่ละวันจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอมเพื่อจะนำไปใช้ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์และคลินิกมีรายได้จากการบริการทางการแพทย์จากบุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยแต่ละวันเกิดเหตุจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการปลอมเงินตราและใช้เงินปลอมลักทรัพย์ การหักวันคุมขัง และการแจ้งข้อหา
จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราธนบัตรของรัฐบาลไทยชนิดราคา 100 บาท และมีธนบัตรปลอมนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นของปลอม เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ทำปลอมและมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อนำออกใช้แล้ว จากนั้นจำเลยนำธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์ ด้วยการใส่ธนบัตรปลอมดังกล่าวเข้าไปในช่องรับเงินของตู้เติมเงินบุญเติมของผู้เสียหายเพื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของผู้มีชื่อที่จำเลยมีหรือเปิดไว้ใช้งานโดยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาเงินดังกล่าวไป เป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
of 243