คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1382

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,662 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยต้องพิสูจน์การครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ต่อเนื่อง 10 ปี
ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า เดิมที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 2 คัดค้านเป็นของ พ. ที่ขายให้จำเลยที่ 1 และ อ. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วบุคคลทั้งสองยกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่มาของการที่จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินของ พ. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มาแต่ต้น อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เองได้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทซ้ำกับคดีก่อน ศาลฎีกาพิจารณาว่าเป็นการรื้อฟ้อง
ต. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ต. และผู้ร้องต่างยื่นคำร้องว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า ต. และผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและตกเป็นของ ต. กับผู้ร้องร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่ ต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ต. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นการกระทำแทนผู้ร้องด้วย ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกันกับ ต. ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า ต. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของผู้ตาย หาใช่ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีถึงที่สุด เช่นนี้แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นการยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับคดีก่อน จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการสั่งให้เป็นคนสาบสูญต่อสิทธิในทรัพย์สินและการนับอายุความฟ้องเรียกคืน
ตามบทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475-2476/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเพิกถอนการโอนหุ้นในคดีล้มละลาย ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
หากการโอนหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องที่ 1 ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109 (1) ฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นเองได้นั้น ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไว้ การเพิกถอนการโอนหุ้นจึงต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคําพิพากษาของศาล ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องยื่นคําร้องในคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
การโอนหุ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แม้การโอนหุ้นไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ครอบครองปรปักษ์ในหุ้นดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ของผู้ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าของรวม
ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ถูกกระทบจากการยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีภาษี ผู้มีสิทธิยึดทรัพย์มีสิทธิคัดค้านได้
แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายมีข้อห้ามโอน & การครอบครองแทนเจ้าของ: สิทธิเรียกร้อง & กรรมสิทธิ์
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 และโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ภายในเวลาสิบปีตามข้อกำหนดห้ามโอนก็ตาม แต่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต่างรู้ว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนและตกลงกันว่าจะโอนให้แก่กัน ณ สำนักงานที่ดินมะขาม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นเวลาภายหลังพ้นข้อกำหนดห้ามโอนในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 แล้วเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่จำเลยครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่โจทก์จะขายให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทนั้นไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเอง ตราบใดที่จำเลยมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 การครอบครองที่ดินของจำเลยจึงเป็นการยึดถือแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการถือสิทธิครอบครองเด็ดขาดเป็นของตนในฐานะเจ้าของไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเสร็จเด็ดขาดในระหว่างที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมีผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์และบังคับกันได้ในลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิ และเป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะว่ากล่าวเอาความแก่โจทก์ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้และสัญญา และเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นยันแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ร้องสอดบังคับคดีภาษีอากรยึดทรัพย์สินก่อนการครอบครองปรปักษ์: ศาลรับคำร้องโต้แย้งสิทธิได้
ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อมีคำสั่งยึดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 12 ทวิ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้ว่าผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็เป็นการดำเนินการหลังจากที่ผู้ร้องสอดยึดที่ดินพิพาทไว้แล้ว อันมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจดทะเบียนที่ดินนั้นชอบหรือไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดในชั้นบังคับคดีตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความ: การใช้ทางโดยเข้าใจว่าเป็นสาธารณะ ไม่ถือเป็นการใช้โดยปรปักษ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2544 จำเลยทั้งสี่ให้สภาตำบลศรีพรานทำถนนดินระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสี่โดยงบประมาณของสภาตำบลศรีพราน ต่อมาก็นำงบประมาณมาทำเป็นถนนคอนกรีตเพื่อให้เป็นเส้นทางเดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และประชาชนทั่วไปเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลศรีพรานเป็นผู้ก่อสร้างถนนพิพาทตั้งแต่ปี 2548 แสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะมาตั้งแต่ต้น การใช้สิทธิผ่านทางพิพาทของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการใช้โดยปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาท เพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 แม้หากจะฟังว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่เป็นภาระจำยอมเพื่ออสังหาริมทรัพย์แก่ที่ดินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ภาษีอากรในการร้องสอดคดีครอบครองปรปักษ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิในการบังคับชำระหนี้
ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวถือเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้องถือเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งหากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)
of 167