พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีฟอกเงิน: การใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ กับคดีที่ยังไม่ได้ฟ้อง และหลักการใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด
ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ" นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว..." ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีอาญาและแพ่งควบคู่กัน การรับฟังพยานหลักฐาน และการวินิจฉัยของผู้เสียหาย
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสามารถพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งขึ้นมาวินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้ศาลสามารถนำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งมาวินิจฉัยในคดีส่วนอาญาได้ ทั้งปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งจึงไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
ในคดีส่วนอาญาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คู่ความจะนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง การรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น หากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วย ศาลก็เพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น แต่ไม่อาจด่วนพิพากษาให้ความรับผิดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพับและยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ เพราะต้องถือว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องก็บ่งชี้อยู่ว่าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งจึงไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
ในคดีส่วนอาญาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คู่ความจะนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง การรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น หากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วย ศาลก็เพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น แต่ไม่อาจด่วนพิพากษาให้ความรับผิดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพับและยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ เพราะต้องถือว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องก็บ่งชี้อยู่ว่าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 766/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการงานนอกสั่ง สมประโยชน์ตัวการ แม้ไม่มีสัญญาจ้าง แต่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดใช้
การที่นายสถานีของสถานีขนส่งสินค้าของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ยังคงปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรต่อไป แต่กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เกิดความชัดเจนที่แสดงว่าจำเลยปฏิเสธไม่ให้โจทก์ปฏิบัติงานอีกต่อไปภายหลังจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วประกอบกับต่อมาโจทก์มีหนังสือฉบับแรกลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบกให้ชำระค่าบริการหรือค่าจ้างในเดือนตุลาคม 2560 โดยอ้างถึงสัญญาจ้างทั้งสามฉบับระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า ภายหลังครบกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์ยังคงให้บริการรักษาความปลอดภัยและเข้าปฏิบัติงานที่สถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งเรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จำเลยมิได้ทักท้วงแต่อย่างใด หลังจากนั้น โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2561 แจ้งไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอีกครั้งให้ชำระค่าบริการโดยอ้างถึงสัญญาและการเข้าปฏิบัติงานเช่นเดียวกับหนังสือฉบับแรก จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์แล้ว แต่ไม่ได้ตอบกลับไปยังโจทก์ อันเป็นกรณีที่จำเลยนิ่งเฉยเสียไม่ได้ชี้แจงหรือปฏิเสธให้เห็นได้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่หนังสือทวงถามให้ชำระค่าจ้างแก่โจทก์นั้น มีผลกระทบต่อจำเลยให้ต้องเสียประโยชน์โดยตรง พฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรภายในสถานีขนส่งสินค้าทั้งสามแห่งให้จำเลยและจำเลยได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานตามลักษณะงานปกติเช่นที่โจทก์เคยปฏิบัติมา การที่โจทก์ให้บริการต่อมาอีก 1 เดือน แต่หาได้มีการจัดจ้างโจทก์ จึงไม่ได้มีการต่อสัญญา เป็นกรณีโจทก์เข้าจัดการงานของจำเลยโดยไม่มีหน้าที่ แต่การให้บริการของโจทก์สมประโยชน์ของจำเลยตัวการ จึงปรับบทในเรื่องจัดการงานนอกสั่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการให้บริการตามอัตราค่าจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเดิมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลดโทษทางอาญา: ลดโทษรายกระทงก่อนรวมโทษตามกฎหมาย และการพิจารณารอการลงโทษ
การที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพยายามจำหน่ายอาวุธปืน จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี แล้วจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูก ศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้บทลงโทษฐานพยายามจำหน่ายอาวุธปืนให้ถูกต้องและแก้โทษฐานพาอาวุธปืนฯ เท่านั้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขการลดโทษดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175 อาญา แม้คดีถึงที่สุดแล้วก็ยังมีความผิดอยู่ หากเป็นการกล่าวหาเท็จในทางอาญา
ความผิดตามมาตรา 175 แห่ง ป.อ. มุ่งหมายเพียงว่าเอาความอันเป็นเท็จฟ้องกล่าวหาผู้อื่นในทางอาญาเท่านั้นก็เป็นความผิดแล้ว มิได้บัญญัติว่าเป็นความเท็จที่จะทำให้มีความผิดทางอาญา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้แกล้งกล่าวหากันในทางอาญาอันจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องได้รับความเดือดร้อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อมูลสำคัญช่วยขยายผลคดียาเสพติด ผู้ให้ข้อมูลมีสิทธิได้รับโทษน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำ
หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดของกลาง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจะนำของกลางไปส่งให้ผู้รับจนสามารถจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนชนิดผลึกเป็นของกลางเพิ่มเติม นับว่าการให้ข้อมูลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้มีการขยายผลจนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิ้นสุดสัญญาเช่านา ศาลบังคับรื้อถอนทรัพย์สินออกจากที่ดิน
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมกับรื้อถอนบ้านออกไปจากที่นาพิพาท จึงเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ มาตรา 1 (3) และเมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านจึงเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่ผู้ร้องทั้งสามมิได้ฟ้องขอให้บังคับขับไล่และรื้อถอน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาเพียงให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลจึงมิได้วินิจฉัยตามคำฟ้องของผู้ร้องทั้งสามทุกข้อไม่ชอบด้วยมาตรา 142 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) โดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ซึ่งเมื่อสัญญาเช่านาพิพาทสิ้นสุดลงแล้ว ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่นาพิพาทของผู้ร้องทั้งสามต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกักตัวคนต่างด้าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สถานที่กักขังไม่เหมาะสม และการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
การกักตัวคนต่างด้าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่อยู่ในความหมายบทนิยาม "คุมขัง" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (12) โดยที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวคนต่างด้าวไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสม แต่การที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่มีห้องกักตัวที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง แล้วนำผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวไปกักตัวไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ จึงมิใช่เป็นการกักตัวผู้ร้องไว้ ณ สถานที่เหมาะสม และกรณีมีเหตุจำเป็นต้องกักตัวผู้ร้องไว้เกินกำหนดเจ็ดวัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวต่อไปอีก เป็นการไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคสอง การกักตัวผู้ร้องไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจดังกล่าว จึงเป็นการคุมขังในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90