คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เชด กวีบริบูรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันจำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามิน) แม้ไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบ ศาลพิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางกับ ช. จากนั้น ช. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ ว่าจ้าง ณ. นำไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลักษณะการตกลงกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.ยาเสพติด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทันรับมอบ ณ. นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานตำรวจและ ช. ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยการพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง กับฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 126 แม้จำเลยที่ 1 สมคบกับ ช. เพียงผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดหาลูกค้าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางจาก ช. โดยไม่ปรากฏว่าจะนำไปจำหน่ายต่อแก่ผู้อื่น และไม่มีการแบ่งกำไรกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมกับ ช. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง ของกลาง ที่ค้นพบภายในห้องพักของ ช. แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 พยายามมีไว้ในครอบครองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้มีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ และจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน vs. ร่วมลงทุน: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อคำพิพากษา
แม้จำเลยให้การรับว่าได้รับเงินโอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้งและพิมพ์คำว่า "ตกลง" ในโปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยเป็นการรับตามที่ปรากฏในฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์อ้างเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ (LINE) ซึ่งจำเลยรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบเช่นนี้จริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ (LINE) แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นรับฎีกาที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้สืบสันดาน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 24 เดือน ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นใดซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 38 กระทง เป็นจำคุก 152 ปี 304 เดือน รวมจำคุกทุกกระทง 166 ปี 328 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา เพราะจำเลยสำคัญผิดหรือหลงผิดในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเพียง 5 ครั้ง แต่มิได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอื่นนอกจากความผิดฐานอนาจารดังกล่าว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์แห่งคดีและจากพยานหลักฐานที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังมาเป็นข้อชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาเกี่ยวกับพยายามฆ่าและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง แม้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ แต่โจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์ 15,000 บาท อันเนื่องมาจากการกระทำในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า รถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าซ่อมรถยนต์เข้ามาในคดีอาญานี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893-4895/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใช้เอกสารปลอมหลอกขายที่ดินว่างเปล่า ศาลพิพากษาแก้โทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์ร่วมทั้งสองถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เอกสารราชการสำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและสำเนาระวางที่ดินปลอมมาหลอกลวงขายที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอาคารอะพาร์ตเมนต์ อยู่ใกล้ถนนพัทยาใต้ติดแหล่งชุมชนจนหลงเชื่อ แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีพฤติการณ์เรียกผลประโยชน์ตอบแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างมาในฎีกาก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเป็นคนละส่วนกับต้นเงินที่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องเสียไปในการซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม
โจทก์ร่วมที่ 1 ต้องสูญเสียเงิน 14,520,000 บาท เนื่องจากถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกร่วมกันหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้ศาลจะไม่ได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงเนื่องจากเป็นบทเบากว่าความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนเงินจำนวน 14,520,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ร่วมที่ 1 อย่างไร จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบที่จะไปดำเนินคดีทางแพ่งตามสิทธิของตนต่อไป
โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงว่า ที่ดินพิพาทมีอาคารอะพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ มิใช่เพราะหลงเชื่อว่าจะมีการซื้อคืนในราคา 17,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพวกของตนมาแอบอ้างแสดงตนเป็น บ. ผู้จะซื้อคืน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่การหลอกลวงขายที่ดินพิพาทอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) เท่านั้น หาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 341 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีขับรถในขณะเมาสุราฯ จำเลยฎีกาว่าต้องลงโทษฐานประมาท แต่ศาลฎีกาเห็นว่าบทขับรถเมาฯ โทษหนักกว่า
ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท แม้บทกฎหมายที่ระวางโทษในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกขั้นสูงเท่ากัน คือ จำคุกไม่เกินสิบปีแต่ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสามปีด้วย ความผิดดังกล่าวจึงมีโทษหนักกว่าความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จึงต้องลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 42 (2), 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 3 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้แก้ไขบทมาตราแห่งความผิดเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้นจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดโทษ ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเก่า
ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเบียดบังทรัพย์โดยเจ้าพนักงาน, รับของโจร, การใช้กฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่, และการกำหนดราคาค่าเสียหาย
เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เบียดบังเอาพระพุทธรูปดังกล่าวไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนพระพุทธรูปดังกล่าวแก่วัดผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคา ส่วนของการใช้ราคานั้น ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคสอง บัญญัติว่า "ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง..." คดีนี้โจทก์คงมีแต่บันทึกคำให้การของ ป. ผู้กล่าวโทษว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ ราคาประมาณ องค์ละ 1,500,000 บาท และบันทึกคำให้การของ ว. ว่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท มาใช้เป็นข้อมูลและหลักในการกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เท่านั้น ป. และ ว. เป็นราษฎรในท้องที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีราคาพระพุทธรูปหรือเป็นผู้ทำการงานหรือผู้ประกอบการในการซื้อขายพระพุทธรูป ราคาหรือมูลค่าพระพุทธรูปที่กล่าวถึงเป็นเพียงการกะประมาณตามความรู้สึก อีกทั้งพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เป็นวัตถุโบราณ ราคาหรือมูลค่าจึงมากบ้างน้อยบ้างเป็นไปตามใจของแต่ละคนที่ได้เกี่ยวข้องพบเห็น ยังไม่แน่นอน ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่พอจะกำหนดราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ให้แน่นอนได้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดราคาอันแท้จริงของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ที่ต้องใช้คืนได้ ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดให้ใช้ราคาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครอง, โมฆะกรรม, ผู้มีส่วนได้เสีย, นิติกรรมจำนอง, ผลกระทบต่อสิทธิ
อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน
of 2