คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เผด็จ ชมพานิชย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการเป็นโจทก์และการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลประโยชน์ขัดกัน
ความผิดฐานกระทำอนาจาร พยายามกระทำชำเรา และกระทำชำเรา ผู้เสียหายเท่านั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย แต่ขณะเกิดเหตุผู้คัดค้านและจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย แม้ภายหลังจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อีกทั้งโจทก์คัดค้านคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้คัดค้าน เพราะมีพฤติการณ์กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ อาจทำให้คดีของโจทก์เสียหาย เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เสียหาย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพราะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เสียหาย จึงทำให้ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังพ้นกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และผลบังคับใช้ของสัญญาจำนำหุ้น
ตามคําร้องสอดผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าจําเลยไม่เคยมีการประชุม และมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โจทก์และกรรมการชุดใหม่ของจําเลยฉ้อฉลทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จําเลย ผู้ร้อง และผู้ถือหุ้นเสียหาย คําร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลยและเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์และกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อสถานะของผู้ร้องสอด และกระทบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดี และมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ ทั้งจําเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่มีคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่จําเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้
โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจําเลยในขณะนั้น และยังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แม้ตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้จะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัท ผ. ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า โจทก์ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. ทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมในการดำเนินการจดทะเบียน ดังนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา หากบริษัท ผ. มีความพร้อมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เมื่อนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียในการใช้หนี้ และเข้าใช้หนี้นั้นแทนจําเลยซึ่งจะมีผลให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ผ. เรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) แม้ขณะจําเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. แต่ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลง ข้างต้น ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อให้บริษัท ผ. นําไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารโดยอ้างถึงข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ แสดงว่าโจทก์เข้าผูกพันตนชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโดยการส่งมอบเอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ผ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชําระหนี้ และบริษัท ผ. ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากการกระทำผิด พ.ร.บ.แร่ แม้ไม่มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า "บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 132 ทวิ... มาตรา 148... ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยมิต้องคำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงไม่จำต้องฟ้องหรือขอให้ลงโทษผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดมาด้วย และมีความหมายรวมตลอดไปถึงกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอันเนื่องมาจากคดีขาดอายุความซึ่งมีผลในทำนองเดียวกันคือไม่มีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นแล้ว รถพ่วงของกลางซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องริบเสียทั้งสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถบรรทุกที่ใช้ขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ครอบครองต้องพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ส. ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถไปโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วงซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงจำนวน 22 คัน ส. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกขนหินว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ที่ระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทาง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านจึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ส. จะกระทำความผิดและมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สิน (รถบรรทุกและแร่) ที่ใช้ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.แร่ แม้ไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงลอย ๆ ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง และไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ว. ขณะเกิดเหตุได้ให้ ป. เช่าช่วงรถไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ว. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกขนหินว่าเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้างให้ขับรถขนหิน ตามบันทึกการตรวจยึด/กล่าวโทษ ประกอบกับตามสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่ง มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. และผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง ว. และสั่งให้ ว. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านจึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ว. จะกระทำความผิดและมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สิน (รถบรรทุกและแร่) จากความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ เนื่องจากเจ้าของรถมีโอกาสทราบถึงการกระทำผิด
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดหรือจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง โดยไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติได้ ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วง 22 คัน พ. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกของกลางว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ซึ่งระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของห้างในช่องผู้ประกอบการขนส่ง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านย่อมมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า พ. จะกระทำความผิดและจะนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม เมื่อรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3647/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีป่าไม้ จำเลยกระทำความผิดฐานแปรรูปและมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แต่ไม้ดังกล่าวไม่ใช่ไม้หวงห้าม จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ก. และ ข. ว่าจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองจำนวน 2,488 ท่อน ปริมาตรรวม 24.58 ลูกบาศก์เมตร เป็นสองกระทงความผิด โดยตามฟ้องข้อ 2 ก. ยังบรรยายอีกว่า นอกจากจำเลยทำการแปรรูปไม้แล้วยังมีไม้แปรรูปจำนวนเดียวกันตามคำฟ้องข้อ 2 ข. อยู่อีกจำนวน 2,488 ท่อน ปริมาตรรวม 24.58 ลูกบาศก์เมตร เพื่อต้องการแยกการกระทำความผิดของจำเลยให้ชัดแจ้ง และบรรยายองค์ประกอบความผิดของแต่ละฐานความผิดให้ครบถ้วน คือ ฐานแปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น แม้ไม้ดังกล่าวจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม โจทก์ก็จะต้องบรรยายฟ้องให้มีรายละเอียดต่าง ๆ ของจำนวนไม้ท่อน และปริมาตรของไม้แปรรูป เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องซ้ำซ้อนแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50 บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งมาตรา 48 มิให้ใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...(2)...(3)...(4) การแปรรูปไม้หรือมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองที่มิใช่ไม้หวงห้าม" การแปรรูปไม้และการมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง จึงต้องเป็นการกระทำต่อไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่เป็นไม้ที่ขึ้นในป่านั้น ไม้ชนิดใดจะเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดจะต้องกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา คดีนี้โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่าภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยทำการแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปชนิดอื่น ซึ่งมิใช่ไม้หวงห้ามประเภท ก. และประเภท ข. ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 จำนวน 2,488 ท่อน รวมคำนวณปริมาตรไม้ได้ 24.58 ลูกบาศก์เมตร และไม้แปรรูปที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ บานประตู 5 บาน วงกบหน้าต่าง 10 วง และบานหน้าต่าง 6 บาน ซึ่งเป็นไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกินสองลูกบาศก์เมตรไว้ในความครอบครองของจำเลย ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม้ที่จำเลยแปรรูปและมีไว้ในครอบครองนั้นมิใช่ไม้หวงห้าม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, การสนับสนุนความผิด, เจตนา, ความผิดฐานยักยอก, การคืนทรัพย์
โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ บ. ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของ บ. ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่ บ. ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ช. ผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งจาก ช. ว่า ช. มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ส. และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้ง ช. เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ช. นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของ ช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 96
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอก ป. เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3398/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยใช้อาวุธข่มขู่ ยื้อแย่งจนปืนลั่น ศาลแก้เป็นประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ลดโทษและรอการลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ได้ความจากทางพิจารณาว่า เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 แม้จะเป็นการแตกต่างจากฟ้อง แต่การต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า นาย ส. นาย อ. และบุคคลอื่นเข้ามาขัดขวาง ยื้อแย่งอาวุธปืน เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น สะเก็ดกระสุนปืนถูก นาย อ. และ นาย ส. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยนำสืบว่า มีการแย่งอาวุธปืนทำให้ปืนลั่น และหลังเกิดเหตุจำเลยไปเยี่ยม นาย อ. และ นาย ส. ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนปืน แสดงว่า จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินและต้นไม้ การพิสูจน์เจตนาในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ และการประเมินราคาความเสียหาย
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
ที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม
of 5