คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชลิต กฐินะสมิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 71 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมเงินที่มีลักษณะคล้ายการซื้อขายที่ดิน ศาลฎีกาตัดสินให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การที่โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปชำระหนี้และจัดสรรที่ดินพิพาท และจำเลยตกลงจะชำระเงินคืนให้แก่โจทก์พร้อมผลตอบแทน โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยจะขายที่ดินพิพาทหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยในลักษณะเป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยโดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรจากการจัดสรรที่ดินพิพาท กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนแต่เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีการกำหนดวิธีใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ และแม้สัญญาจะใช้ชื่อว่าสัญญาข้อตกลงเรื่องที่ดินและสัญญาต่างตอบแทน แต่เมื่อเจตนาของคู่สัญญาเป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมเงิน และผลตอบแทนที่จำเลยตกลงให้แก่โจทก์นั้นถือว่าเป็นดอกเบี้ย เมื่อสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเอกสารราชการที่ไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 จะต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ออกคำสั่งรื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ส่วนที่ก่อสร้างต่อเติม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/75 ด้วย การแก้ไขข้อความบันทึกการตรวจสอบโรงงานและแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานที่ระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 ว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/79 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องว่าประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวนให้ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารตามความจริง กลับเป็นประโยชน์แก่โจทก์ การแก้ไขข้อความในเอกสารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เมื่อนำไปใช้จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184-1187/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยมิชอบ ความผิดตามมาตรา 269/5 แม้ได้รับมอบหมายให้ใช้แต่ใช้นอกเหนือจากที่ได้รับมอบหมายถือเป็นความผิด
โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารให้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ ชำระหนี้อื่นแทนการชำระเงินสด ใช้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น ใช้ในการเบิกถอนเงินสด หรือใช้ในธุรกรรมอย่างอื่น ถือได้ว่าเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของมาตรา 1 (14) (ข) แห่ง ป.อ.
ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านที่โจทก์ร่วมได้รับมา เป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารและโจทก์ร่วมในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโจทก์ร่วมต้องเก็บรักษาเป็นความลับของตนมิให้ผู้ใดล่วงรู้ การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยการบอกข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้าง ก็เพื่อให้ทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตแทนโจทก์ร่วมให้เป็นไปตามที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำ หาใช่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เกินกว่าที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำไม่ การที่จำเลยที่ 2 ใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านของโจทก์ร่วมโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ร่วมไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจและโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายสูญเสียเงินฝากในบัญชี จึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลลดค่าปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383
หากโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามที่ระบุในสัญญา จำเลยผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดค่าปรับซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่อเนื่องจากองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การริบยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด
การจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่า มีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อช่วยเหลือนำพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน ให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน เข้ามาในราชอาณาจักรย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน เข้ามาในราชอาณาจักร แต่เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้ง 17 คน พ้นจากการจับกุมจึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ ทั้งจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
จำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนีร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้รถกระบะของกลางนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และช่วยเหลือคนต่างด้าวเดินทางข้ามหลายจังหวัด การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงมิได้ใช้รถของกลางอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป แต่เป็นการใช้รถกระบะของกลางกระทำความผิดโดยตรง ตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500-501/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยผิดสัญญา, อนุญาโตตุลาการ, การบังคับตามคำชี้ขาด, การโต้แย้งดุลพินิจ
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ซึ่งในการยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณามีเพียงว่าศาลจะบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น โดยศาลอาจปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดหากมีเหตุตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 และ 45 สำหรับคำร้องในส่วนที่ขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับให้ได้ ดังนั้น การที่ผู้ร้องขอถอนคำร้องในส่วนที่ขอบังคับตามสัญญาจำนำหุ้นซึ่งไม่ได้อยู่ในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้เหลือประเด็นเฉพาะการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบต่อประเด็นหลักที่ศาลต้องพิจารณาในคดีนี้ และไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจะพิจารณาเฉพาะตัวคำชี้ขาดตามคำร้องเท่านั้น ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์อ้างทำนองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจำนำหุ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ คงให้เหลือเฉพาะประเด็นการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เท่ากับเป็นการอนุญาตให้แก้ไขคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 179 นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นมีเนื้อหาเป็นการขอถอนคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับจำนำหุ้นและขอแก้เป็นให้บังคับเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อันมีลักษณะเป็นการสละข้อหาตามคำร้องเดิมบางข้อออกไป โดยไม่มีการเพิ่มเติมข้อหา ข้อกล่าวอ้าง หรือข้อเท็จจริงอื่นใดอันจะมีผลทำให้คำร้องในส่วนที่ไม่ชอบกลับมาเป็นคำร้องที่ชอบ เมื่อไม่ปรากฏว่าการที่ผู้ร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งได้ความว่าการถอนคำร้องดังกล่าวไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องเสียเปรียบดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งดังกล่าวมานั้นจึงชอบแล้ว
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า การที่สัญญาการเข้าร่วมกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเพียงฝ่ายเดียวนั้นขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อบังคับของสำนักงานศาลยุติธรรมที่กำหนดให้เป็นสิทธิของคู่พิพาท และยังถือเป็นการจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของคู่สัญญาอีกฝ่ายในการแสวงหาหรือการเข้าถึงความยุติธรรมในศาล ขัดต่อหลักกฎหมายอังกฤษ หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติกรรม ข้อสัญญาดังกล่าวจึงถือเป็นข้อสัญญาที่บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า วิธีอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการระงับข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศดังที่ปรากฏตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็นำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย ทั้งประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ต่างก็เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ.1958 แห่งสหประชาชาติ หรืออนุสัญญานิวยอร์ก (The United Nations Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards, The New York Convention) ดังนั้น แม้สัญญาการเข้าร่วมจะกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพราะเมื่อผู้ร้องเลือกที่จะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามข้อบังคับศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (SIAC Rules) โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำคัดค้านต่อสู้ในคดีดังกล่าวได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าการดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์จะทำให้ผู้ร้องได้เปรียบผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อย่างไร ทั้งเมื่อมีคำชี้ขาดแล้วหากผู้ร้องประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวในประเทศไทยก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และ 42 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็อาจยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดได้หากสามารถพิสูจน์ได้ตามมาตรา 43 ดังเช่นที่มีการดำเนินคดีนี้ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงยินยอมให้ผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิในการเลือกระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการจึงไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในการแสวงหาหรือเข้าถึงความยุติธรรมดังที่อ้างมาแต่อย่างใด ข้ออ้างในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า คำชี้ขาดกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทบต้นฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า ในส่วนของความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเงินที่สัญญาการเข้าร่วมกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แก่ผู้ร้อง ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และผลตอบแทนการมีส่วนร่วมที่ค้างชำระนั้น ได้ความตามที่อนุญาโตตุลาการและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้แล้วว่า เงินทั้งสามส่วนดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยแต่เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระให้แก่ผู้ร้อง ไม่ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะผิดสัญญาหรือไม่ การนำเงินสามส่วนแรกนี้มาคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่มีคำชี้ขาดจึงไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยทบต้น ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยหลังจากวันที่มีคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างว่ามีการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น เห็นว่า ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยถึงความชัดแจ้งของสัญญาการเข้าร่วม ข้อ 12 หัวข้อ "ดอกเบี้ยผิดนัด (Default Interest)" ข้อ 12 (บี) ซึ่งระบุว่า ดอกเบี้ยผิดนัด (หากไม่ชำระ) ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ค้างชำระนั้น สามารถคิดทบต้นกับเงินที่ค้างชำระได้ในวันครบกำหนดดอกเบี้ยค้างชำระเมื่อครบรอบปีแรก" อนุญาโตตุลาการเห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวทำให้ผู้ร้องสามารถคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ และเห็นด้วยกับผู้ร้องที่ขอให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายปี (Annual Basis) โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รับภาระน้อยที่สุด ดังนี้ คำชี้ขาดในส่วนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมกับต้นเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณของปีถัดไปอันเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายบริการ: การพิจารณาความหมายตามบริการที่เกี่ยวข้องและการพิสูจน์การใช้จริง
คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการโดยตรงนั้นต้องเป็นคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการอย่างตรงไปตรงมาจนถึงขนาดที่ว่าทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการทันที หรือหากสาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ เพราะเป็นคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง เครื่องหมายบริการคำว่า MY CLOUD ของโจทก์มีลักษณะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาประกอบด้วยสองภาคส่วน คือ ภาคส่วนคำว่า "MY" มีความหมายตามพจนานุกรม Oxford River Books English-Thai แปลว่า ของฉัน และภาคส่วน คำว่า "CLOUD" ซึ่งแม้คำนี้จะมีหลายความหมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และในส่วนความหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ก็มีความหมายที่แตกต่างกัน เมื่อการพิจารณาว่าคำในเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาประกอบกับสินค้าหรือบริการที่ขอจดทะเบียน การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่มีคำว่า "CLOUD" กับบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางคอมพิวเตอร์ สาธารณชนที่พบเห็นเครื่องหมายบริการของโจทก์ย่อมเข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางคอมพิวเตอร์ ดังนั้น คำว่า "CLOUD" จึงเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการของโจทก์โดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าคำว่า "CLOUD" เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการของโจทก์โดยตรง การที่โจทก์นำคำดังกล่าวมาประกอบกับคำว่า "MY" ในลักษณะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดา แยกส่วนออกได้เป็นสองคำ โดยที่คำว่า "MY" มีความหมายว่า ของฉัน ซึ่งเป็นความหมายโดยทั่วไปไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ เมื่อนำมาใช้ประกอบกับคำว่า "CLOUD" จึงไม่ได้เป็นการนำคำที่มีความหมายตามพจนานุกรมมาใช้อย่างอำเภอใจ แต่กลับเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบหรือเข้าใจได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น เครื่องหมายบริการคำว่า MY CLOUD ของโจทก์โดยภาพรวมจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) (เดิม)
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) บัญญัติว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ในเรื่องนี้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 กำหนดหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะว่า สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นได้มีการจำหน่าย เผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าหรือบริการอื่น เมื่อการนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้นั้นต้องเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเครื่องหมายบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนนั้นมีความแตกต่างจากบริการอื่นก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียน พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งนั้นจึงต้องมีลักษณะเป็นทำนองที่แสดงให้เห็นถึงการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียน กรณีจึงไม่อาจนำหลักฐานการโฆษณาเผยแพร่หลังจากวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการมาพิจารณาประกอบความมีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้สำหรับคำขอจดทะเบียนคดีนี้ ประกอบกับในเอกสารโฆษณาบางส่วนก็เป็นการโฆษณาเครื่องหมายบริการคำว่า MY CLOUD ประกอบคำว่า WD แตกต่างจากเครื่องหมายบริการที่ขอจดทะเบียน เครื่องหมายบริการคำว่า MY CLOUD ของโจทก์จึงไม่เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการที่มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าบริการของโจทก์แตกต่างไปจากบริการของบุคคลอื่น อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการใช้จนแพร่หลายตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสาม (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ: การเสนอประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเมื่อมีข้อพิพาทเรื่องอำนาจ
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จากหลักกฎหมายดังกล่าวเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์โดยไม่เสนอปัญหาให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5500/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาปฏิบัติการร่วมกันข่มขืนโดยใช้อาวุธ: จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนโดยใช้อาวุธ แม้ไม่ได้เป็นผู้ถืออาวุธเอง
จำเลยบอกให้ บ. ไปเรียกผู้เสียหายกับ พ. มาที่ห้องเช่าซึ่งจำเลยเข้าไปนอนรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อถึงห้องเช่า บ. กระชากตัว พ. เข้าไปในห้องแล้วหยิบไม้หน้าสามขึ้นมาถือขู่ ขณะเดียวกันจำเลยจับคอผู้เสียหายกระชากตัวไปยังที่นอนก่อนที่จะลงมือข่มขืนกระทำชำเรา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยกับ บ. มีเจตนาร่วมกันที่จะกระทำความผิดต่อผู้เสียหายและ พ. มาตั้งแต่แรก ห้องที่เกิดเหตุเป็นห้องโล่งขนาดเล็กมีเพียงที่นอนปูไว้ที่พื้น ส่วนไม้หน้าสามมีขนาดใหญ่เท่าท่อนแขนของคนอ้วน เมื่อ บ. กระชากตัว พ. เข้าไปในห้องแล้วก็หยิบไม้หน้าสามขึ้นมาขู่ทันที แสดงว่าไม้หน้าสามวางอยู่ในห้องก่อนแล้ว จำเลยเข้าไปนอนรอในห้องที่แคบเช่นนั้น ย่อมเห็นหรือรู้ถึงการมีอยู่ของไม้หน้าสาม หลังจาก บ. หยิบไม้หน้าสามมาขู่ จำเลยก็เริ่มข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย โดย บ. ถือไม้หน้าสามคอยคุ้มกันอยู่ตลอด เพื่อมิให้ พ. เข้ามาขัดขวางการกระทำความผิดของจำเลย ทั้งเมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเสร็จ บ. กับจำเลยก็หลบหนีออกจากห้องที่เกิดเหตุไปพร้อมกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้อาวุธ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเรา, การกระทำร่วมกัน, ความผิดฐานพาบุคคลไปเพื่อการอนาจาร, การแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ขณะจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในห้อง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 หรือ ก. ได้รออยู่หน้าห้องเพื่อจะเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนต่อไปอันมีลักษณะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน หลังจากจำเลยที่ 1 ออกไปนอกห้องแล้วก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องอีกจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นถึงได้มี ก. เข้าไปขอร่วมประเวณีกับผู้ร้อง 1 ครั้ง ซึ่งการกระทำของ ก. ห่างจากการข่มขืนกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 หลายชั่วโมง การกระทำของจำเลยที่ 1 และ ก. จึงมิใช่เป็นการร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก
ขณะจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในสวนปาล์ม จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวจนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและพาผู้ร้องออกมา จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ร่วมกันพาผู้ร้องไปที่บ้านร้างเกิดเหตุต่อ ครั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราอีกครั้งในบ้านร้าง จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณบ้านและรับรู้การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด ตามพฤติการณ์ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 276 วรรคแรก เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
of 8