คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,295 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินมรดก: สิทธิยังไม่บริบูรณ์ก่อนจำนอง ห้ามใช้บังคับกับบุคคลภายนอก
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3298/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน กรณีการทุจริตโครงการก่อสร้าง แม้จะเกิดก่อนบังคับใช้กฎหมาย
คำเบิกความของพยานผู้ร้องประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ซึ่งวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ร. ก. และ ว. มีความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงขายที่ดินให้แก่กรมควบคุมมลพิษตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 ร. ก. และ ว. แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่เป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน
ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายที่ดินก็ตาม แต่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 51 วรรคสาม ก็ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ร่วมกระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้ที่มีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีการทำธุรกรรมกับผู้กระทำความผิดด้วย เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า N และผู้คัดค้านที่ 1 กับบริษัทอื่นในกิจการร่วมค้า N ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ ว. ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจากบริษัท ค. ที่ ว. ถือหุ้นอยู่ เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ ย่อมรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน
เงินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงินที่ผู้คัดค้านทั้งสามได้รับมาตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่กิจการร่วมค้า N ทำกับกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้ความว่าสัญญาดังกล่าวและสัญญาจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการเกิดขึ้นโดยการทุจริตและกิจการร่วมค้า N เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการทุจริตดังกล่าว โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินและขายที่ดินให้กรมควบคุมมลพิษมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบริษัทหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N กับได้ความว่า บริษัทผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวพันและกรรมการบริษัทของผู้คัดค้านทั้งสามที่เกี่ยวข้องก็ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้รับไปตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างฯ ที่ทำกับกรมควบคุมมลพิษจึงเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 แม้มิได้เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N แต่ก็เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า N นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ยังมี ร. เป็นกรรมการซึ่งมีความเกี่ยวพันกับบริษัทที่ร่วมกระทำความผิดทั้งในกลุ่มจัดหาที่ดินและกลุ่มประมูลงานก่อสร้างโครงการ และ ร. ได้นำผู้คัดค้านที่ 3 เข้าร่วมกระทำความผิดด้วย เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ ร. จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ ย่อมถือได้ว่าเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับไปตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างฯ ที่กิจการร่วมค้า N ทำกับกรมควบคุมมลพิษเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งแม้เงินดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ แต่ก็เป็นการจ่ายตามมูลสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้าง ฯ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับการทุจริตจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการ ทั้งการพิจารณาคดีนี้กับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นการพิจารณาวินิจฉัยคนละประเด็น โดยศาลปกครองสูงสุดมิได้พิจารณาประเด็นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และการทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ถึงแม้การจ่ายเงินตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างฯ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษแก่กิจการร่วมค้า N จะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็อาจถูกสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้
คดีขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา และมูลเหตุการขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้รับเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก อันเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้ทางแพ่งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ไม่อยู่ในบังคับอายุความตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องได้โดยไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยชอบ การเพิกถอนนิติกรรมเนื่องจากหลอกลวง/ไม่สุจริต และอำนาจการฟ้อง
ตามสำเนาคำขอโอนมรดกเฉพาะส่วน สำเนาบันทึกถ้อยคำเรื่องผู้จัดการมรดกรับโอนมรดก และสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 13015 ได้ความว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. รับโอนมาให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของ ป. เจ้ามรดก ดังนี้ การขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 82 วรรคสอง ถือได้ว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกได้กระทำโดยชอบตามกฎหมาย หากทายาทคนอื่นของ ป. เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวได้กระทำโดยชอบตามกฎหมายโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น นิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินส่วนดังกล่าวตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีผลสมบูรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้อุทธรณ์แต่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์โดยกล่าวโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาโดยเสน่หาและโดยสมัครใจ จำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ให้ทำนิติกรรม และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยสุจริต ดังนี้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยเพราะคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ และปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมา และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยไม่สุจริตตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างหรือไม่ โดยพยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ท. มาหลอกลวงโจทก์ให้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่อ้างในฟ้อง นิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อบกพร่องตามกฎหมายอย่างใดที่จะเพิกถอนได้ เมื่อไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วย่อมมีผลทำให้ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาได้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่จึงไม่เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4158/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบียดบังเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามิได้มีเจตนาทุจริต แต่ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษา
คำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพราะจำเลยที่ 1 นำเงินดังกล่าวทั้งหมดไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เท่ากับจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำความผิด คำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นคำให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างตามคำแถลงของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ และเนื่องจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 อ้างเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวปรากฏในสำนวนคดีนี้ครบถ้วนแล้ว เพื่อให้คดีแล้วเสร็จไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อโต้แย้งใหม่ในชั้นฎีกา และยืนตามศาลอุทธรณ์ฐานพยายามฆ่า
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้ง จำเลยทั้งสองย่อมไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมรดก, การโอนสิทธิ, และความสุจริตของผู้รับโอน: กรณีเพิกถอนนิติกรรม
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1)
การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพมีผลผูกพัน การโต้แย้งขัดแย้งกับคำรับสารภาพ และกระบวนการพิจารณาคดีส่วนแพ่งไม่ชอบ
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะโต้เถียงว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ครูอนาจารนักเรียนชั้นประถม ศาลฎีกายืนโทษ จำเลยต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่สมควร
โจทก์บรรยายฟ้องระบุช่วงเวลาซึ่งจำเลยกระทำผิด ช่วงแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2559 และช่วงที่สองระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 แม้จะรวมช่วงปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ถึง 15 พฤษภาคม 2559 เข้าไว้ด้วย ก็มีผลทำให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในช่วงเวลาที่ปิดภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีช่วงระยะเวลาหลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแล้ว ที่โจทก์สามารถนำสืบวันที่จำเลยกระทำผิดได้ เหตุที่โจทก์ระบุวันและเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาก็เนื่องมาจากไม่ทราบวันและเวลากระทำผิดที่แน่นอน การระบุวันเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นการระบุวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยในอีกลักษณะหนึ่งโดยชอบ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนลงอีกนั้น เมื่อในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องค่าสินไหมทดแทนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวซื้อที่ดินร่วมกับคู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้
จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง
of 130