คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 63 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3623/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ทรงเช็คที่แท้จริงและการมีอำนาจฟ้องคดีความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทรวม 13 ฉบับ ให้แก่ ย. ย. จึงเป็นบุคคลที่มีเช็คไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน ย. จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ประกอบมาตรา 988 (4) แม้ ย. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการรับเช็คพิพาทมาก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าขณะที่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: มูลคดีตามสัญญาประกันภัย vs. สถานที่เกิดเหตุละเมิด
คำว่า มูลคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันภัยต่อโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่กรณีโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของมารดาผู้ตายมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในมูลละเมิดดังที่โจทก์ฎีกา สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาประกันภัย จังหวัดสุรินทร์อันเป็นสถานที่ทำสัญญาประกันภัยและออกกรมธรรม์ประกันภัยจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกิด อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 เหตุแห่งวินาศภัยอันเกิดจากรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยจึงเป็นมูลก่อให้เกิดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย สถานที่เกิดเหตุวินาศภัยอันเป็นมูลละเมิดจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาประกันภัยเกิดอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากสถานที่ทำสัญญาประกันภัย เมื่อปรากฏว่าเหตุรถบรรทุกคันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 รับประกันภัยไว้จากโจทก์ไปเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเกิดที่จังหวัดชลบุรี ในเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการส่วนกลาง - ดอกเบี้ยผิดนัด - การปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา... (2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินการจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันสมควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่งพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่โจทก์อ้างส่งสำเนาสัญญาบริการระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแนบท้ายฎีกา มีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์รายเดือน นั้น แม้โจทก์จะเพิ่งส่งเอกสารดังกล่าวในชั้นฎีกาซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาการอ้างพยานหลักฐานตามกฎหมายแล้ว แต่พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญแห่งคดี และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงสมบูรณ์ครบถ้วนเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรรับฟังสำเนาสัญญาบริการแนบท้ายฎีกา เป็นพยานศาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 33 และรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาบริการกันจริง เมื่อบริการที่โจทก์จัดทำเป็นบริการสาธารณะ สัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้
แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินฉบับเดิมปี 2539 ซึ่งออกตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 แต่การที่โจทก์ขอขยายโครงการและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ทำการแก้ไขแผนผังโครงการจัดสรรในปี 2545 ภายหลัง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 อัตราที่เรียกเก็บจึงต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บจำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะ นั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการส่วนกลาง, ดอกเบี้ยผิดนัด, การแก้ไขกฎหมาย และการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยศาล
การขออนุญาตจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 และมาตรา 44 (เดิม) ให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูโภคตามมาตรา 23 (5) แล้ว ดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ. นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินยังมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บ จำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะนั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีผู้บริโภค: ความเสียหายต่อสุขภาพจากสารสะสม/แสดงอาการ & การคิดดอกเบี้ยผิดนัด
อายุความตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 แยกความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค และกรณีที่สองเป็นผลของสารที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการของผู้บริโภค เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จําเลยที่ 2 ฉีดชีวโมเลกุลให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 รวม 6 ครั้ง การฉีดชีวโมเลกุลเข้าสู่ร่างกายเป็นการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายจําเลยผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากโจทก์ได้รับการฉีดชีวโมเลกุลครั้งแรก โจทก์มีอาการแพ้ และเมื่อโจทก์ได้รับการฉีดในครั้งต่อ ๆ มา โจทก์มีอาการแพ้รุนแรงมากขึ้นจนเกิดอาการผื่นขึ้นบนใบหน้า ลำคอและเกิดตุ่มขึ้นตามร่างกายโจทก์ จนกระทั่งจําเลยที่ 1 ต้องพาโจทก์เข้ารับการรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 จนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 แต่การรักษาไม่ได้ผล แพทย์จึงหยุดการรักษา แสดงว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามร่างกายของโจทก์มีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ และไม่แน่นอนว่าในอนาคตจะมีอาการอย่างไรต่อไป ผลของสารที่โจทก์ได้รับจากการฉีดสารชีวโมเลกุลจําต้องใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ ไม่อาจถืออาการแพ้ที่เห็นได้โดยประจักษ์ก่อนหน้านั้นเป็นผลสุดท้ายของความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีจึงต้องใช้อายุความ 3 ปี ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 มิใช่อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วันที่โจทก์รู้ถึงความเสียหายจึงยังไม่เริ่มต้นนับ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์การชำระหนี้ในคดีผู้บริโภค: พยานบุคคลใช้ได้หรือไม่ และการบังคับใช้กฎหมายดอกเบี้ยใหม่
การฟ้องคดีและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภค และการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้บริโภคจึงนำพยานบุคคลมานำสืบถึงนิติกรรมการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 กระทำต่อโจทก์โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมได้ โดยไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง และ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ก) ที่ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่? การโอนเงินโดยไม่มีนิติสัมพันธ์ และผลผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
ประเด็นตามคำฟ้องคดีก่อนเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอสินเชื่อ หนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเอกสารประกอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ เท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามฟ้อง ส่วนฟ้องโจทก์คดีนี้ โจทก์ยอมรับผลของคำพิพากษาคดีก่อนว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์และกล่าวอ้างว่าการที่โจทก์โอนเงิน 600,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลย โดยโจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยผลของคำพิพากษาคดีก่อนมาเป็นมูลฟ้องร้องในคดีนี้ แม้เงินที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้จะเป็นเงินจำนวนเดียวกับในคดีก่อนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการฟ้องโดยอาศัยสภาพแห่งข้อหาที่ต่างกัน ไม่ถือเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ส่วนปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน เมื่อพยานหลักฐานในคดีก่อนฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามฟ้องจากโจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกยักยอก และการชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด
ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า "อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้เกิดขึ้นนั้นด้วย" การเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกและเป็นละเมิดในทางแพ่งนั้น การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องกระทำโดยการคืนทรัพย์สินที่ยักยอกแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นลำดับแรก กรณีผู้ทำละเมิดไม่อาจคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกให้ผู้ทำละเมิดใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นลำดับถัดมา คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายรวม 19 ลำดับ แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แสดงว่าขณะฟ้องทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งหมดรวมทั้งสะพานไม้รอบบ่อ ยังอยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามสามารถคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นของโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าร่วมไกล่เกลี่ยตกลงให้โจทก์ร่วมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่าตลอดจนอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ร่วมก็มิได้โต้แย้งหรือเบิกความคัดค้านว่าสะพานไม้รอบบ่อสูญหาย หรือบุบสลายหรือถูกทำลายจนไม่อยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามจะคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ดูแลรักษาสะพานไม้รอบบ่อขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามจนสะพานไม้รอบบ่อได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ร่วมจึงไม่ขอรับสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสามโดยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนโจทก์ร่วมสถานเดียว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" และวรรคสาม บัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ ..." จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ให้โดยการยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญาในฐานความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตตลอดจนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง การที่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 เป็นผลมาจากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินและอาคารต่อกันแล้วก่อนเกิดเหตุกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมขาดรายได้จากการขายอาหารจึงมิได้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องจึงไม่อาจนำค่าขาดรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายอาหารมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์ร่วมได้ อย่างไรก็ตาม ตามคำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าวพออนุโลมได้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมดแทนที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสามในลักษณะเป็นค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรม การพิสูจน์การยินยอม และการประมาทเลินเล่อของธนาคาร
จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับจำเลย ได้แก่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขบัตรเอทีเอ็มที่จำเลยเคยสมัครใช้บริการกับโจทก์ก่อนหน้านั้น ผ่านระบบแอปพลิเคชันที่โจทก์จัดไว้แก่บุคคลทั่วไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับสมาชิกขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมถอนเงิน โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยจริง โจทก์ส่งรหัสผ่านหรือที่เรียกว่าโอทีพีแก่จำเลยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่แจ้งทำธุรกรรมกับโจทก์เมื่อมีการยืนยันหมายเลขรหัสโอทีพีที่โจทก์ส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวส่งกลับมาถูกต้องโจทก์จึงอนุมัติให้จำเลยใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ หลังจากนั้นมีผู้ส่งคำสั่งขอถอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิตของจำเลย โจทก์เชื่อว่าเป็นคำสั่งของจำเลยจริงจึงส่งรหัสโอทีพีอีกรหัสหนึ่งสำหรับธุรกรรมในการถอนเงินครั้งนี้ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยในลักษณะเช่นเดียวกัน โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจึงอนุมัติให้ทำรายการดังกล่าวตามคำสั่งจนเสร็จสิ้น แม้จำเลยจะอ้างว่าปัจจุบันไม่ใด้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว ทั้งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยได้รับการติดต่อจากคนร้าย และคนร้ายให้จำเลยเปิดใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม หลังจากนั้นจึงพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์และจากบัตรเครดิตไปยังบุคคลภายนอก การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้คนร้ายนำข้อมูลของจำเลยไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบเยี่ยงผู้มีวิชาชีพ นั้น แม้โจทก์จะประกอบกิจการธนาคารอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและออกแบบธุรกรรมอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่เป็นข้อมูลที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยเฉพาะ ยากที่บุคคลอื่นใดจะล่วงรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ จะถือว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้คนร้ายนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ ที่จำเลยคิดว่าที่คนร้ายระบุให้จำเลยไปทำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารโจทก์ อาจเป็นเพราะระบบความปลอดภัยของโจทก์ยังไม่ได้มาตรฐานเช่นของสถาบันการเงินอื่น นั้น เป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ของจำเลย กับอ้างเพียงแต่ลอย ๆ ว่าไม่เคยได้รับหรือทราบรหัสโอทีพีที่โจทก์อ้างว่าส่งให้จำเลย ทั้งที่ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์หมายเลขที่โจทก์ใช้ในการติดต่อธุรกรรมดังกล่าว ทั้งเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะใช้ข้อมูลของจำเลยและรหัสโอทีพีที่รับส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยเพื่อสมัครเข้ารับบริการและออกคำสั่งถอนเงินจากบัตรเครดิตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีใหม่หลังมีสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ศาลต้องพิจารณาในคดีเดิม
สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีก่อนถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอยู่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเข้าไปในคดีเดิมตาม มาตรา 7 (2) โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีใหม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ตาม มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
of 7