คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กึกก้อง สมเกียรติเจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 88 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการมรดกที่มีผู้จัดการมรดกจำนวนมากและขาดเสียงข้างมากในการตัดสินใจ
เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทำให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ 6 คน ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ โดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ทั้ง 6 คน เป็นผู้จัดการมรดก เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่จัดการมรดกต่อไปได้ แต่ไม่อาจจัดการมรดกโดยลำพังมาใช้บังคับกับกรณีการตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ได้ เพราะคดีนี้ไม่ใช่การตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การที่ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายย่อมทำให้อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายสิ้นสุดลง โดยไม่จำต้องมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ต่อไป
การที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ทำให้คงเหลือผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการจัดการมรดกเพียง 6 คน ซึ่งมิอาจหาเสียงชี้ขาดได้หากเกิดกรณีที่มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย และแต่ละฝ่ายมีคะแนนเสียงเท่ากันดังนั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 โดยจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป ทั้งเมื่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ซึ่งกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน การทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถือตามเสียงข้างมากตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อคำนึงถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยย่อมทำให้การจัดการมรดกมีเสียงข้างมากซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4569/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ และสิทธิในการติดตามทรัพย์สินคืน
โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน โจทก์โดยสำนักงบประมาณได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ถึงปี 2558 เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่สำนักงานจังหวัดโดยตรง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จากนั้นจังหวัดขอนแก่นเห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวทางและคู่มือการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ จึงมอบอำนาจให้นายอำเภอพระยืนเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในการสั่งซื้อสั่งจ้างและดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุทุกขั้นตอนในวงเงินสั่งซื้อสั่งจ้างไม่เกิน 5,000,000 บาท โจทก์โดยนายอำเภอพระยืนในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ตกลงทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ให้ดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรลูกรังวงเงิน 439,000 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 จำนวนเงินค่าจ้าง 439,000 บาท ให้แก่ ก. โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับโอนเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นการโอนเงินให้ผู้รับผิดคนและเป็นการผิดหลง ซึ่งจำเลยให้การและนำสืบรับว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากโจทก์จริง เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินโดยผิดหลง โจทก์จึงมีหน้าที่และสิทธิติดตามนำเงินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวคืนกลับมาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิรับเงินงบประมาณแผ่นดิน แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเข้าใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจะต้องได้รับจากโจทก์ และได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก่อนที่โจทก์จะทวงถามให้จำเลยคืนก็ตาม จำเลยก็ต้องส่งเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคืนให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณที่มีสิทธิติดตามเอาคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานะลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกับผู้กระทำโดยเจตนา vs. ตัวแทนโดยบริสุทธิ์: การพิสูจน์เจตนาและความรู้ในการกระทำความผิด
การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ไม่ชัดเจน ศาลอนุญาตบังคับคดีได้
คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ระบุว่า โจทก์ยอมชำระเงินให้จำเลย 2,000,000 บาท โดยได้ชำระให้จำเลยไปก่อนแล้ว 300,000 บาท และจะโอนให้จำเลยตามบัญชี... ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2556 อีก 700,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้ว แม้โจทก์จะชำระเงินให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วรวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่การที่โจทก์จะชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท นั้น มีข้อตกลงว่าโจทก์จะชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้วตามสัญญา ข้อตกลงการชำระเงินในสัญญาส่วนนี้จึงตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่โจทก์จะต้องโอนขายที่ดินพิพาทเสียก่อนจึงจะชำระเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย แต่เงื่อนไขดังกล่าวนี้มิได้กำหนดระยะเวลาว่าโจทก์จะต้องขายที่ดินพิพาทเมื่อใด ซึ่งหากโจทก์ไม่ดำเนินการจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี โจทก์ก็อาจไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย ที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาว่า ผู้ซื้อที่ดินต้องการให้โจทก์ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินก่อนนั้น ก็ได้ความตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เองว่าโจทก์เพิ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมกว่า 5 ปี ส่วนที่อ้างว่าการออกโฉนดที่ดินที่ติดกับลำน้ำอิงมีข้อขัดข้องเรื่องการกำหนดแนวเขตที่ดิน จึงสามารถออกโฉนดที่ดินได้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยพลัน พฤติการณ์ส่อว่าหากโจทก์ขายที่ดินพิพาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าอาจเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนเนิ่นนานโดยไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา กรณีจึงเป็นการไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะสามารถขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ขายที่ดินพิพาทและจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 ตุลาคม 2561 แจ้งให้โจทก์ดำเนินการขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉย จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อมิให้จำเลยได้รับชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน จำเลยมีความประสงค์จะบังคับคดีเพื่อให้จำเลยได้รับชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดี หรือออกหมายบังคับคดีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เมื่อศาลได้มีหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามอำนาจหน้าที่ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่กำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีเป็นอำนาจของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ข้อตกลงข้อ 2 ที่ระบุว่า ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการโอนให้แก่บุคคลใด เงื่อนไขระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่เริ่มนับ จะถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้ ให้ยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาวินิจฉัยว่าการออกหมายบังคับคดีนั้นไม่ถูกต้องและไม่ดำเนินการยึดทรัพย์ตามที่จำเลยขอบังคับคดีโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย ซึ่งกระทำมิได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าหมายบังคับคดีมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาด ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหมายบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ยังไม่ผิดนัดตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการทบทวนคำสั่งศาลในการออกหมายบังคับคดีจึงไม่อาจกระทำได้ จึงต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โทษกักขังแทนค่าปรับสิ้นสุดเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ การบังคับคดีเรียกค่าปรับจึงไม่ชอบ
การกักขังเป็นโทษประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 และตามมาตรา 29 มาตรา 29/1 และมาตรา 30 แห่ง ป.อ. กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากมิได้มีการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ต้องโทษปรับจะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นอาจถูกกักขังแทนค่าปรับ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษปรับ โดยหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังจำเลยมีกำหนด 1 ปี แทนค่าปรับ 3,837,025 บาท และจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับจนต้องรับโทษกักขัง จึงเป็นกรณีที่โทษเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นโทษปรับ ได้เปลี่ยนไปเป็นโทษกักขังจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี แทน เพราะหากจำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่มีโทษปรับที่จะต้องถูกบังคับอีกต่อไป ต่อมาเมื่อมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและเป็นผู้ต้องกักขังแล้วตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) หาใช่นักโทษเด็ดขาดซึ่งยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษไม่ แต่ไม่รวมถึงการยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วยตามมาตรา 5 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย และถือได้ว่า โทษกักขังในส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งจำเลยจะต้องรับเป็นอันสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย โทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงสิ้นสุดลง ไม่แตกต่างจากการที่จำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี จึงไม่มีโทษปรับที่จำเลยจะต้องถูกบังคับอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับโทษปรับ และยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดถือโฉนดที่ดินเป็นประกันหนี้และการกระทำความผิดฐานเอาเอกสารผู้อื่นไปในลักษณะน่าจะเกิดความเสียหาย
ผู้เสียหายมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทของบิดาจำเลยที่จำเลยตกลงมอบให้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายและนำโฉนดที่ดินพิพาทคืนไปโดยไม่ชำระหนี้แก่ผู้เสียหายตามข้อตกลง ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่มีหลักประกันให้ยึดถือไว้ตามสัญญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คหลังล้มละลาย: หนี้เกิดหลังคำสั่งศาล ไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยไม่มีความผิด
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันสิ้นสุดระยะเวลาฎีกาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลกระทบต่อการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด
คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ต่อมาจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า หมายจำคุกคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 สมควรออกวันใด เห็นว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คำว่า "ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง" หมายถึงระยะเวลาสิ้นสุดที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 สำหรับกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา และคู่ความฝ่ายนั้นมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ ในการออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย เพื่อมิให้จำเลยผู้ซึ่งต้องถูกบังคับโทษทางอาญาต้องเสียสิทธิที่จะพึงได้รับตามกฎหมายราชทัณฑ์ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและมิได้ใช้สิทธิยื่นฎีกาภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยาย การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยระบุว่าให้คดีถึงที่สุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งนำระยะเวลาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายฎีการวมเข้าด้วยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่และ 4 ถึงที่ 6 ฟัง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 2 ย่อมสามารถใช้สิทธิยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 แต่วันดังกล่าวเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ศาลชั้นต้นย่อมต้องออกหมายจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ข้อมูลบัตรเครดิตชำระค่าบริการทางเว็บไซต์ถือเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยมิชอบ
บัตรเครดิตเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (14) (ก) ซึ่งผู้ออกได้ออกเอกสารคือบัตรเครดิตให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ส่วนข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือ และวันหมดอายุ ซึ่งปรากฏอยู่บนบัตรเครดิตนั้น ไม่เป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (14) (ข) แต่การกระทำใดเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นวิธีใช้โดยทั่วไปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้นหรือไม่ ไม่จำกัดว่าหากเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (14) (ก) แล้ว การใช้จะต้องเป็นการใช้เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ผู้ออกได้ออกให้โดยตรงเท่านั้น เพราะสามารถใช้เฉพาะข้อมูลหรือรหัสได้เช่นเดียวกัน การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซด์ จึงเป็นการใช้บัตรเครดิตของโจทก์โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาและการกระทบต่อคำขอทางแพ่ง การปลอมแปลงเอกสารและผลกระทบต่อการคืนเงิน
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงและยักยอกระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์เสียด้วย ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 9