คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กงจักร์ โพธิ์พร้อม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินคืนจากสัญญาซื้อขายที่ดิน: สัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงมีอายุความ 10 ปี
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลย มีบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าหากรังวัดที่แล้ว ปรากฏว่ามีเนื้อที่ไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน จำเลยยินยอมคืนเงินโจทก์ตามส่วนที่ดินซึ่งขาดไป เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยมีข้อตกลงการคืนเงิน ถ้าที่ดินไม่ครบถ้วน เมื่อรังวัดที่ดินแล้ว พบว่าที่ดินขาดหายไปบางส่วนจริง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อเรียกเงินราคาที่ดินบางส่วนคืน เป็นกรณีสืบเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน จะนำอายุความ 1 ปี ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาบังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค่าธรรมเนียมค้ำประกัน, ผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และผลกระทบจาก พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบหลักประกัน คือ บุคคลค้ำประกัน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บสย. ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ต่อโจทก์ โดยหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่โจทก์จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ครั้งละ 350,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ชำระแทนไป รวมเป็นต้นเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน 700,000 บาท ดอกเบี้ย 184,339.72 บาท รวมเป็นเงิน 884,339.72 บาท อันเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน บสย. ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระ แต่ไม่ชำระและโจทก์ได้ชำระแทนไปก่อน
หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของ บสย. เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจาก บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลอกลวงลงทุนอสังหาริมทรัพย์ – โมฆะ – คืนเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ย
สัญญาซื้อขายมีข้อความระบุชัดเจนว่า โจทก์ตกลงซื้อประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบรายได้ใด ๆ อันเกิดจากการขาย ให้เช่า หรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน ผ่านการจัดสรรหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของหุ้นดังกล่าวและสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ด้วยการขาย ให้เช่าหรือการทำความตกลงใด ๆ สัญญาระบุประโยชน์ตอบแทนอันเกิดจากสัญญาว่า โจทก์ตกลงซื้อ Preferential share units ในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 5 หน่วย ในทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ผู้ขายตกลงให้ประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งยังมิได้พัฒนาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร A ท้ายข้อตกลง และระบุผลประโยชน์เหนือทรัพย์สินตามสัญญาว่า สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน และประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีจำเลยที่ 1เป็นผู้รับรองการลงทุนและเข้าพัฒนาที่ดินตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เมื่อโจทก์ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งสิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนลงในเอกสารของบริษัทจำเลยที่ 1 และหลักฐานใบหุ้น อันมีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน จึงมิใช่สัญญาสองฝ่ายที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อตกลงเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทจำเลยที่ 1 จากบริษัท ร . ในฐานะผู้ขายเท่านั้น แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินซึ่งรวมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับจากการพัฒนาที่ดินของจำเลยที่ 1 และการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าด้วยกัน โดยมีบริษัท ร. กระทำการเสนอขายแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรงด้วย นอกจากนี้พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจจดแจ้งโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและยื่นส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทอันเป็นการตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนพัฒนาที่ดินตามสัญญาดังกล่าวสมประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงจดแจ้งรับรองสิทธิให้แก่โจทก์เป็นการต่างตอบแทน หากโจทก์มิได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งโจทก์ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้
เมื่อหนังสือโฆษณาชี้ชวนให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนและสัญญาซื้อขายกล่าวถึงการลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยลักษณะ Land Banking โดยมีจำเลยที่ 1 ดูแลพัฒนาที่ดินและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนา บริษัทผู้ทำการโฆษณาชี้ชวนมีข้อความคำว่า ทรัสต์อยู่ในชื่อนิติบุคคลคือบริษัท ร. อันแสดงถึงรูปแบบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ดูแลบริหารจัดการและจัดเก็บผลประโยชน์คืนแก่ผู้ลงทุนหรือทรัสต์ ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ตลอดจนการระบุประโยชน์ตอบแทนการลงทุนของโจทก์ว่า ผู้ขายตกลงให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ในการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน กับข้อตกลงที่ระบุในสัญญาซื้อขายว่า ประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ล้วนแสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ดูแลจัดการและบริหารที่ดินต้องกระทำการพัฒนาที่ดินตามความสามารถและวิชาชีพของผู้ดูแลจัดการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแสวงประโยชน์นำมาจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุน ต้องจดแจ้งให้ปรากฏซึ่งหลักฐานการรับรองสิทธิของโจทก์ในเอกสารของบริษัท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ทั้งยังคัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาซื้อขายพิพาท ยังเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายพิพาท และยังเป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 3 ลงนามรับรองใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ส่งมอบเป็นหลักฐานแก่โจทก์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 65,000,000 บาท นับเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ทำการเสนอขายหน่วยลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคิดเป็นเงินลงทุนจำนวนมากแก่ชาวต่างชาติหลายราย แต่กลับไม่ปรากฏการดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย และไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจหรือบุคคลธรรมดารายอื่นเกี่ยวข้องกระทำการใดต่อบุคคลภายนอกเว้นแต่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับนักลงทุนซึ่งเข้าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นเพื่อหลอกลวงเงินลงทุนจำนวนมากจากชาวต่างชาติ โดยไม่มีเจตนาดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จริงตามที่ระบุในเอกสารโฆษณาชี้ชวนและสัญญาซื้อขายและเป็นการกระทำเพื่อแสวงประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะอ้างว่ามิได้ร่วมรู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่เขย แต่จำเลยที่ 3 เข้าลงชื่อในใบหุ้นที่จำเลยที่ 2 นำมาให้แล้วจำเลยที่ 2 นำไปส่งมอบแก่โจทก์อันเป็นส่วนหนึ่งในการหลอกลวงเงินลงทุนจากโจทก์ ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ระบุในใบหุ้นนั้น จำเลยที่ 3 กลับยินยอมลงชื่อในเอกสารที่ตนไม่เข้าใจ ผิดปกติวิสัยของวิญญูชน จำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการหลอกลวงนักลงทุน ทั้งยังเป็นผู้ดูแลที่ดินและรับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 อันแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย การหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องไม่อาจบรรลุผลให้โจทก์หลงเชื่อได้โดยสมบูรณ์หากปราศจากการแสดงหลักฐานใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงชื่อรับรองในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่โจทก์หลงเชื่อจากการหลอกลวงและทำสัญญา ซื้อหน่วยลงทุนกับชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยทั้งสามโดยเข้าใจว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยตามหนังสือโฆษณาชี้ชวนดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนาลงทุนตามสัญญาซื้อขายโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้เกิดมีขึ้น จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง โดยต้องคืนเต็มจำนวนตามมาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างทนาย ความรับผิดชอบร่วมของจำเลยทั้งสอง ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จแห่งการงานที่จ้างเป็นสำคัญ และการจ่ายสินจ้างถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดชำระค่าจ้าง 3 งวด แต่มีเฉพาะงวดที่ 1 เท่านั้น ที่ถึงกำหนดชำระ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ทั้ง 9 ครั้ง เป็นการชำระหนี้ในงวดที่ 1 ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้ว ตามมาตรา 328 วรรคสอง อันมีผลทำให้อายุความในหนี้ค่าจ่างว่าความงวดที่ 1 สะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าการงานมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (16) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมในสัญญาจ้างว่าความ มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) และข้อความจริงใด เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ตัวลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 การที่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวชำระหนี้แก่โจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมไม่ หนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงต้องเริ่มนับแต่วันทำสัญญาจ้างซึ่งเป็นเวลาขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ตามสัญญาจ้างว่าความในงวดที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
สำหรับค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 กำหนดชำระเมื่อสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วเสร็จ และงวดที่ 3 กำหนดชำระหนี้ก่อนนัดฟังคำพิพากษา 15 วัน มิใช่หนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อโจทก์ว่าความให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วเสร็จโดยตกลงกับคู่กรณีได้ ถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ถึงกำหนดชำระในวันดังกล่าว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่เตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้ชื่อว่าผิดนัด เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองมีกำหนดเวลาให้นำเงินมาชำระหนี้ภายใน 7 วัน และจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่เมื่อครบกำหนด 7 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ถือว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดสำหรับค่าจ้างว่าความในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ได้ในวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายหุ้น-การอนุมัติโอนหุ้นธนาคาร-ความรับผิดตามสัญญา
โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยตัวแทนที่ไม่เปิดเผยชื่อ สิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริต และการคืนค่าขึ้นศาล
โจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของ พ. มารดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ ม. ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้ พ. ซึ่งตกทอดแก่บุตรของ พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมรวม 6 คน และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับโอนมาจาก ม. เป็นเวลานานกว่า 10 ปี และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 วงเงินจำนวน 150,000 บาท และต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองและได้จดทะเบียนจำนองใหม่อีกครั้งในวันเดียวกันในวงเงินจำนอง 620,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนของตนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้สิทธิมาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองนั้นได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ทั้งสองจะอ้างบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองอันมีผลเป็นการบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: การครอบครองโดยชอบธรรมและผลของการโอนที่ดิน
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รู้จักและคบหาโจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยร่วมลงทุนทำธุรกิจ และอยู่กินฉันสามีภริยาและลงทุนทำธุรกิจร่วมกันตลอดมา โดยอยู่อาศัยร่วมกันที่บ้านเช่าของจำเลยแล้วร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยใช้เงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว จึงตกลงให้โจทก์เป็นผู้มีชื่อในที่ดินและบ้านพิพาท หลังจากนั้นโจทก์กระทำการอันเป็นความผิดร้ายแรงต่อจำเลยและบุตรสาวเป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปได้ จำเลยให้โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท ก่อนที่โจทก์จะย้ายออก โจทก์บอกว่าโจทก์ยกที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชดเชยกับสิ่งที่โจทก์ทำกับจำเลยและบุตรสาว แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว ไม่สามารถจดทะเบียนมีชื่อในโฉนดที่ดินโดยยังไม่ได้รับอนุญาต โฉนดที่ดินจึงยังเป็นชื่อของโจทก์ โดยจำเลยครอบครองอยู่อาศัยอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตลอดมา คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย มิใช่ขอให้ส่งมอบแก่เด็กหญิง ก. จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนในภายหน้าจำเลยจะยกที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของจำเลย ชอบที่จะต้องรับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา