คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
รังสรรค์ กุลาเลิศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดเวลาพักของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การไม่จัดเวลาพักที่เหมาะสมถือเป็นการผิดสัญญา
จำเลยประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า งานของจำเลยเป็นงานอาชีพด้านบริการ ดังนั้น โจทก์กับจำเลยจึงตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติต่อวันกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์ต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 จำเลยจัดให้โจทก์มีเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลาถึง 8.30 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกา หรือเวลา 9 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา โดยให้พักเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน... นั้น เป็นบทบัญญัติที่นอกจากจะกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงานในช่วงเวลาทำงานปกติระหว่างวันทำงานแล้ว การจัดเวลาพักจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้สามารถทำงานต่อไปได้ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างอันเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา ภายหลังจากเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา หรือ 9 นาฬิกา แล้ว ซึ่งถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในการทำงานภายหลังจากเวลา 13 นาฬิกา จนถึงเวลา 18.30 นาฬิกา หรือ 19 นาฬิกา แล้วแต่กรณี จำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักหลังจากโจทก์ทำงานในช่วงบ่ายมาแล้วเกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน จึงเป็นการจัดเวลาพักที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในช่วงบ่ายซึ่งปรากฏว่ายังเป็นเวลาทำงานปกติของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวตามฟ้อง แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาว่าค่าเสียหายดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเดียวกับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลา และให้คำนึงถึงการที่โจทก์ได้รับการจัดสรรเวลาพักหนึ่งชั่วโมงแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์จากการขายทอดตลาด ทำให้โจทก์หมดอำนาจฟ้องเรียกค่าส่วนกลางจากจำเลยเดิม
ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ ต่อมาธนาคาร อ. ขอให้ยึดห้องชุดพิพาท บริษัท บ. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร อ. โดยขออนุญาตเข้าซื้อห้องชุดพิพาทในนามของตนเอง และแถลงขอให้หักค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระ ซึ่งตามประกาศขายทอดตลาดมีการระบุยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระไว้ด้วย มีคำเตือนผู้ซื้อได้จะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 29 และมาตรา 41 ซึ่งถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดจะต้องตรวจสอบและนำมาประกอบการตัดสินใจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด ต่อมาบริษัท บ. ผู้สวมสิทธิแทนธนาคาร อ. เป็นผู้ประมูลซื้อได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำรายงานแสดงรายการรับจ่ายครั้งที่ 1 การที่บริษัท บ. เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์เท่ากับตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว เมื่อจำเลยมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค้างชำระแก่โจทก์ บริษัท บ. ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเดิม และมีหน้าที่ที่จะต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับหนี้ค่าส่วนกลางจากจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงทองคำ - การบังคับชำระราคาทองคำที่แท้จริง - อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปหลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แม้ฟ้องเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า และแก้ไขค่าเสียหายทางแพ่งตามผลคดีอาญา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสัมพันธ์คดีอาญา-แพ่ง: การพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามคดีอาญา และสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 44/1 ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่ง และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญา และให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่ให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง และเมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลย และหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115-3126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ส่วนบุคคลและการละเมิดสิทธิของนายจ้างต่อกรรมการลูกจ้าง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกนัดหยุดงานโดยชอบตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 แต่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวในการนัดหยุดงานนั้น ย่อมมีสิทธิใช้สอยพื้นที่ของตน รวมทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปร่วมชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 แม้ว่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการนัดหยุดงานโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 หรือมีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งรื้อถอนเต็นท์ เคลื่อนย้ายรถยนต์ สุขาเคลื่อนที่ พร้อมสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกไป แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้พื้นที่ของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทางเข้าโรงงานของโจทก์ที่ 2 โดยนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและรถยนต์สุขาเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นทำการชุมนุมปราศรัยห่างจากโรงงานของโจทก์ที่ 2 ประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับโรงงานของโจทก์ที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 และลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในโรงงานได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2การพิจารณาว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 13 ศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่จำต้องพิพากษาถึงค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ว่ากรณีมีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 กล่าวปราศรัยด่า ด. ส. และ พ. ว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ผู้หญิงขายตัว ไอ้พวกขายตัว" และจำเลยที่ 8 แต่งภาพของ ส. ซึ่งเป็นผู้บริหารโดยใส่จมูกเป็นจมูกสุนัข มีการแต่งหน้าใส่รูปจมูกสุนัข ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 3 และการกระทำของจำเลยที่ 8 แล้ว เป็นการดูหมิ่นผู้บริหารของโจทก์ทั้งสองโดยเปรียบเทียบว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานชั้นต่ำ เป็นคนขายตัว เป็นคนไม่มีคุณค่า และเปรียบเทียบ ส. ว่าเป็นสัตว์ประเภทสุนัข การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 8 เป็นการก้าวร้าวไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชา มิใช่เป็นเพียงวาจาไม่สุภาพ และเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมนัดหยุดงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นการเข้าไปในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ยึดทรัพย์/อายัดสิทธิ แม้มีการกักขังแทนค่าปรับ
ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากจำเลยที่ 2 โดยวิธียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับด้วยนั้นก็เป็นกรณีที่ศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนซึ่งย่อมมีอำนาจกระทำได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ โดยการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับดังเช่นจำเลยที่ 2 นี้ ป.อ. มาตรา 29/1 บัญญัติถึงวิธีการในการบังคับคดีดังกล่าวรวมทั้งการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับไว้ในวรรคหนึ่งถึงวรรคสามและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 29/1 วรรคสี่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง" จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับชำระค่าปรับทั้งโดยวิธีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และอาจใช้วิธีสั่งกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อน ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นไปด้วยกันได้ มิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเท่านั้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไว้แล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อใช้ค่าปรับได้ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ มาตรา 29/1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 วางประกันการปล่อยชั่วคราวจำนวน 200,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษากับออกหมายบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 แม้อยู่ในระหว่างจำเลยที่ 2 ถูกกักขังแทนค่าปรับ ก็เป็นการดำเนินการในการบังคับชำระค่าปรับโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้คืนเงินหรือปล่อยทรัพย์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันครอบครองยาเสพติด (กระท่อม) และเมทแอมเฟตามีน โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด แต่ในส่วนบทกำหนดโทษได้มีมาตรา 17 ยกเลิกมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้อง: ศาลอุทธรณ์แก้ไขได้เพื่อความเป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยและมิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินคดีแทนลูกหนี้เมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อประโยชน์เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้
พ.ร.บ.ล้มละลาย
พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้
หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้
และมาตรา 25 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง
ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว
ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า
หลังจากถูกฟ้องคดี ต่อมามีการขอเลื่อนคดีเรื่อยมาด้วยเหตุผลว่า รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
249/2549 แม้กระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นวันนัดพร้อมซึ่งขณะนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสาม
คือจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่ 23
สิงหาคม 2554 อำนาจการจัดการทรัพย์สินและการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
แต่จำเลยทั้งสามและทนายความจำเลยทั้งสามไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อศาลชั้นต้นจะได้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนต่อไป และแม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสามก็คงวางเฉยไม่แถลงแต่อย่างไร
จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเมื่อวันที่
30 กันยายน 2556 เพื่อให้ขาดความต่อเนื่องของการพิจารณาคดีที่จะติดตามข้อเท็จจริงในช่วงระยะเวลาสั้นและยิ่งนำรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาพิจารณาประกอบ
ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเรียกมาให้สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ให้การว่าไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องคดีใดบ้าง
ทั้งที่คดีนี้ทุนทรัพย์สูงถึง 50 กว่าล้านบาท จำเลยที่ 3
ก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่ง การกล่าวให้ถ้อยคำเช่นนั้นย่อมไม่อาจเชื่อได้
ทำให้เชื่อได้ว่า การเลื่อนคดีอย่างต่อเนื่องโดยไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการวางแผนกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนด ซึ่งจะเป็นการหลุดพ้นจากหนี้และนำไปสู่การปลดล้มละลายในลำดับถัดมา
การจำหน่ายคดีย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหาย กรณีสมควรมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสามต่อไป
ไม่มีเหตุจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
of 7