คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 420

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,810 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดของโรงเรียน, ความเสียหายต่อโอกาสทางการศึกษา, และการคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" "สถานศึกษา" "เด็ก" แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในละเมิดจากการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กระทำละเมิดและผลกระทบของการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางการแพทย์: การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายทางกายและจิตใจ
ตามทางไต่สวนได้ความถึงอาการบาดเจ็บของโจทก์ว่า นอกจากการรักษาโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์กระดูกและข้อแล้ว ยังมีขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดที่แพทย์หลอดเลือดเข้ามารักษาอาการของโจทก์ โดยนายแพทย์ ว. ตรวจพบอาการเกิดตุ่มน้ำพองใสบริเวณขาซ้ายและข้อเท้าซ้ายมีสีคล้ำเกรงจะเกิดภาวะขาดเลือด เมื่อดำเนินการฉีดสีพบว่าเส้นเลือดที่เป็นเส้นหลักในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงขาซ้ายไม่ปรากฏในผลการตรวจ นายแพทย์ ว. ได้ปรึกษาผู้บริหารและปรึกษาแพทย์ทางโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่และนายแพทย์ ก. ได้แนะนำให้ทำบายพาสด่วนโดยหาทีมแพทย์ท้องถิ่นหรือส่งต่อทางเครื่องบิน แต่นายแพทย์ ว. ส่งโจทก์ไปรักษาที่กรุงเทพมหานครด้วยรถพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยอ้างข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ว่าใช้ระยะเวลาในการประสานงาน การรอคิวว่างของเฮลิคอปเตอร์ที่ว่าต้องรออีก 2 ถึง 3 วัน การลงจอดรับผู้ป่วยต้องลงจอดที่สถานีตำรวจท้องที่นอกบริเวณโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีรายละเอียดถึงข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายนับเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นตามภาระการพิสูจน์ ทั้งได้ความจากโจทก์ว่าญาติของโจทก์ขอให้เคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 จัดให้บริการเรียกว่า SKY ICU จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเฮลิคอปเตอร์ไม่ว่างและไม่สามารถบินกลางคืนได้ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ถามค้านโจทก์เพื่อหักล้างสมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์ดังที่โจทก์เบิกความ คดีย่อมฟังได้ว่า เฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ให้บริการรับส่งผู้ป่วยทางอาการมิได้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถบินในเวลากลางคืนได้ เมื่อคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ระบุว่า โรงพยาบาลมีบริการรับส่งผู้ป่วยทางอากาศ (Air Ambulance) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใช้บริการมากราย หรือเฮลิคอปเตอร์ไม่มีคิวว่างที่จะเคลื่อนย้ายโจทก์ในวันนั้น คำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีบริการเช่นนั้นจริง นายแพทย์ ต. พยานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า การทำบายพาสเร่งด่วนให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย เมื่อการเคลื่อนย้ายโจทก์ได้รับความยินยอมจากมารดาของโจทก์เมื่อเวลา 22 นาฬิกา และสามารถเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันที่ 12 กำหนดถึงโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานครเวลาประมาณ 15 นาฬิกา เท่ากับใช้เวลาก่อนออกเดินทาง 5 ชั่วโมง เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง จำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักดีว่าระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายโจทก์เป็นข้อสำคัญที่ต้องดำเนินการทันท่วงที การเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลที่ต้องใช้เวลาดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับคำแนะนำและไม่เป็นผลดีต่อการรักษาอาการของโจทก์ เป็นการเลือกใช้วิธีเคลื่อนย้ายโจทก์ไปรักษาที่ไม่เหมาะสมแก่โจทก์ในสภาวการณ์เช่นนั้น คดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความพยายามตามวิธีการและมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในการรักษาและเคลื่อนย้ายโจทก์ตามสถานการณ์และอาการบาดเจ็บของโจทก์ในขณะนั้น การที่โจทก์ต้องถูกตัดขาเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไป อันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นโรงพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในการดูแลรักษาโจทก์และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางละเมิด: การประเมินระดับความประมาทและข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่
แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นทางร่วมทางแยกที่มีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท และการที่จำเลยขับรถตู้ของโจทก์ไปตามถนนซอย 2 สายตรี มุ่งหน้าไปทางถนนเซาน์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นทางโทไม่หยุดรถรอให้รถกระบะที่ ว. ขับมาตามถนนซอย 2 จากทางอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นทางเอกผ่านไปก่อนแล้วจึงจะขับเข้าไปในทางร่วมทางแยก เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 (2) แต่การฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบด้วย เมื่อตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ช. ซึ่งขณะเกิดเหตุนั่งด้านหน้ารถคู่กับจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่า ในการขับรถตู้ของโจทก์ผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในระดับหนึ่งแล้วแม้จะไม่ใช่ความระมัดระวังในระดับที่วิญญูชนในภาวะเช่นเดียวกับจำเลยจะต้องมีก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดาหาใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และแม้จำเลยมีหน้าที่ขับรถให้แก่โจทก์ แต่ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยนั้นไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการใช้ความระมัดระวังไว้เป็นอย่างอื่น การพิจารณาในเรื่องความประมาทเลินเล่อจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยอยู่ในสังกัดขณะทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้านปิด: การขัดขวางการสัญจรและการงดเว้นกระทำการซ้ำ
โครงการหมู่บ้าน พ. มีลักษณะเป็นหมู่บ้านปิด มีรั้วกำแพงกั้นเขตล้อมรอบและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะคือซอยท่าอิฐเพียงทางเดียวเท่านั้น การที่บริษัท พ. ในฐานะผู้จัดสรรทำถนนและรั้วกำแพงล้อมรอบที่ดินของโครงการที่จัดสรรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ มิได้หมายที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าวด้วย ที่บริษัท พ. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172178 พร้อมบ้านในโครงการหมู่บ้าน พ. แล้วรื้อถอนบ้านและรั้วกำแพงออก ก่อสร้างเป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน สภาพของถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนมีลักษณะแตกต่างจากถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ที่ก่อสร้างเป็นคอนกรีตอย่างถาวรเจือสมกับสำเนาบันทึกถ้อยคำที่ ว. ตัวแทนบริษัท พ. และกรรมการบริษัท พ. ให้ถ้อยคำยืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า การสร้างถนนเชื่อมกันข้างต้นเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อให้ลูกค้าโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้าชมโครงการ และเพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง มิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการโดยเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน และจะทำการปิดกั้นถนนระหว่างโครงการทั้งสองให้เป็นไปตามแผนผังโครงการที่ขอจัดสรร กอปรกับตามแผนผังโครงการหมู่บ้าน น. มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทางซอยท่าอิฐ - บางรักน้อย อยู่แล้ว และปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกหมู่บ้านเช่นนี้ การก่อสร้างถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองนั้น หาได้มีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะให้ผู้อาศัยในโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ไม่ แม้ต่อมาบริษัท พ. ได้จดทะเบียนโอนถนนทั้งหมดภายในโครงการหมู่บ้าน พ. เป็นทางสาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าได้กระทำไปเพียงเพื่อให้การเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง อันจะทำให้หน้าที่ในการเป็นผู้บำรุงรักษาถนนของบริษัท พ. ตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ตกแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งปัจจุบันคือองค์การบริหารส่วนตำบล บ. เท่านั้น ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ยังคงมีอยู่สำหรับการใช้ประโยชน์เฉพาะจำเลยที่ 1 และสมาชิกของจำเลยที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน พ. โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาใช้ถนนดังกล่าวได้ ดังนี้จำเลยทั้งสิบหกย่อมใช้สิทธิขัดขวางด้วยการนำแท่งปูนมาวางปิดกั้นเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ได้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสิบหกจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดในหนี้ภาษีของบริษัท หากมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่, ค่าเสียหาย, และผลกระทบจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้อง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครอง แต่อ้างว่าการครอบครองอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่ากระทำในฐานะตัวแทนบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) แต่ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาทำให้เสียชื่อเสียงและการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตถือเป็นการละเมิด
ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3760/2559 ของศาลแขวงสมุทรปราการ จำเลยยกเรื่องการบรรยายฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.2283/2559 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งบรรยายฟ้องไว้ในหน้าที่ 18 บรรทัดที่ 11 จากบนว่า "...จำเลยทั้งเก้ามีพฤติการณ์แสดงถึงความไม่สุจริต ฉ้อฉล หลอกลวงชาวต่างชาติ..." มาเป็นเหตุอ้างในฟ้องเพื่อให้โจทก์รับผิดในข้อหาหมิ่นประมาทร่วมกับบริษัท จ. และ พ. การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาจึงเป็นการบ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญา อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อความที่จำเลยอ้างว่า มีเนื้อหาหมิ่นประมาทจำเลยนั้น ก็พบว่าเป็นเพียงข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนนิติกรรม ซึ่งเป็นข้อหาหนึ่งในคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.2283/2559 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ จึงต้องถือว่า เป็นเรื่องที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนตาม ป.อ. มาตรา 331 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และจำเลยซึ่งมีอาชีพนักกฎหมายย่อมทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวดีว่า การกระทำของโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ยังฝืนฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3760/2559 ของศาลแขวงสมุทรปราการ อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้บุคคลอื่นเสียหาย ส่วนการที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 เป็นไม่รับฟ้องแล้วให้ไปฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ต่อศาลที่คดีอยู่ในเขตอำนาจนั้น ก็หาใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อฟ้องโจทก์ไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหลังศาลพิพากษาถึงที่สุด
ในคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการใช้อุปกรณ์งัดประตูรั้วบ้านและประตูบ้านของโจทก์และบุกรุกเข้าไปครอบครองบ้านของโจทก์โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาจากจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาเป็นละเมิดต่อโจทก์ และขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 นั้น โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท เนื่องจากยังเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาอยู่ในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมาในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 แล้ว จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้มาจากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมา โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำในความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 144 และขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ยังมีคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 กำลังพิจารณาอยู่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ชั่วคราวก่อน เพื่อรอฟังผลการชี้ขาดในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ก่อน ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท จึงไม่อยู่ในฐานะที่สามารถฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารได้ การที่จะให้โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดแล้วให้โจทก์มีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยเข้ามาด้วย ย่อมไม่ชอบ เพราะข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นคนละเรื่องกัน ส่วน ป.วิ.พ. มาตรา 142 นั้น ก็เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ว่าในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ ไม่ใช่บทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ต้องมีคำขอให้บังคับเข้ามาในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในคดีนี้สภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแตกต่างจากคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกา ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ประกอบการหลอกลวงผู้บริโภค ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกค่าปรับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค
การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้
of 481