คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปรับโครงสร้างหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7731/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีจากการโอนทรัพย์สินปรับโครงสร้างหนี้: เฉพาะการโอนระหว่างลูกหนี้-สถาบันการเงิน
การโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 มาตรา 6 หมายถึงเฉพาะการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันที่กระทำระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่บุคคลภายนอกด้วย การที่โจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมาชำระหนี้สถาบันการเงิน จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้บริหารแผน, การปรับโครงสร้างหนี้, และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันในคดีล้มละลาย
ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/57 บัญญัติว่า "ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน" ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วยแต่มิได้บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว
แม้ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตามแต่เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 2. เจ้าหนี้ไม่มีประกันรายย่อย คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม คือ ช. และแผนได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่จเานี้ทั้งสี่กลุ่มโดยปรับลดภาระหนี้ดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.62 ส่วนภาระหนี้เงินต้นจะชำระโดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ มูลค่าหุ้นละ 10 ชำระหนี้อีกส่วนหนึ่ง และจะทยอยชำระหนี้ส่วนที่เหลือด้วยเงินสดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.2 ถึง 6.4 และเอกสารแนบท้ายหมายเลข 3 ถึง 6 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่าเทียมกัน ช. ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ดังนั้น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ โดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท และจัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน หากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นและออกหุ้นกู้ดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งนี้เพราะแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.6 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองเพื่อชำระเงินต้นค้างชำระตามแผน เจ้าหนี้ตามแผนยังคงมีสิทะในทางจำนองและจำนำเหนือทรัพย์หลักประกันตามสัญญาเดิมและ/หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้เงินต้นค้างชำระตามแผน ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้นตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดที่กำหนดในแผน ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่กำหนดในแผนที่มีต่อเจ้าหนี้แต่ละรายตามสัญญาเดิมยังไม่ระงับไป และหลักประกันเดิมของเจ้าหนี้ประเภทจำนอง จำนำ ค้ำประกันและหลักประกันประเภทอื่นๆ ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ยังคงมีผลผูกพันลูกหนี้ บุคคลภายนอกและเจ้าหนี้" ซึ่งสอดคล้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสองที่บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่เห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย"
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/16 บัญญัติว่า "ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้" ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 รัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. 2545 แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลมิให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่มีการยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามหลักกฎหมายทั่วไปและความเหมาะสมในกิจการแต่ละรายไปเมื่อพิจารณาเอกสารแนบท้ายแผนฟื้นฟูกิจการหมายเลข 8 ซึ่งระบุชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนตลอดจนผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแล้ว ผู้ทำแผนมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และให้คำแนะนำหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของผู้อื่น และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารต่างมีความรู้ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินประธานกรรมการและกรรมการในบริษัทต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน จึงน่าเชื่อว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญทางด้านการบริหารงานพอสมควรแล้ว แม้ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของลูกหนี้บริหารงานหรือกระทำการทุจริตอันไม่ควารได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารแผน ข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่ว่าผู้บริหารและคณะทำงานของผู้บริหารแผนเป้นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะบริหารงานตามแผนต่อไปจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนไม่อาจปฏิบัติการตามแผนผื้นฟูกิจการให้ประสบผลสำเร็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและผลผูกพันของผู้ค้ำประกัน/จำนองหลังปรับโครงสร้างหนี้
ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่าและปรับโครงสร้างหนี้ การส่งมอบทรัพย์คืน และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับทรัพย์ที่เช่าซึ่งโจทก์ในฐานะลูกหนี้นำมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ โดยมีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนให้ถูกต้องตามคำพิพากษา เพราะยังไม่มีการตรวจสอบว่าทรัพย์ดังกล่าวใช้การได้ อีกทั้งโจทก์ต้องส่งมอบคืนยังสถานที่ที่ถูกต้องคือภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์โดยชอบแล้วโจทก์ในฐานะลูกหนี้จึงมีภาระต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 323 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาทรัพย์ที่เช่าและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีล้มละลาย: ผลของการปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษาและการรับสภาพหนี้
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้งวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกจำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,900,000 บาท ดอกเบี้ย 1,780,000 บาท และตกลงให้นำดอกเบี้ยบางส่วนจำนวน 950,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนลดพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระที่เหลือจำนวน 830,000 บาท ตกลงพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ในส่วนต้นเงินคงเหลือโจทก์ผ่อนผันการคิดอัตราดอกเบี้ยให้และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นงวดรายเดือน หากจำเลยทั้งสามผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ยกเลิกการพักชำระดอกเบี้ยและยินยอมให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปคิดอัตราตามคำพิพากษาหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีได้ทันที บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยทั้งสามเท่านั้น หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาระงับสิ้นไปไม่ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามมาตรา 193/15 ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงวันฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิหนี้และการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมหลังการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2541 มาตรา 30 ตรี บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ แล้ว... (3) ผู้ซื้อทรัพย์สินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามวิธีการและตามอัตราในสัญญาเดิม" เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และโจทก์ได้รับโอนสิทธิทั้งหมดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงยอมปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ยอมรับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบกับตามบทบัญญัติดังกล่าวรับรองให้โจทก์มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเดิมที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: การขาดนัดเนื่องจากที่อยู่ไม่ถูกต้องและการให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้
แม้คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 ที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคสอง แต่เมื่อพิจารณาคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 ดังกล่าวปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้บรรยายกล่าวอ้างในคำร้องแล้วว่า ลูกหนี้ที่ 2 ไม่เคยได้รับหมายเรียกสำเนาคำร้องในคดีนี้ เนื่องจากลูกหนี้ที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่อาคารเลขที่ 120/22 มิใช่อาคารเลขที่ 120 ตามที่ผู้ร้องนำส่งหมายเรียกสำเนาคำร้อง และลูกหนี้ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้มาโดยตลอด กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 58 วรรคท้าย จึงเป็นคำร้องที่กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่ลูกหนี้ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลล้มละลายกลางแล้ว ลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ที่ศาลล้มละลายกลางสั่งยกคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 โดยมิได้ทำการไต่สวนก่อนจึงเป็นการไม่ถูกต้อง กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 26 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเริ่มด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การทวงหนี้อย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้ บ.ส.ท.คือ ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาแก่ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้โดยไม่จำต้องดำเนินการไต่สวนก่อนหากได้ความแน่ชัดตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่าลูกหนี้ดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน
คดีนี้ก่อนยื่นคำร้องผู้ร้องเพียงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ทั้งสี่ชำระหนี้ มิใช่กำหนดนัดให้ลูกหนี้ทั้งสี่มาเจรจากับผู้ร้องเพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 57 วรรคสี่ (1) ถึง (5) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ทั้งสี่แล้ว ซึ่งหากลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าวก็เป็นเพียงได้ชื่อว่าผิดนัดเท่านั้น แต่จะถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเนื่องจากคดีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และการขอพิทักษ์ทรัพย์
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างหนี้ไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือกิจการใหม่ได้ต่อไป และคำว่า "สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ" ตามบทนิยามมาตรา 3 หมายถึง "สินทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หรือเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้..."
การที่ลูกหนี้ทั้งสี่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค้างชำระที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีต่อเจ้าหนี้เดิม โดยมียอดหนี้ค้างชำระถึงวันยื่นคำร้องเป็นจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิน 904,377,813.29 บาท สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้แล้ว และลูกหนี้ทั้งสี่มีหน้าที่จะต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถานะทางการเงินที่แท้จริง ความสามารถในการชำระหนี้ หรือแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้ผู้ร้องนำมาประกอบการพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่สุจริต สามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เนื่องจากยังอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือเริ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป การที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีพฤติการณ์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้พร้อมนำส่งเอกสารข้อมูลกิจการและทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในความรับรู้และการครอบครองของตนภายในระยะเวลาตามที่ผู้ร้องกำหนดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควร และทำให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ทั้งสี่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ กรณีถือได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ ผู้ร้องจึงดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่เด็ดขาดได้ตามมาตรา 58 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของแผนฟื้นฟูกิจการและการผูกพันตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้หลังการยกเลิกการฟื้นฟู
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้ แต่ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.30/2543 ของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ และเจ้าหนี้ได้ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่นทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยระบุยอดหนี้ของเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน 45,136,004 บาท สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดังนั้น แม้ต่อมาคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็ตาม แต่ความผูกพันในข้อตกลงต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้สิ้นสุดลง ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังคงผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนหนี้เดิมของเจ้าหนี้นั้น เมื่อตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว..." ดังนั้น แม้ลูกหนี้จะผิดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ แต่ความรับผิดของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ยังคงมีอยู่ต่อกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่อาจกลับไปใช้มูลหนี้เดิมเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่เจ้าหนี้ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากยอดหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น
of 2