คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนังสือบอกกล่าว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 20 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งเปลี่ยนแปลงวันประชุมผู้ถือหุ้นต้องยึดการแจ้งครั้งแรก แม้การแจ้งเปลี่ยนแปลงมีระยะเวลาน้อยกว่าที่กำหนด
หนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นที่ได้ออกในคราวแรกนั้น ได้กำหนดระเบียบวาระการประชุม วันเวลาและสถานที่ประชุมโดยได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเกินกว่า 7 วัน นับถึงวันนัดประชุมถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทแล้วแม้ต่อมาจะได้มีการเลื่อนวันประชุมออกไปจากกำหนดเดิม โดยวันที่ออกหนังสือแจ้งกำหนดเปลี่ยนแปลงวันประชุม และวันที่ผู้ถือหุ้นได้รับหนังสือดังกล่าวจะมีเวลาน้อยกว่า 7 วัน นับถึงวันนัดประชุมใหม่ที่เลื่อนออกไปก็ตาม ก็ต้องถือว่าการบอกกล่าวเรียกประชุมครั้งนี้ได้มีการแจ้งถึงผู้ถือหุ้น ตั้งแต่คราวแรกแล้ว หนังสือแจ้งกำหนดเปลี่ยนแปลงวันเวลาประชุมดังกล่าวเป็นแต่เพียงการแจ้งเปลี่ยนแปลงวันเวลาประชุมตามหนังสือที่แจ้งเดิมเท่านั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวหนี้จำนองและการฟ้องคดีก่อนครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้จำนองพร้อมทั้งดอกเบี้ยภายในเดือนตุลาคม 2521 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ดังกล่าวในวันใดก็ได้จนถึงวันสิ้นเดือนตุลาคม 2521 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2521 และนำคดีมาฟ้องวันที่ 6 ตุลาคม 2521 เป็นการนำมาฟ้องก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15433/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ: ผลของการสละประโยชน์จากหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และการชำระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ 2557: ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม และข้อยกเว้นความรับผิดจากหนังสือบอกกล่าว
สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าหุ้นค้างชำระ & ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้มิได้แจ้งดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันต้องทำหลังลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายใหม่ หากทำก่อน ศาลขาดอำนาจฟ้อง
แม้สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นหนังสือบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ทราบภายในหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญากู้
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีหนังสือบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนทางบัญชีกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่มีการเบิกถอนเงินอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้อีก จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์ทวงถาม โดยโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระงวดถัดไป ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จึงเป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิด
สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ผลของการบอกกล่าวไม่ถูกต้อง, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว
กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า "ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น "ภูมิลำเนา" ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว..." แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ แม้มีหนังสือบอกกล่าวเกินกำหนด
แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดจนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับค้ำประกันหลังผิดนัดชำระหนี้เช่าซื้อ ประเด็นหนังสือบอกกล่าวและการใช้กฎหมายใหม่
แม้คดีก่อนโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 หลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับแล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โจทก์ผู้ให้เช่าชื้อจึงไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้นัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (เดิม) อย่างไรก็ดี แม้ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในคดีเดิมเป็นทำนองว่าโจทก์ผู้ให้เช่าชื้อมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดโจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 (จำเลยในคดีนี้) ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ อันเป็นการนำ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยผู้ค้ำประกัน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเกินกว่าหกสิบวันนับแต่ผู้เช่าซื้อผิดนัดโดยยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยผิดสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด ประเด็นดังกล่าวจึงยังไม่ได้มีการวินิจฉัยถึงที่สุด เมื่อโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยและฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
of 2