คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ศาลสั่งเพิกถอนการให้ที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์คืนได้
กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อปรากฏว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะสำเร็จบริบูรณ์ต่อเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในโฉนดที่ดิน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาลตามมาตรา 357 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ถูกกระทบจากการยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีภาษี ผู้มีสิทธิยึดทรัพย์มีสิทธิคัดค้านได้
แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4468/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างได้รับการคุ้มครองจากการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302
ถึงแม้ว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อขออายัดเงินเดือน เงินค่าจ้าง เงินโบนัส เงินตอบแทนการทำงานเป็นครั้งคราวและเงินตอบแทนกรณีออกจากงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเพียงเฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับในแต่ละเดือนเท่านั้น ส่วนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จากเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินช่วยเหลือพิเศษยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากนายจ้างของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 แม้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือขออายัดเงินดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในขณะนั้น นายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี นายจ้างของจำเลยที่ 1 เพิ่งเลิกกิจการเมื่อปี 2563 จึงทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินช่วยเหลือพิเศษ จึงถือว่ายังไม่มีการบังคับคดีในเงินส่วนนี้ ดังนั้นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จะต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่เคยมีคำสั่งอายัดไว้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิที่จำเลยที่ 1 จะได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 (3) (4) ที่แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ที่ใช้อยู่ในเวลาที่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ระบุไว้ว่า เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน เดือนละ 20,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร (4) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (3) เป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีการประเมินตามจำนวนที่เห็นสมควรตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เนื่องจากขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในส่วนนี้ จึงต้องใช้จำนวนไม่เกิน 300,000 บาท ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 302 (4) ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินช่วยเหลือพิเศษที่จำเลยที่ 1 ได้รับรวมกันแล้วไม่เกิน 300,000 บาท จึงเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 (4) ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ไม่อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินช่วยเหลือพิเศษ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อนายจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ นายจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และการตีความสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อพิสูจน์หนี้สิน
การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ การตีความสัญญาเพื่อให้เห็นถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรืออักษรตามมาตรา 171 สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดให้บุคคลฝ่ายโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากฝ่ายจำเลยไล่เรียงกันไป ก. (โจทก์ในคดีแพ่ง) ท. และโจทก์ ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกพิพาทให้ นอกจากนี้ ข้อ 3 ก็กำหนดให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ไล่เรียงลำดับกันไปโดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับข้อ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลฝ่ายโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 เป็นลำดับไป การตีความข้อความตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ที่ว่า "…หากว่าจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ไม่ไปดำเนินการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากบุคคลภายนอกและโอนให้แก่โจทก์ภายในกำหนดจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ยินยอมชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)" คำว่า "โจทก์" ดังกล่าว จึงต้องแปลความหมายว่าฝ่ายโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วยเนื่องจาก ก. และ ท. ได้ถึงแก่ความตายแล้วก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 1,000,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2)
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยศาลได้ออกหมายบังคับคดี และโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยพบว่าจำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ไม่เพียงพอที่จะยึดมาชำระหนี้ได้กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การและส่งบันทึกถ้อยคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท แต่ไม่ได้ส่งหลักฐานใด ๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (1)
แม้จำเลยจะรับราชการตำรวจและเคยเสนอจะโอนที่ดินตีใช้หนี้โจทก์ก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยเสนอตีโอนใช้หนี้นั้นมีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ประกอบกับจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เลย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีภาษีอากรที่จำเลยยื่นขอฟื้นฟูกิจการหลังครบกำหนดระยะเวลาการขอเฉลี่ย
เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์" ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำเป็นต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วันนับแต่วันชำระเงิน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทายาทผู้มีส่วนได้เสีย การเพิกถอนการขายทอดตลาด
ที่ดินพิพาทมีชื่อ ป. ท. ส. จำเลยที่ 2 และ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเจ้าของรวมเหล่านั้นมิได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนของ น. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งมีผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 รวมอยู่ด้วย สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของ ส. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมถึงผู้ร้องที่ 4 ด้วย บุตรของ น. และ ส. ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเช่นเดียวกับ น. และ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทอยู่แต่เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทายาททุกคนของ น. และ ส. ทราบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง และมาตรา 287 (4)
การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง
แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2710/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การกันเงินจากการบังคับคดี แม้ไม่แจ้งรายการหนี้ตามกำหนด
การที่ผู้ร้องไม่ได้แจ้งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคท้าย คงทำให้ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิอันจะได้รับชําระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จํานองเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่ใช้สิทธิขอกันส่วนได้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 (2) และที่ผู้ร้องไม่ได้ส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด สิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 (2) ก็ไม่ได้เสียไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องรับการแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชําระเพื่อกันเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดห้องชุดหลังจากบังคับจํานองชําระหนี้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีแม้คำขออาจไม่ถูกต้องสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมแก่จำเลยทั้งสี่ได้ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีทั้งเป็นศาลที่มีอำนาจในการออกหมายบังคับคดีรวมตลอดถึงมีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี ต่อมาศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ตามหมายบังคับคดีมีรายละเอียดเกี่ยวกับคำพิพากษาซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดี จำนวนที่ยังไม่ได้รับชำระตามคำพิพากษาและวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้น รวมตลอดถึงหมายเลขคดี ชื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี และชื่อคู่ความทั้งหมดถูกต้องครบถ้วนตรงตามสำนวนคดีนี้ จึงเชื่อว่าศาลชั้นต้นได้ตรวจสอบคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ และได้ออกหมายบังคับคดีโดยถูกต้องแล้ว ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ใช่คำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีในสำนวนคดีนี้นั้น สำเนาคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสาร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นในสำนวนคดีนี้ ทั้งหากจะฟังว่าโจทก์ยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีผิดพลาดไป ก็พอเข้าใจเจตนาของโจทก์ได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในสำนวนคดีนี้ มิใช่ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนคดีอื่น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นใช้อำนาจออกหมายบังคับคดีตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว โดย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้ายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรได้ โดยไม่จำต้องสั่งยกคำขอหรือให้โจทก์แก้ไขคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเสียก่อน ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีชอบแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการคำนวณหนี้ที่ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีอ้างว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งเก้าครบถ้วน มิได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2561 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขการประมาณราคาทรัพย์สินที่ยึดและให้งดหรือชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินไว้ก่อน อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาณราคาทรัพย์สินที่ยึดต่ำกว่าราคาประเมินที่บริษัท ฟ. ประเมินไว้ ดังนี้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยยกคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นคนละประเด็นกับคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดเงินค่าเช่าทรัพย์สินในตลาดของจำเลยทั้งสอง มิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายระยะเวลาบังคับคดี: ศาลอนุญาตสวมสิทธิเจ้าหนี้ถือเป็นการขยายเวลา แม้หมดอายุระหว่างพิจารณา
การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ศาลมีอำนาจที่จะขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำต้องร้องขอ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ต่อมาโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แต่ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายหลังรับคำร้องนานเกือบ 3 เดือน แล้วมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว นับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่ระยะเวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิดังกล่าว ทำให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ต้องถือว่าศาลมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ จ. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามที่ศาลชั้นต้นให้ขยาย กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึด
of 270