คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บุกรุก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 787 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ขาดองค์ประกอบความผิดอาญา: ศาลฎีกายืนยกฟ้องกรณีความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกายและพาอาวุธ
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีบุกรุกและทำให้เสียหาย vs. ความผิดต่อเนื่องจากการยึดครองที่ดินสาธารณะ
จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการบุกรุกทำลายทรัพย์สิน (สัปปะรด) และการคิดดอกเบี้ยค่าเสียหายตามกฎหมาย
ฎีกาของจำเลยทั้งสองมี 2 ข้อ โดยข้อ 2.1 ระบุว่าปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อ 2.2 ระบุว่าปัญหาข้อกฎหมายเมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองในคดีส่วนอาญาเพียงว่าผู้พิพากษาศาลดังกล่าวมีคำสั่งไม่รับรองให้จำเลยทั้งสอง จึงมีคำสั่งไม่รับ โดยไม่ได้สั่งฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2.2 ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นสั่งรับฎีกาข้อ 2.2 และถึงแม้จะมีความบกพร่องเกี่ยวกับการสอบคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ก็เพียงมีผลต่อน้ำหนักในการรับฟังคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลเท่านั้น หาได้ทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ ส่วนข้อที่ว่าพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 ถึงมาตรา 134/4 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นที่พนักงานสอบสวนถามคำให้การของผู้ต้องหา แต่ในวันที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกานั้นยังอยู่ในระหว่างรับคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาหรือสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งสอง กรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จากการขุดดินในที่ดินที่ครอบครองต่อเนื่อง
โจทก์ครอบครองทำประโยชน์และปักเสาปูนรอบที่พิพาท ทั้งเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามใบ ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ 862/2521 ต่อมาสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาญจนบุรีตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าเป็นที่ดินราชพัสดุและมีลักษณะเป็นทางสาธารณประโยชน์ ขณะเกิดเหตุโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยครอบครองต่อเนื่องจากผู้ขายที่ดินให้โจทก์ ดังนั้น หากมีบุคคลอื่นเข้ามาขุดดินทำเป็นร่องวางท่อระบายน้ำในที่ดิน อันเป็นการรบกวนการครอบครองและทำให้เสียหายซึ่งที่ดินที่โจทก์ครอบครองดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็นต้องพิสูจน์สภาพข้อเท็จจริงก่อนกระทำการรังวัดในที่ดินของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานบุกรุก
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, การประเมินค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม, และการปรับบทลงโทษตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร อยู่ในชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 62 ไร่ 25 ตารางวา เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง และ 31 วรรคสอง (3) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคสอง และ วรรคสอง (3) แต่ในระหว่างความผิดฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 วรรคสอง กับฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 วรรคสอง เพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุกรุกเคหสถานหลังทราบสิทธิครอบครองของผู้อื่น จำเลยอ้างสิทธิเดิมไม่ได้ แม้ฟ้องไม่ระบุบท 362 ศาลฎีกาแก้โทษปรับ
แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
of 79