คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กิตติพงษ์ ศิริโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ตามข้อบังคับ และการจ่ายค่าจ้าง/บำเหน็จที่ถูกต้อง
โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ต่อมาจำเลยได้กำหนดการจ่ายเงินบำเหน็จแก่พนักงานหรือลูกจ้างตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ. 2539 จึงถือได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว ระเบียบนี้จึงกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ผูกพันโจทก์และจำเลย ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องปฏิบัติตาม
ตามระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จตั้งแต่ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงานสหกรณ์และการปฏิบัติงาน พ.ศ. 2544 จนถึงระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต่อเมื่อลาออก ซึ่งต่างจากระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ. 2539 ที่กำหนดให้พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากตำแหน่ง ซึ่งหมายความว่าพนักงานหรือลูกจ้างคนใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกลงโทษไล่ออกหรือเลิกจ้างและมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามข้อยกเว้นตอนท้ายของระเบียบปีดังกล่าวข้อ 32 ย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จทั้งสิ้น เช่นนี้ ถือว่าจำเลยแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งแต่ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงานสหกรณ์และการปฏิบัติงาน พ.ศ. 2544 จนถึงระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 ที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อไม่ปรากฏว่าการแก้ไขได้รับความยินยอมจากโจทก์ ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 ข้อ 51 จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 43 บัญญัติว่า "ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (1) ... (10) การแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ" ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่าได้ให้ความสำคัญต่อตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ โดยจะต้องให้สหกรณ์ออกข้อบังคับกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการไว้ในข้อบังคับ เมื่อตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ข้อ 95 (4) กำหนดให้ผู้จัดการจำเลยพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง การพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการจึงต้องบังคับตามข้อบังคับดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ ส่วนระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 หมวด 11 ข้อ 45 (3) ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์เกษียณอายุ 60 ปี ตามปีบัญชีสหกรณ์จำเลย โดยข้อ 9 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ว่า ปีบัญชีสหกรณ์คือ 1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม ของทุกปีนั้น เป็นระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ข้อ 79 (8) และข้อ 107 (12) ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการดำเนินการตามข้อบังคับสหกรณ์กำหนดระเบียบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์คงมีอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ รวมถึงวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับเท่านั้น ไม่อาจกำหนดระเบียบในส่วนของการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งหรือการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการให้แตกต่างไปจากข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ได้ จึงต้องแปลว่าระเบียบนี้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงตำแหน่งผู้จัดการจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อผลจากการทุจริตหน้าที่และรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากคู่ค้าของนายจ้าง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จลูกจ้างสถาบันศึกษาเอกชนภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันศึกษาเอกชน: ระเบียบของสถาบันมีผลเหนือข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างประเภทสถาบันอุดมศึกเอกชนมีการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 23 กิจการของจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 อันเป็นกฎกระทรวงที่คุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5
การที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ 2549 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 หรือจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จำเลยมีอำนาจออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 โดยไม่จำต้องตกลงกับโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลย หรือโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยต้องยินยอมโดยชัดแจ้ง
แม้โจทก์จะเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 129 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม พ.ร.บ.นี้ โจทก์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำเลย และต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ที่ออกมาโดยชอบ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงยังคงใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบดังกล่าวชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่ต้องพิพากษาคดีใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่เป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิพากษาคดีใหม่ การย้อนสำนวนในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่จำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เพราะหากศาลแรงงานกลางไม่ได้พิพากษาคดีนั้นใหม่ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตรวจสอบเพราะถูกยกไปเสียแล้ว ดังนั้น ในส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักเงินเดือนชำระหนี้ฐานะผู้ค้ำประกัน: ชอบด้วยกฎหมายหากมีหนังสือยินยอม
กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ คือ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยประกาศดังกล่าวข้อ 31 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเพื่อความมั่นคงของตัวลูกจ้างซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างมีกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แก่นายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเป็นหลักการว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไว้ แต่หากลูกจ้างให้ความยินยอมล่วงหน้าไว้ นายจ้างก็มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ หากลูกจ้างให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าด้วย นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างและเงินอื่นใดดังกล่าวเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วเกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำไว้ และไม่ได้กำหนดว่า หนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเป็นหนี้สินโดยตรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นแล้วในขณะลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอม
โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยยินยอมให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป โดยให้หักเงินและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลันโดยไม่ต้องฟ้องร้องแต่อย่างใด โดยโจทก์ยินยอมให้หักได้เกินกว่าร้อยละสิบและให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ ได้เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิรับ ขณะโจทก์ทำหนังสือยินยอม หนี้เงินกู้ระหว่าง ฉ. ผู้กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 อันเป็นการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้า ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ได้ นอกจากจำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังหักเพื่อชำระค่าหุ้นของโจทก์และหนี้เงินกู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้ด้วย ในขณะทำหนังสือยินยอมโจทก์สามารถคาดหมายได้ว่า เมื่อหักแล้วเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดจะเหลือเพียงพอแก่การดำรงชีพได้หรือไม่ การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วคงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีพได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง
ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือนค่าจ้างและเงินอื่นใด เพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว จึงหาอาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาทเป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 เป็นระเบียบที่ออกโดยเฉพาะเพื่อใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า ในกรณีของรัฐวิสาหกิจก็ต้องออกระเบียบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเช่นกัน หรือต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 เสียก่อน การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากสินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ว่า กระทรวง... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา..." รัฐวิสาหกิจใดจะเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้นั้น คงมีแต่เฉพาะกรณีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เรื่อง การเพิ่มทุนของโจทก์ โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโจทก์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ก็ตาม แต่การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ในขณะจัดตั้งตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด การจัดตั้งโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้มีความประสงค์ให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ อันจะตกอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ ส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกค้า และ ป. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน
ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ กลับนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ โดยขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจาจาก ส. เป็น ป. ซึ่งไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของ ป. ที่ค้างชำระต่อธนาคาร ก. เกินกว่า 300 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ในบทที่ 4 ข้อ 4.1.3 (5) โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มีความสำคัญและต้องนำส่งทุกครั้งที่มีการขออนุมัติสินเชื่อ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ข้อ 5.1 ข้อ 5.1.3 และข้อ 5.1.5 และคำสั่งโจทก์ที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท ข้อ 1.2 ข้อ 1.2.3 และข้อ 1.2.5 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ หลังจากที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัท ซ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 13 งวด ค้างชำระเงินต้นถึง 60,000,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องฟ้องบริษัท ซ. และ ป. กับพวก ต่อศาลแพ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลย แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย เมื่อหนี้ดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ซ. และ ป. ร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งยังให้บังคับจำนำยึดหุ้นของบริษัท ซ. ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ และให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้น การจะกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวทั้งหมดอีกย่อมเป็นการซ้ำซ้อนและเป็นการไม่สมควร การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้คงต้องคำนึงถึงจำนวนเงินต้นทุนสินเชื่อตามจริงที่บริษัท ซ. กู้ยืมไป และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระแล้วในคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหรืออาจจะได้รับชำระตามคำพิพากษาต่อไปโดยการบังคับจากหลักประกัน คือ หุ้นของบริษัท ซ. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนอง และผู้ค้ำประกัน ประกอบเข้ากับการลดน้อยถอยลงของหลักประกันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยควรรับผิดต่อโจทก์เพียงใดตามนัยข้างต้นต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการเฉลี่ยทรัพย์หลังศาลรับฟังว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอ ชี้ว่าการฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นหลังพ้นกำหนดเวลาเฉลี่ยทรัพย์
เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์" ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดที่พิพาทนี้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงินถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597-602/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามอายุงานและระยะเวลาทำงาน
การทำงานล่วงเวลา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป" ซึ่งหมายความว่า หากนายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแล้ว นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในแต่ละคราว ๆ ไป นายจ้างถึงจะมีสิทธิให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานและเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาจ้างแรงงานข้อ 2. การปฏิบัติงาน ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่า เวลาปฏิบัติงานปกติให้ถือเวลาที่กำหนดโดยนายจ้าง ข้อ 2.2 ค่าจ้างล่วงเวลาให้ถือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานปกติ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานในข้อ 1. ค่าจ้างแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าข้อ 1.1 เวลาทำงานปกติ อัตราค่าจ้างต่อวัน (8 ชั่วโมง) วันละ...บาท อัตราค่าจ้างล่วงเวลา (4 ชั่วโมง) วันละ….บาท จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน การกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงานไว้ล่วงหน้าวันละ 4 ชั่วโมง เป็นการขัดต่อมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่อาจนำสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 มารับฟังทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการทำงานปกติและเวลาการทำงานล่วงเวลาได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยไว้โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมดูแลการทำงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะลูกจ้าง ด้วยการกำหนดเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และเมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านกันที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งการกำหนดเวลาการทำงานปกติดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงทำงานตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น เงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับจากการทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์ 2 ถึงที่ 7 ในช่วงระหว่างการทำงาน 4 ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและมีความผิดตามกฎหมายป้องกันปราบปรามการทุจริต
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา กับลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 114 วรรคสอง (1), 167
ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ
พิเคราะห์คำร้องประกอบเอกสารท้ายคำร้อง และคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว และมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในวันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 แต่มิได้กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งลงลายมือชื่อในแบบ และยื่นเอกสารประกอบไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยแสดงเอกสารประกอบเพียงหนังสือสําคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน สําเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ต่อมาผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ไม่ยื่นทำนองว่าไม่มีเจตนาเพิกเฉยและขอขยายระยะเวลาในการส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่กลับมิได้ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาวหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว จึงเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 (9) และมาตรา 105 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ. 2561 โดยกฎหมายมุ่งประสงค์ให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการทุจริตด้วยการให้บุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง อันจะทำให้ผู้ร้องสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติภายหลังจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบรายละเอียดและที่มาแห่งทรัพย์สินรวมทั้งหนี้สินของตนและทราบว่าตนมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่กลับไม่กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งไม่ยื่นเอกสารประกอบให้ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้ร้องไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาได้ มีผลเช่นเดียวกับการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่ผู้ร้องกำหนดและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาขอขยายระยะเวลา แต่กลับเพิกเฉยมิได้ดำเนินการตามที่ขอขยายระยะเวลาแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 ด้วย
พิพากษาว่า นายชัยภัทรหรือชัยศิริ ตั้งหลัก ผู้ถูกกล่าวหา จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคสอง (1) ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตลอดไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและค่าชดเชย: การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคาร การปล่อยสินเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจำเลย หากลูกค้าสินเชื่อของจำเลยค้างชำระหนี้แล้วจำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลให้ลูกค้าชำระหนี้ตามเป้าหมายอาจทำให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น การที่จำเลยมีคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานติดต่อลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ทางจดหมายหรือติดตาม ณ ที่อยู่ที่ระบุไว้ในหลักประกัน จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ระบบไอคอลเล็กชัน (I-Collection) ก็เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์มีหน้าที่ติดตามหนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ค้างชำระ จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 60 ที่กำหนดว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่... (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ... (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน.."
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และจำเลยไม่เคยตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4630/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาเหตุผลความสมควรและเพียงพอของนายจ้าง รวมถึงโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขของลูกจ้าง
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
โจทก์ทำงานบกพร่องและล่าช้า จำเลยจึงออกหนังสือเตือน โจทก์ยอมรับว่า เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยอดเงินขาดทุนของจำเลย ซึ่งแปลความได้ว่า โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้ามิใช่เพียงจำเลยทวงถามงาน
โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินมีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนและได้รับค่าจ้างในอัตราสูง จึงต้องมีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานทั่วไป จำเลยย่อมคาดหวังว่าโจทก์จะสามารถควบคุมดูแลงานในความรับผิดชอบของจำเลยให้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว งานฝ่ายบัญชีและการเงินนับว่าเป็นส่วนสำคัญแก่การประกอบธุรกิจของจำเลย หากงานยังบกพร่องย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ภายหลังมีหนังสือเตือนโจทก์ประมาณ 2 เดือน นับว่าให้โอกาสโจทก์ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้าจำเลยย่อมไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่า การเลิกจ้างเป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ที่จะเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
of 32