คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไชยผล สุรวงษ์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 19 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: ศาลฎีกายกอายุความ 5 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(4) แม้ข้อบังคับอาคารชุดมิได้กำหนด
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ผู้ร้องมาตรวจรับรองบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จำนวน 44,959.86 บาท หากประสงค์จะคัดค้านบัญชีให้ยื่นคำแถลงคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือผู้ร้องตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองเจ้าของห้องชุดพิพาทต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องตามข้อบังคับของผู้ร้องและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด รวมค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท มิใช่เป็นการโต้แย้งว่ากระบวนการในการจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 342 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จึงไม่เป็นที่สุด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) และมาตรา 278 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จะเห็นได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลและเป็นตัวแทนของคู่ความทุกฝ่ายทั้งโจทก์ ผู้ร้อง และจำเลย จึงมีอำนาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ประกอบกับโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ค่าส่วนกลางที่ผู้ร้องเรียกเก็บเป็นรายเดือนเมื่อเจ้าของรวมไม่ได้ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) มาใช้บังคับ หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี อันเป็นการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อบังคับของผู้ร้องกำหนดให้ชำระค่าส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เงินค้างจ่าย...และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ดังนั้น ค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและค่าเบี้ยปรับย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และการบังคับจำนอง: ศาลมีอำนาจพิจารณาดอกเบี้ยจำนองเกิน 5 ปีได้ แม้หนี้ประธานขาดอายุความ
แม้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับตามฟ้องจะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคดีไม่มีประเด็นว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลย่อมไม่มีอำนาจหยิบยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัย แต่ในส่วนของหนี้จำนอง เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้จำนองสามารถบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ อันเป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุไว้ในคำพิพากษาให้ชัดแจ้งด้วยว่าดอกเบี้ยย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี ให้นำมาใช้เฉพาะกรณีที่โจทก์บังคับจำนองเท่านั้น เป็นการพิพากษาให้สิทธิของโจทก์ในการบังคับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญในส่วนของดอกเบี้ยน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการลงลายมือชื่อแทนและการไม่มีความเสียหาย เป็นเหตุให้ไม่มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร
จำเลยไปดำเนินการกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยลงลายมือชื่อแทนโจทก์ร่วมในเอกสาร ก็เนื่องมาจากได้ปรึกษากันแล้วภายในครอบครัวให้จำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการ ดังเช่นการดำเนินการของบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อการที่มีการจดทะเบียนบริษัทและลงลายมือชื่อแทนกรรมการผู้เริ่มก่อการทุกคน จำเลยก็เป็นผู้ดำเนินการลงลายมือชื่อแทนกรรมการดังกล่าวและโจทก์ร่วมด้วยความยินยอมของทุกคนตลอดมา รวมทั้งการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ดังนั้นการที่จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมในเอกสารต่าง ๆ ทุกฉบับรวมทั้งเอกสารตามฟ้อง จึงเชื่อว่าจำเลยได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมให้ไปดำเนินการ โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารดังกล่าวปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานสอบสวน จากการออกหมายจับโดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
การขอให้ออกหมายจับบุคคลใดย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับ พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าโจทก์กระทำผิดจริงซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม มิให้เกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นที่แน่ใจว่าโจทก์เป็นบุคคลเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่าโจทก์เป็นบุคคลเดียวกับคนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอให้ออกหมายจับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าจ้างทนายความและค่าเช่าหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นการกระทำเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์จากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่พนักงานสอบสวนทำละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไถ่ที่ดินจากการขายฝาก: สิทธิของโจทก์เมื่อถูกอายัด และการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลง
โจทก์ทั้งสองพร้อมที่จะชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทถูกอายัดไว้ชั่วคราวในคดีอื่น อันมิได้เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งสอง แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกําหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องขอขยายระยะเวลาไถ่ที่ดินพิพาทออกไปอีก
การไถ่ที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมต่างตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะยังไม่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลยและไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนําค่าสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์
หลังจากคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทสิ้นผล จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชําระค่าสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าสินไถ่ ซึ่งเกินกว่าที่ตกลงในสัญญาขายฝาก โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะโต้แย้งได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไปไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทโดยชอบและโจทก์ทั้งสองสละสิทธิไถ่ที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยกำหนดวันเวลาที่จะไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรับค่าสินไถ่ตามที่ตกลงกันไว้ได้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากค่าสินไถ่
คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่โจทก์ทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเต็มตามทุนทรัพย์ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: การคุ้มครองทุพพลภาพถาวรและการคืนเบี้ยประกันภัย
ข้อตกลงในสัญญาใดจะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงจะคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาใบสมัครเอาประกันภัยที่โจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอสมัครเอาประกันภัยไว้ทุกแผ่น จะเห็นได้ว่ามีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรไว้หลายที่ โดยเฉพาะในแผ่นที่ 2 จะมีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่าทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรพิมพ์อยู่เหนือบริเวณโจทก์ลงลายมือชื่อและโจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านว่าโจทก์ไม่ทราบข้อความดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ทราบถึงเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยในกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตแล้ว หากโจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวทำให้เสียเปรียบเกินสมควรโจทก์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยและเลือกทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยที่โจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเป็นประโยชน์แก่โจทก์สูงสุด โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนที่จะเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยก็เท่ากับโจทก์ตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดของจำเลยจากกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่โจทก์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะตกเป็นโมฆะ
สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกัน ให้คำจำกัดความของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวร หมายถึง ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้หรือกรณีดังต่อไปนี้ ตาบอดทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือข้างใดข้างหนึ่งและเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตาบอดข้างใดข้างหนึ่งและการตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อได้ความตามใบรับรองแพทย์ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายแพทย์ ว. แพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์บันทึกไว้ในใบรับรองแพทย์ว่า โจทก์ต้องพักฟื้นรักษาตัวมีกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ยังต้องทำกายภาพบำบัดและรอเวลาใส่ขาเทียม อีก 3 ถึง 6 เดือน เห็นได้ว่าเป็นกรณีโจทก์ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เข้าเงื่อนไขของการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย โดยได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยคุ้มครองทุพพลภาพและเบี้ยประกันชีวิตที่ครบกำหนดชำระในระหว่างที่ทุพพลภาพถึงสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการผ่าตัดตัดขาซ้ายออกระดับเหนือเข่าลงมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันรายเดือน เดือนละ 2,015.20 บาท ตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2560 จนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญาประกันภัย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดเดือนธันวาคม 2560 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2561 โดยวิธีหักจากบัญชีธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 16,121.60 บาท จำเลยจึงต้องคืนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งการยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยอันถือได้ว่าเป็นการทวงถามเบี้ยประกันที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ทุจริตและตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 415

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1757/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุพพลภาพถาวรจากสูญเสียขา การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และการยกเว้นเบี้ยประกัน
คำนิยาม "ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร" ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมายความถึง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใด ๆ ได้โดยสิ้นเชิง และการทุพพลภาพนั้นต้องเป็นการต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดการทุพพลภาพขึ้นและไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ รวมถึงการสูญเสียอวัยวะดังต่อไปนี้ (ก) สูญเสียสายตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ หรือ (ข) สูญเสียมือทั้งสองข้าง หรือสูญเสียมือหนึ่งข้างและเท้าหนึ่งข้างโดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า หรือ (ค) สูญเสียสายตาหนึ่งข้างและไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้และสูญเสียมือหรือเท้าหนึ่งข้างโดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า ทั้งนี้ให้รวมถึงการสูญเสียสมรรถภาพในการใช้งานของอวัยวะข้างต้นโดยสิ้นเชิงและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกต่อไป นิยามที่ว่า การทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ ได้ นั้น ต้องตีความโดยคำนึงถึงอาชีพเดิมก่อนการสูญเสียอวัยวะอย่างเป็นธรรมและพิจารณาเปรียบเทียบกับความสูญเสียอวัยวะตามคำนิยามของกรมธรรม์ในส่วนอื่น ๆ มาประกอบด้วย โจทก์สูญเสียขาขวาทั้งข้างโดยตัดออกตั้งแต่เชิงกรานแม้จะเป็นการสูญเสียขาขวาเพียงข้างเดียวแต่ก็นับได้ว่าเป็นการสูญเสียมากกว่าการสูญเสียเท้าหนึ่งข้างโดยตัดออกตั้งแต่ข้อเท้าอย่างมาก โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องควบคุมการก่อสร้าง ติดต่อลูกค้า การที่โจทก์เสียขาขวาทั้งขาตั้งแต่เชิงกรานย่อมไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ การทำกิจวัตรประจำวันไม่ใช่การประกอบอาชีพ การที่โจทก์ต้องตัดขาขวาทั้งข้างตั้งแต่เชิงกรานเป็นการสูญเสียถาวรจึงต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เป็นการหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานในอาชีพตามปกติที่เคยทำ ถือได้ว่า โจทก์ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวรตามคำนิยามในสัญญาประกันชีวิต
ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตมีข้อกำหนดการจ่ายผลประโยชน์กรณีโจทก์เสียชีวิต จำเลยจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เท่ากับจำนวนเงินที่เอาประกันภัย ณ วันเริ่มสัญญาหรือมูลค่าเวนคืนในขณะนั้นตามแต่จำนวนใดจะมากกว่า กรณีโจทก์มีชีวิตอยู่จนถึงวันครบกำหนดสัญญา จำเลยจ่ายให้เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัย ณ วันเริ่มสัญญาจำนวน 10,500,000 บาท และตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ที่ได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยที่ออกควบกับสัญญาประกันภัยให้ความคุ้มครองหากโจทก์ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดโรคร้ายจนกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร จำเลยจะยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยที่ครบกำหนดชำระในระหว่างทุพพลภาพจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการตัดขาขวาตั้งแต่เชิงกรานออกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่นั้นจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย แต่โจทก์ยังไม่สามารถขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความทุพพลภาพจำนวน 10,500,000 บาท แม้โจทก์มิได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้ภริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในเคหสถานโดยแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาแก้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และทำร้ายร่างกาย
ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว
การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายทรัพย์สินพร้อมขาย: เงื่อนไขการชำระภาษีไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะการแข่งขันราคาเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในเอกสารการประมูลทรัพย์สินพร้อมขาย โจทก์ที่ 5 ย่อมต้องทราบดีว่าหากตนชนะการแข่งขันและได้ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โจทก์ที่ 5 จะต้องมีภาระภาษีจำนวนเท่าใด การที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ที่ 5 เป็นผู้รับภาระในการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ที่ 5 เกินสมควร อันจะเข้าลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ดังนั้น โจทก์ที่ 5 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ที่ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้ร่วมรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวม 21 โฉนด จากจำเลย ต้องผูกพันตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่โจทก์ที่ 5 ทำไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปกปิดเจ็บป่วยในสัญญาประกันชีวิต ทำให้สัญญามีโมฆียะ ผู้รับประกันมีสิทธิบอกล้างสัญญาได้
ในสัญญาประกันชีวิต การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ และมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติว่า "...บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ หาใช่หน้าที่ของจำเลยผู้รับประกันชีวิตที่จะต้องสืบหาประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันชีวิตไม่ การที่ผู้เอาประกันชีวิตระบุในใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ที่ถามชัดเจนว่าระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมาเคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัว ตรวจโลหิต ความดันโลหิตหรือไม่ แต่ผู้เอาประกันชีวิตกลับตอบว่า การตรวจสุขภาพประจำปีผลปกติ ทั้งที่ก่อนที่จะยื่นใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) เพิ่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง บ่งชี้ได้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วยดังกล่าวของตนที่เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งหากจำเลยทราบก็จะไม่รับทำสัญญาประกันชีวิต การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะตามบทกฎหมายข้างต้น เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ทั้งสองผู้รับประโยชน์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง โดยชอบแล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
of 2