คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เจษฎาวิทย์ ไทยสยาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4776/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานีบริการก๊าซไม่ละเมิดสิทธิหากปฏิบัติตามกฎหมายและผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ
ขณะที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ให้คำรับรองแก่โจทก์ทั้งหกว่าจะนำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงเป็นการซื้อขายโดยสุจริต ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าโดยจำเลยที่ 3 นำที่ดินที่เช่าไปขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมายโดยก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ตั้งสถานีบริการแก๊สได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่าง ๆ การที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าการก่อสร้างสถานีบริการแก๊สอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินรวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งหกจึงเกิดจากการคาดคะเนของโจทก์ทั้งหกเอง ซึ่งกรณีที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรการที่จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิใช้สอยทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 2 โดยมีการขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยปกติ โดยมีเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก หรือเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และมาตรา 1337 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4592/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์เอกสารปลอมในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต้องมีพยานหลักฐานที่ไม่ห้ามตามกฎหมายและปราศจากข้อพิรุธ
แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่ฟ้องก็ฟังได้แล้วว่าคดีมีมูล ไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานจนปราศจากข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเหมือนดังเช่นในชั้นพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องมาจากพยานหลักฐานที่ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายและต้องไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ด้วย หนังสือรับสภาพหนี้ที่อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสามไม่ได้นำมาแสดงต่อศาล หรือขอให้ศาลหมายเรียกจากผู้ครอบครองเอกสารมาอ้างเป็นพยาน ทำให้ไม่อาจตรวจสอบลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ได้ และก็ไม่ได้นำโจทก์ที่ 3 และ น. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่ของตน คงมีโจทก์ที่ 2 มาเบิกความปากเดียว อันเป็นพยานบอกเล่า ทั้งที่โจทก์ที่ 3 และ น. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและอยู่ในวิสัยที่จะติดตามมาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็น และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้รับฟังได้ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 คดีโจทก์ทั้งสามไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4404/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานเดี่ยว การพยายามฆ่า และความผิดฐานขู่เข็ญ ศาลฎีกาให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย
แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตาม ป.อ. มาตรา 392 แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายการกระทำดังกล่าวมาในคำฟ้อง ทั้งไม่ระบุในคำขอท้ายฟ้องไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการทางการศึกษา - การผิดสัญญาและค่าเสียหาย - การคืนเงินค่าแรกเข้าและรักษาสภาพนักเรียน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดการสอนโครงการนานาชาติไม่เป็นไปตามที่โฆษณา แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการ การใช้จ่ายเงินใด ๆ ต้องเสนอของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติขึ้นนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนในอัตราสูง ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมายกเว้นหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำโฆษณาได้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ในส่วนที่โจทก์ขอค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืน นั้น แม้เงินค่าแรกเข้าจะตกเป็นของจำเลย แต่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาให้บริการทางการศึกษาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ค่าแรกเข้าเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้ในการทัศนศึกษาของแต่ละคน แต่บุตรโจทก์ได้รับค่าสูท 1 ชุด ค่าสมัครสอบ TOEFL Junior 1 ครั้ง 500 บาท จัดติว 30 ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ และยังไม่ได้ทดสอบภาษาอีกหลายครั้ง โจทก์จึงได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังเหตุข้างต้น กรณีถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืนอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ส่วนที่โจทก์ชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท นั้น เพื่อให้เด็กชาย ช. ยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยในระหว่างที่เด็กชาย ช. ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษา: ข้อผิดพลาดเล็กน้อย vs. การวินิจฉัยจำเลยที่ 2 ที่ศาลยังมิได้ตัดสิน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยในส่วนวินิจฉัยรับฟังว่า จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ หลังจากทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ แล้วผิดนัดชำระเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้น มิได้วินิจฉัยถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย จึงไม่อาจแปลไปว่าได้วินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 แล้ว แม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยและพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 จะเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อันเป็นการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยศาลมิได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดนั้น จึงมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน: สัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายสินค้า จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจระบุ ป. เป็นผู้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้น ป. กับโจทก์ร่วมกันแถลงว่าคดีมีแนวทางที่จะตกลงกันได้ประสงค์จะทำยอม ขอเลื่อนไปทำยอมในนัดหน้า ต่อมาจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจระบุให้ ป. เป็นผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย เลื่อนนัด จัดการทุกอย่างจนเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นั้น ป. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในสิ่งที่จำเป็นแทนจำเลยภายในขอบอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับข้างต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 800 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ ป. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความที่ระบุว่าให้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้นก็ไม่อาจตีความว่ารวมถึงให้มีอำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ ป. แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นกรณีตัวแทนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดเล็กน้อยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่ถูกต้องตามคำวินิจฉัย และการนำเงินชำระหนี้มาหักลบ
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยมีหนี้ค้างชำระในส่วนของต้นเงินเพียง 4,500,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา แต่ดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วน จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยมิได้กล่าวถึงต้นเงินค้างชำระเป็นอย่างอื่น แสดงว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจากต้นเงิน 4,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ถูกต้องตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจึงไม่ตรงกับคำวินิจฉัยถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย จำเลยชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยเพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีมิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์เพื่อคัดค้านและทำการไต่สวนก่อนไม่ ส่วนการจะนำเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีอื่นตามคำเบิกความของโจทก์มาลดยอดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดในคดีนี้ ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ได้กล่าวถึงการได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องของโจทก์ไว้เลย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยไม่ได้นำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องมาหักออกก่อนจึงตรงตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป กรณีมิใช่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จำเลยไม่อาจใช้วิธีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาส่วนนี้ได้เนื่องจากมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ในคำพิพากษาเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยการซื้อขายสร้อยคอทองคำ ศาลฎีกาแก้โทษจำเลยฐานผิด ม.4(1) พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน
โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
เสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัท น. จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัท น. ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้
of 4