คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิริกานต์ มีจุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าพิพาทไร้ผลผูกพันโจทก์ จำเลยต้องชดใช้ราคาแทนสิทธิการเช่า
ในการอนุมัติให้ทำสัญญาเช่าพิพาทตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะประธานที่ประชุมนั้น มีการอนุมัติให้ทำสัญญาเช่าพิพาทหลายครั้งต่างวาระกัน แต่กลับระบุว่าเป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ครั้งที่ 1/2550 ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่ามีการจัดทำรายงานการประชุมดังกล่าวขึ้นเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนการเช่าเท่านั้น น่าเชื่อว่าในระหว่างที่จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการประชุมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์อย่างแท้จริง ถึงแม้ในขณะนั้นจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ซึ่งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของคะแนนเสียงทั้งหมดอยู่แล้ว แต่การจัดให้มีการประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์เพี่อขอความเห็นชอบก่อนที่จะมีการทำสัญญาเช่าพิพาทก็เป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นข้างน้อยสามารถเข้าตรวจสอบการบริหารจัดการของจำเลยทั้งสองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบสัญญาเช่าพิพาทซึ่งเป็นการนำทรัพย์สินของโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว หาใช่ว่าเมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์ก่อน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าพิพาทโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์อันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำการแทนโจทก์
คำฟ้องของโจทก์เป็นการแสดงออกชัดว่าไม่ได้ประสงค์จะเข้าผูกพันตามสัญญาเช่าพิพาท ค่าเช่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้นเป็นเพียงฐานในการกำหนดให้ใช้ราคาแทนในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้มีการยกเลิกเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิการเช่าเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเช่าที่จำเลยทั้งสองได้รับจากบุคคลภายนอกเนื่องจากมีการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอก ก็ยิ่งมิใช่ค่าเช่าทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์หากสัญญาเช่าพิพาทดังกล่าวผูกพันโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าอันจะเป็นการแสดงว่าโจทก์รับเอาผลแห่งนิติกรรมนั้น
แม้ตามสัญญาเช่าพิพาทจะระบุว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสัญญาเช่าพิพาท จึงหาใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงและไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
งบการเงินของโจทก์ซึ่งโจทก์นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปีที่คู่ความแต่ละฝ่ายนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น ก็เป็นเอกสารทางบัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองหรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และมิใช่เอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127
งบการเงินรอบปีบัญชี 2549 และ 2550 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าพิพาท ซึ่งมีค่าเช่ารวม 27,900,000 บาท แต่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้ค่าเช่าเพียง 2,118,132.42 บาท และมีเงินฝากสถาบันการเงินเพียง 170,714.90 บาท กับมีรายได้รับล่วงหน้า 279,497,498.52 บาท ส่วนงบการเงินรอบปีบัญชี 2556, 2557, 2558, 2559 และ 2560 ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้ค่าเช่าที่ดินรับล่วงหน้าในระยะยาวเป็นเวลา 30 ปี จากผู้เช่าจำนวน 62 ราย ซึ่งรวมจำเลยทั้งสองด้วย แต่งบการเงินดังกล่าวของโจทก์ไม่มีรายละเอียดที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่า รายได้ค่าเช่าก็ดี เงินฝากสถาบันการเงินก็ดี รายได้รับล่วงหน้าก็ดี หรือรายได้ค่าเช่าที่ดินรับล่วงหน้าก็ดี นั้นมีส่วนใดบ้างที่เป็นรายได้จากการที่โจทก์ยอมรับชำระจากจำเลยทั้งสองไว้เป็นค่าเช่าตามสัญญาเช่าพิพาท ลำพังงบการเงินของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าพิพาทจากจำเลยทั้งสองไว้แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาเช่าพิพาท เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าพิพาทโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำการแทนโจทก์และโจทก์มิได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาเช่าพิพาทแล้ว สัญญาเช่าพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823, 1167

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4269/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุอาคารทรุดตัว, การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย, และการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าเสียหาย
แม้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจะมิได้ยกปัญหาว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นอ้างในคำให้การ แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252 โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารคอนโดมิเนียมพิพาทและผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างเสาเข็มทำฐานรากอาคารและก่อสร้างอาคารสูง 37 ชั้น ทำให้อาคารเรียนของโจทก์เสียหายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ครู นักเรียน และบุคลากรของโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าประสงค์ให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใครและมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำการก่อสร้างคอนโดมิเนียมพิพาท ก็ไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามมาตรา 428 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์อ้างว่าก่อนวันนัดสืบพยาน โจทก์มอบหมายให้วิศวกรทำการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเรียนของโจทก์พบว่ามีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมโดยเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทภายหลังจากวันชี้สองสถานได้ ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้เกี่ยวข้องพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 และมาตรา 180
เมื่อกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในรายงานต้องดำเนินการภายใต้การตรวจสอบควบคุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายซึ่งมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องชุมชนหรือบุคคลอื่น ๆ การที่จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว และเกิดความเสียหายขึ้นแก่อาคารเรียนของโจทก์ พื้นรอบอาคารรวมถึงรั้วกำแพงคอนกรีต โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 422
การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในห้องเรียน โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนย่อมได้รับความเสียหายและมีสิทธิฟ้องเรียกให้ฝ่ายจำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการขุดเจาะเสาเข็มและการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยทั้งกระบวนการนับตั้งแต่การเริ่มรื้อถอนอาคารหลังเดิมไปจนก่อสร้างแล้วเสร็จรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายเดียวกันแก่โจทก์ ไม่อาจแบ่งแยกความเสียหายว่าเกิดจากการกระทำละเมิดในขั้นตอนการก่อสร้างตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้ ส่วนจำเลยแม้มิใช่ผู้ทำการก่อสร้าง แต่ในฐานะเจ้าของโครงการย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบมิให้การทำงานก่อสร้างก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น แม้จำเลยจะว่าจ้างบุคคลใดทำการก่อสร้าง แต่จำเลยยังต้องควบคุมดูแลบุคคลผู้ทำการก่อสร้างผ่านข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ทำการก่อสร้าง ปัญหาระหว่างการก่อสร้างโครงการของจำเลยย่อมถือว่าอยู่ในความรับรู้และรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลตรวจสอบควบคุมมิให้การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 422 จำเลยจึงต้องร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420
เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด หากแต่เป็นเพียงผู้รับประกันภัยที่ต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยต่อโจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 จึงยังมิได้เป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันกระทำละเมิด แต่เมื่อมีการขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยร่วมที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงให้ความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยร่วมที่ 2 นับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดี ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 142 (5)
อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลล่างทั้งสองแทนโจทก์รวมกัน 320,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.39 โดยประมาณจากทุนทรัพย์ 81,825,000 บาท จึงไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงสำหรับคดีมีทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 5 ในศาลชั้นต้น และร้อยละ 3 ในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประดิษฐ์ไม่ขึ้นใหม่: เปรียบเทียบอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 กับเลขที่ 5116 และสิทธิบัตรจีน CN 201068257Y
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 7 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้
ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 2 ถึงที่ 9 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 นั้น ก็ล้วนเป็นการอ้างถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 1 เว้นแต่ข้อที่ 9 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 8 อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่ามีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เช่นกัน ดังนี้ ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 9 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว สำหรับข้อถือสิทธิข้อที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 ซึ่งมีครีบยื่น (8) มีลักษณะเป็นครีบเฉียงนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลต่อองค์ประกอบสำคัญของการประดิษฐ์ ไม่ทำให้การทำงานต่างไปจากเดิม เมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิทั้งหมดโดยรวมแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ไม่แตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลอาจถอดแยกออกจากกันได้โดยปรับปรุงให้ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกันนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพียงเล็กน้อยโดยไม่ทำให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของคณะกรรมการสิทธิบัตรภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการสอบสวนความใหม่
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ โดยหลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบตามมาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยโจทก์ยังคงโต้แย้งว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ ตามที่มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ โดยหลังจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ก็มีการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบโดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมอีก ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วน การสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ จึงเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมิใช่เป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3764/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนอนุสิทธิบัตร: การประดิษฐ์ไม่ใหม่เมื่อเทียบกับสิทธิบัตรเดิม
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนตัน หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงข้อที่ 8 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใด้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้
ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า คดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" อันงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 นั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" ก็ตาม แต่เมื่อข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเมื่อนำข้อถือสิทธิทุกข้อมาพิจารณารวมกันทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มิได้แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตร์เลขที่ 5116 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตร์ดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายสินค้าโดยอ้างตราสัญลักษณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีเจตนาหลอกลวงผู้ซื้อ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้มีความผิด
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ และคุณภาพอันเกี่ยวกับสินค้า โฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" "ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยมีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว โดยเสนอขายและขายแก่ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปในราคาชุดละ 299 บาท ทั้งนี้ เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ หรือเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงสำนักราชเลขาธิการไม่เคยอนุญาตให้จำเลยใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยแสวงหาผลกำไรและประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยมิชอบ ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 271 บัญญัติว่า "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ..." เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ประกอบมาตรา 271 ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการกระทำโดยการหลอกลวงซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดมาตรา 271 เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายระบุการกระทำหรือวิธีการหลอกลวงไว้แล้วว่า จำเลยโฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติ โดยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ อันเป็นความเท็จ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าการหลอกลวงขายของของจำเลยคือการที่จำเลยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ลงบนกล่องสินค้า โดยที่รู้อยู่แล้วว่าความจริงมิได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ในการขาย แต่ทำไปเพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายโดยถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ จึงถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยขณะนั้นจำเลยยังไม่มีทนายความว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และตามคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 โดยจำเลยได้แต่งตั้งทนายความในวันดังกล่าวแล้วปรากฏว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ รายละเอียดจะได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นพิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบข้อเท็จจริงและข้อหาตามคำฟ้องแล้ว จึงให้การปฏิเสธ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่า จำเลยแถลงว่า วันนี้ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดีแล้ว และได้พบปรึกษากับทนายความแล้ว ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยแถลงว่าเข้าใจข้อหาโดยตลอดแล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินมัดจำต้องส่งมอบในวันทำสัญญา การริบเงินต้องเป็นไปตามกฎหมาย
เงินมัดจำคือเงินที่มอบให้แก่กันในวันทำสัญญา แม้คู่กรณีจะระบุไว้ในสัญญาว่าโจทก์ได้ให้เงินมัดจำแก่จำเลย 1,000,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ งวดแรกชำระในวันทำสัญญา 500,000 บาท แต่ในวันทำสัญญาโจทก์ก็มิได้มอบเงิน 500,000 บาท แก่จำเลย คงให้จำเลยในวันหลัง เงิน 500,000 บาทนี้ จึงหาใช่เงินมัดจำตามกฎหมายไม่ แม้หากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็หาอาจริบเงินดังกล่าวในฐานะเป็นการริบเงินมัดจำได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าช่วงและขอบเขตความรับผิดของผู้เช่าช่วง แม้สัญญาเช่าเดิมไม่มีผลผูกพัน แต่ผู้เช่าช่วงก็ไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีกำหนด 3 ปี มีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าหรือนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสามสามารถอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นคำให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการอยู่และใช้ประโยชน์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกต่อไป แต่ไม่ทำให้การที่จำเลยที่ 3 ได้อยู่และใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วนั้น กลายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดยักยอกทรัพย์ร่วมกัน และการรับของโจร พิจารณาจากเจตนาและการกระทำร่วมกัน
ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอกหรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานยักยอก เมื่อ ส. ทำสัญญาซื้อขายดาวน์รถแทรกเตอร์แล้ว จำเลยและ ส. ร่วมกันนำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมไปเป็นการร่วมกันรับมอบการครอบครองรถแทรกเตอร์จากโจทก์ร่วมอันเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดฐานยักยอก เมื่อต่อมาปรากฏว่ารถแทรกเตอร์ดังกล่าวไปอยู่ประเทศกัมพูชา แสดงว่า จำเลยหรือ ส. ขายรถแทรกเตอร์ไปหรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นและจำเลยบ่ายเบี่ยงว่ามิได้รับมอบรถแทรกเตอร์ถือว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ ส. ในความผิดฐานยักยอก กรณีมิใช่ ส. ยักยอกรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมก่อน แล้วจำเลยกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอก ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใดอันเป็นความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาทางเช็ค: การยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ และการแก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้น
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เท่ากับว่าจำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์มาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษมาด้วย แม้เป็นฎีกาซึ่งไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา และไม่อาจรับรองให้ฎีกาได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้
of 4