คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พอพันธุ์ คิดจิตต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 22 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ ที่รวมความผิด 'ครอบครองเพื่อจำหน่าย' และ 'จำหน่าย' เป็นกรรมเดียว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.410 กรัม และจำหน่ายไปมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.027 กรัม ซึ่งแม้จะเป็นการขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นอันแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบกิจการด้วยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการปกติทั่วไป อันจะถือเป็นการกระทำเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดที่กำหนดโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับการปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรมนั้น เนื่องจากได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ ป.ยาเสพติดท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวแทน ซึ่งตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกรรมเดียวบทเดียว ดังนั้น การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง เพียงกรรมเดียว จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5101/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลล้มละลายที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้หลังพ้นกำหนด ไม่เข้าข่ายคำสั่งที่อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (3) มีความหมายว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ มิได้หมายความรวมถึงคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำขอรับชำระหนี้เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาโดยที่เจ้าหนี้ยังมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวคงวินิจฉัยเพียงว่า ตามคำร้องของเจ้าหนี้นั้น กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีล้มละลายหรือไม่เท่านั้น แต่หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่เพียงใด เมื่อคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1 ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (3) และมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "คำสั่งยกคำร้อง" ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (1) เพราะคำสั่งยกคำร้องตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงคำสั่งยกคำร้องขอให้จำเลยล้มละลาย อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โดยมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดศุลกากร, เงินเพิ่ม, เบี้ยปรับ, และการลดหย่อนจากความเข้าใจผิดสุจริต
ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าชธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก็นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) อัตราอากรร้อยละ 10
โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องจึงไม่ชอบ เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวสามีภริยาและการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู แม้แยกกันอยู่ก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โจทก์เป็นฝ่ายชำระราคาห้องชุดพิพาทมาตลอด ห้องชุดพิพาทซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่โจทก์มีอำนาจจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ตกลงแยกกันอยู่กับจำเลยและย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยนั้น จำเลยเบิกความโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยมิได้ตกลงแยกกันอยู่ตามที่โจทก์อ้าง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันอย่างไร แต่การแยกกันอยู่ก็มิได้ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง โจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาที่ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 การที่โจทก์ย้ายออกจากห้องชุดพิพาทไปไม่อยู่ร่วมกับจำเลยที่ห้องชุดพิพาท ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือไม่ก็ตาม โจทก์สามารถร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้อยู่ต่างหากจากกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่า การแยกกันอยู่ไม่ได้ทำให้หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นสามีหมดสิ้นไป การที่โจทก์ออกจากห้องชุดพิพาทไปโดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดไว้ให้แก่จำเลย บ่งชี้ว่าโจทก์ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยโดยการจัดห้องชุดพิพาทอันเป็นสินส่วนตัวให้เป็นที่พักอาศัยของจำเลยตามความสามารถและฐานะของโจทก์เหมือนดังที่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ต้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาโดยต่างมิได้มีเจตนาหย่ากันและยังมีโอกาสที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายออกจากห้องชุดพิพาทไปเองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สิน (รถยนต์) ที่ใช้ในการกระทำความผิดทางศุลกากรและการขนส่งสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี
เมื่อฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลย ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลาง อันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปยังจังหวัดระนอง เห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายเป็นที่เข้าใจแล้วว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่ารถยนต์เก๋งของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ที่ให้ริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 ต้องการให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร การที่จำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลาง 610 ซอง จากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดระนอง อันเป็นระยะทางข้ามจังหวัด หากไม่มีรถยนต์เก๋งของกลางมาบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 610 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนมากดังกล่าวได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและองค์ประกอบความผิด
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า เมื่อหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และการตีความสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อพิสูจน์หนี้สิน
การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ การตีความสัญญาเพื่อให้เห็นถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรืออักษรตามมาตรา 171 สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดให้บุคคลฝ่ายโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากฝ่ายจำเลยไล่เรียงกันไป ก. (โจทก์ในคดีแพ่ง) ท. และโจทก์ ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกพิพาทให้ นอกจากนี้ ข้อ 3 ก็กำหนดให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ไล่เรียงลำดับกันไปโดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับข้อ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลฝ่ายโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 เป็นลำดับไป การตีความข้อความตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ที่ว่า "…หากว่าจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ไม่ไปดำเนินการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากบุคคลภายนอกและโอนให้แก่โจทก์ภายในกำหนดจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ยินยอมชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)" คำว่า "โจทก์" ดังกล่าว จึงต้องแปลความหมายว่าฝ่ายโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วยเนื่องจาก ก. และ ท. ได้ถึงแก่ความตายแล้วก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 1,000,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2)
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยศาลได้ออกหมายบังคับคดี และโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยพบว่าจำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ไม่เพียงพอที่จะยึดมาชำระหนี้ได้กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การและส่งบันทึกถ้อยคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท แต่ไม่ได้ส่งหลักฐานใด ๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (1)
แม้จำเลยจะรับราชการตำรวจและเคยเสนอจะโอนที่ดินตีใช้หนี้โจทก์ก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยเสนอตีโอนใช้หนี้นั้นมีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ประกอบกับจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เลย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งกรรมการบริษัทที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ และความรับผิดชอบของผู้บริหาร
ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แทนวิธีการตามที่กำหนดในข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 แต่ก็มีผู้ถือหุ้นบางส่วนรวมทั้งโจทก์ยังคงคัดค้านการใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ทั้งเมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาเหตุที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วดำเนินการลงมติเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ ประกอบกับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกคำสั่งกล่าวโทษจำเลยที่ 1 เหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 ทำให้กลุ่มของจำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นกรรมการ อีกทั้งยังปรากฏว่าศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมเกี่ยวกับวาระเลือกตั้งกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แต่กรณียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2863/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดศุลกากรสำหรับเครื่องจ่ายไฟสำรอง (UPS) ที่ใช้กับศูนย์ข้อมูล (Data Center) และอุปกรณ์อื่น ๆ
เมื่อสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าคดีนี้ไม่มีคุณลักษณะที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหน่วยของเครื่องดังกล่าว และอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยเฉพาะ แต่ยังสามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นได้ นอกจากนี้ ตามรายละเอียดของสินค้าและข้อมูลในแค็ตตาล็อกระบุคุณลักษณะและประสิทธิภาพการทำงานของสินค้าพิพาทว่าเหมาะกับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่านำไปใช้สำหรับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหน่วยของเครื่องดังกล่าว และอุปกรณ์โทรคมนาคมเท่านั้น ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของสินค้านั้น จึงไม่อาจจัดเข้าในพิกัดศุลกากร ประเภท 8504.40.11 ในฐานะเครื่องจ่ายไฟสำรอง (ยูพีเอส) ได้ แต่จัดอยู่ในพิกัดศุลกากร ประเภท 8504.40.90 ในฐานะเป็นเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ อื่น ๆ อัตราอากรร้อยละ 10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การประเมินค่าความนิยม การขีดชื่อออกจากทะเบียน และเหตุงดลดเบี้ยปรับ
การมีค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 (1) และมาตรา 77/1 (8) (ฉ) โจทก์ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีเจตนาเพียงแจ้งเลิกกิจการเนื่องจากบริษัทของโจทก์มีการโอนกิจการบางส่วนเท่านั้น มิได้ยื่นเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรในกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน การขายกิจการของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 สัญญาขายและโอนกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. เป็นการซื้อขายกิจการและโอนกิจการบางส่วนหาใช่การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ เมื่อโจทก์มีการขายสินค้าอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงยังคงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินของจําเลย
การที่โจทก์เปลี่ยนนโยบายบัญชีจากเดิมตัดจําหน่ายค่าความนิยมด้วยวิธีเส้นตรง (Straight-Line Method) มาเป็นวิธีประเมินการด้อยค่าทรัพย์สินค่าความนิยมแทนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 เป็นต้นมา โดยไม่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์ยังคงดำเนินกิจการนายหน้าในการจำหน่ายและสามารถขายธุรกิจการเป็นนายหน้าในการจำหน่ายในปี 2553 ได้นั้น จึงเท่ากับว่าโจทก์ยังคงมีค่าความนิยมเหลืออยู่เรื่อยมาจนถึงวันเลิกกิจการ ฐานภาษีสำหรับกรณีของโจทก์ซึ่งมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ จึงต้องใช้ราคาตลาด ณ วันเลิกกิจการตามมาตรา 79/3 (5) และมาตรา 79/3 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการและงบการเงินของโจทก์จะเห็นได้ว่ากิจการของโจทก์ประกอบด้วยสินทรัพย์หลายประเภทรวมถึงค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่น การที่โจทก์ขายธุรกิจจัดจําหน่ายในราคา 82,280,000 บาท และขายกิจการนายหน้าในการจําหน่ายในราคา 114,333,525 บาท นั้น จึงเป็นราคาที่รวมมูลค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่นอยู่ด้วย จึงไม่อาจนํามาหักได้ทั้งจำนวน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความผิดที่ตรวจพบกรณีแจ้งเลิกกิจการ โดยใช้วิธีคํานวณราคาตลาดค่าความนิยมตามงบการเงินที่จัดทำตามกฎหมายภาษีเป็นฐานภาษีในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หาใช่ราคาตลาดตามงบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่โจทก์อ้าง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นํารายรับบางส่วนมาหักให้แล้ว จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่กรณีแล้ว
ป.รัษฎากร มาตรา 85/18 กำหนดไว้แต่เพียงว่าในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19 โดยมิได้กําหนดให้ความรับผิดของผู้ประกอบการจดทะเบียนในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหมดสิ้นไปด้วย ดังนั้น การขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีผลเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เกิดขึ้นก่อนแล้วของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว คดีนี้ตามข้อ 9 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการ หรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินยังมิได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นก่อนที่โจทก์ถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่
พฤติการณ์ของโจทก์ที่บันทึกค่าความนิยมของกิจการมีมูลค่า ณ วันที่โจทก์ซื้อกิจการเป็นจำนวนถึง 600,000,000 บาทเศษ แต่ภายหลังจากโจทก์ซื้อกิจการดังกล่าวมาได้ 2 ปีเศษ กลับเปลี่ยนวิธีการทางบัญชีในการบันทึกค่าความนิยมโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรและคํานวณค่าความนิยมของกิจการโจทก์ให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ ซึ่งข้อเท็จจริงในการบันทึกบัญชีและมูลค่าของค่าความนิยมล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น แต่โจทก์กลับบันทึกบัญชีแสดงมูลค่าของค่าความนิยมให้ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่สมเหตุสมผล ถือว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
of 3