คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เผด็จ ชมพานิชย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3471/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาหลังผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนย้าย และการแก้ไขคำพิพากษาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำพิพากษาไปในทันทีเนื่องจากจำเลยประสงค์จะหาเงินมาชดใช้ให้แก่โจทก์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังผลการชำระหนี้และหรือนัดฟังคำพิพากษา ดังนี้ วันนัดพิจารณาที่เลื่อนมาดังกล่าวจึงมิใช่การนัดฟังคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการนัดฟังผลการชำระหนี้ด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์และจำเลยเสียก่อนว่าได้มีการชำระหนี้ให้แก่กันไปแล้วมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นหากจะมีคำพิพากษาว่าสมควรลงโทษจำเลยหนักเบาเพียงใด หรือควรให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไปด้วยการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 มิใช่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ในระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนถึงวันนัดฟังผลการชำระหนี้และหรือนัดฟังคำพิพากษาที่เลื่อนมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายนั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้ เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนใหม่นั่งพิจารณาคดีแทนแล้ว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนใหม่จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ไม่ถึงขั้นใช้เอกสารเท็จ ศาลฎีกาแก้โทษปรับและรอการลงโทษ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ม. ยืนคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. โดยมีกรรมการเข้าใหม่ 1 คน คือ พ. และกรรมการออกจากตำแหน่ง 2 คน คือ โจทก์ทั้งสองแสดงว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงแต่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน เพื่อให้จดข้อความอันเป็นเท็จนั้นลงในทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องการนำเอกสารทางทะเบียนอันจดข้อความเท็จดังกล่าวไปใช้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคหนึ่ง มาตรา 267 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาในปัญหาข้อนี้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีรื้อถอน การใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมาย และความรับผิดในละเมิด
แม้ในคดีก่อนศาลพิพากษาให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมออก มิได้ระบุให้รื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนด้วย แต่ก่อนทำการรื้อถอนเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าขณะเข้าทำการรื้อถอนพบว่ากำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่จะต้องรื้อถอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ และขอหารือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการรื้อถอนต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ให้โจทก์รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมทั้งหมดออก ย่อมมีความหมายว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่โจทก์ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ในระหว่างการพิจารณาได้ และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่เป็นการบังคับคดีที่เกินไปกว่าคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณที่จะทำการรื้อถอนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก็เพื่อให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันใดเท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องทำการปิดประกาศให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้งที่จะเข้าทำการรื้อถอนไม่ เมื่อได้ความว่าในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 และหรือในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าจะทำการแล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมสามารถทำการรื้อถอนในวันดังกล่าวและวันต่อมาได้โดยไม่จำต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดนัดรื้อถอนให้โจทก์ทราบใหม่ทุกครั้ง การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มิได้กระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิด จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้เงินโดยปกปิดสถานะลูกหนี้ล้มละลาย ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 บัญญัติว่า "ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ (1) รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไป โดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย" โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3.1 ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย จำเลยทราบวันนัดฟังคำสั่งโดยชอบ แต่ไม่ไปฟังคำสั่งศาล จำเลยกลับยื่นขอกู้เงินโจทก์จำนวน 3,165,000 บาท โดยจำเลยตั้งใจจะทุจริตฉ้อโกงโจทก์โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบว่า จำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลนัดฟังคำสั่งและศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดจำเลยแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 ซึ่งโจทก์ได้ตรวจสอบสถานะของจำเลยแล้วไม่พบว่าเป็นบุคคลล้มละลายและเข้าเงื่อนไขการกู้ โจทก์จึงอนุมัติเงินกู้และโอนเงินกู้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ... จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ ครบองค์ประกอบของฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
คดีที่ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลาย จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดี รายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ระบุว่าคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 26 เมษายน 2561 เวลา 9.00 นาฬิกา โดยจำเลยและทนายความซึ่งไปศาลในวันดังกล่าวลงลายมือชื่อทราบนัดไว้ ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งมีเพียงทนายความจำเลยไปฟังคำสั่งศาล ส่วนจำเลยไม่ไป จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมมิอาจรับฟังได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 การที่ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษเสนอต่อโจทก์ และโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 โดยไม่ปรากฎว่าหลังจากจำเลยทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษเสนอโจทก์จนกระทั่งได้รับโอนเงินกู้เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยดังกล่าว จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และหลังจากได้รับโอนเงินแล้วก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ปฏิเสธไม่รับเงินตามสัญญากู้หรือบอกเลิกสัญญากู้กับโจทก์ การกระทำของจำเลยดังที่กล่าวมาจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายจากหนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายไม้ยางพารา การพิสูจน์หนี้และการสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยเบิกเงินจากโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของสวนแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ จากนั้นจึงหักทอนบัญชีกัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทเป็นเอกเทศสัญญาไว้ใน ป.พ.พ. แต่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องชำระหนี้ต่อกันตามสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องมาว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่บังคับกันได้ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ซึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องนำหนี้ดังกล่าวไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อรายการตัดทอนบัญชีระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน: อำนาจฟ้องและการพิสูจน์การชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่าหนี้เงินกู้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อใช้เป็นเงินทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันมีการชำระหนี้แล้ว และชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ ป. จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อตามที่ ป. สั่ง จึงมิได้กระทำการในนามตนเองและมิได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เงินที่กู้ยืมนำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ามีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จริงยิ่งกว่านั้นการที่ ป. ลงลายมือชื่อทั้งในช่องผู้กู้และช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ลงลายมือชื่อช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.7 และลงลายมือชื่ออนุมัติกรณีจำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงิน 25,500,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการโอนที่ดิน อีกทั้ง ป. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ จากบัญชีโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 แล้วมีการเบิกถอนเงินตามเช็คไปแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จริง กรณีนี้ไม่จำต้องอาศัยหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดงต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงมีรายการหนี้เงินกู้ของโจทก์ค้างอยู่ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุข้อเท็จจริงถึงที่สุดแล้ว แต่ยืนตามโทษเดิมเนื่องจากพฤติการณ์โหดร้าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบากว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่าไม่ได้มีการไตร่ตรองหรือตระเตรียมการเพื่อเจตนาฆ่าผู้ตายได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ต้องพิสูจน์มูลหนี้ประธานและดอกเบี้ยเพื่อกำหนดจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระ
การขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้นั้นมีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาจำนำหุ้นที่ลูกหนี้นำมาจำนำไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของบริษัท ม. ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (3) การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องพิจารณามูลหนี้ประธานเป็นสำคัญว่ามีเพียงใด และเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใด เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำว่าต้องไม่เกินไปกว่าความรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้ประธาน เมื่อเจ้าหนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่า มูลหนี้กู้ยืมเงินของบริษัท ม. อันเป็นมูลหนี้ประธานมีเพียงใด ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในหนี้จำนำหุ้นอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้จำนำตามคำขอรับชำระหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหนี้ไม่มีพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อันทำให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น ไม่ใช่เหตุที่ทำให้การจำนำระงับสิ้นไป สิทธิจำนำยังคงมีอยู่ หากเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนำเพียงใด เจ้าหนี้สามารถบังคับจำนำในทางแพ่งต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลาย: หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน และข้อสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเงินยืมเพื่อทดรองจ่ายในกิจกรรมส่งเสริมการขายและค่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ เป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนได้แน่นอนและนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อน จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามมาตรา 8 (9) จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งยังจดทะเบียนเลิกบริษัท กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินลูกหนี้หลังล้มละลาย และการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแม้ติดจำนอง
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ ผู้ร้องชำระราคาห้องชุดให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับจากผู้ร้องอีก คงมีแต่หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายคือโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น การที่ห้องชุดติดจำนองบริษัท ฮ. ก็เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่ต้องไถ่ถอนจำนองจากบริษัท ฮ. หาใช่หน้าที่ที่ลูกหนี้ต้องปฏิบัติต่อผู้ร้องไม่ ประกอบกับศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้อง อันทำให้สิทธิของผู้ร้องมิใช่สิทธิตามสัญญาโดยแท้แต่เป็นสิทธิตามคำพิพากษา จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่จะพิจารณาว่าสิทธิตามคำพิพากษาที่ผู้ร้องจะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรา 122 มาปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้องได้
of 5