คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 52 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ผู้รับเหมาชั้นต้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 หมายความว่า หากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนั้นด้วย และเมื่อผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วก็ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นที่จ่ายเงินไปแล้วไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก. เป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างค้างจ่ายต่อลูกจ้างของตน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนำเงินดังกล่าวไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของ ก. และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินข้างต้นคืนจาก ก. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างที่แท้จริงได้ แต่หาอาจไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปแต่มิได้เป็นนายจ้างด้วยไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 117,067 บาท คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง, 124 วรรคสาม และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หมายความว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ลูกจ้าง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ก. ร่วมกันรับผิดใช้ค่าแรงงานแก่ลูกจ้างของ ก. โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดย่อมหมายความเพียงว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อลูกจ้างด้วยเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการใช้สิทธิไล่เบี้ย ตามมาตรา 12 ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ผู้ใดอาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยโดยผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งได้จ่ายเงินไปได้บ้าง ซึ่งผู้ที่อาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยได้คือผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างก็คือ ก. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการสั่งให้เป็นคนสาบสูญต่อสิทธิในทรัพย์สินและการนับอายุความฟ้องเรียกคืน
ตามบทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์-พรากผู้เยาว์: ศาลยืนตามอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิด
ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา 6/1 ได้บัญญัติให้ผู้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) ถ้าได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี...การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น...การบังคับใช้แรงงานหรือบริการโดยนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ โดยได้กระทำให้ผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งคำว่า "การแสวงหาประโยชน์ทางเพศที่เป็นรูปแบบอื่น" กฎหมายไม่ได้กำหนดบทนิยามไว้ การที่จำเลยทั้งสองให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานในร้านคาราโอเกะทั้งสองร้านของจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานชงเหล้าและเบียร์ นั่งดื่มเป็นเพื่อนลูกค้า ให้สวมเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น และผู้เสียหายที่ 1 ถูกลูกค้าหลอกจับมือนั้น ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองแสวงหาประโยชน์ในทางเพศจากผู้เสียหายที่ 1 ในรูปแบบอื่น และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกำหนดให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องยินยอมให้ลูกค้ากระทำอนาจารตามคำฟ้อง จึงยังไม่เข้าลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำภาระหนี้มาเป็นสิ่งผูกมัดให้ผู้เสียหายที่ 1 จำต้องทำงานอันเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า พยานได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ก. คืนละ 400 บาท 2 คืน รวมเป็นเงิน 800 บาท และยังได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ห. อีกคืนละประมาณ 250 บาท และ 300 บาท ทั้งพยานสามารถออกไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน และจำเลยทั้งสองไม่ได้ยึดบัตรประจำตัวและหนังสือเดินทางของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจมาทำงานและการมาทำงานมีค่าใช้จ่าย 7,400 บาท จริง แม้เพิ่งเข้ามาทำงานและต้องถูกหักเงินใช้หนี้เดือนละ 1,000 บาท แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้รับค่าจ้างและสามารถออกจากที่พักเพื่อไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 1 มีเงินค่าจ้างเหลือเพียงพอ การหักเงินค่าจ้างเดือนละ 1,000 บาท ไม่ใช่อัตราที่สูงเกินจนเป็นการขูดรีดเอาแก่ผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการนำภาระหนี้ของผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ และทำให้ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 (5) ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้ทำงานในร้าน ก. และร้าน ห. ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานค้ามนุษย์ และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าวแก่ผู้เสียหายที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ใบกำกับภาษีปลอม: ความรับผิดทางอาญาแยกจากความรับผิดทางแพ่ง แม้ชำระภาษีแล้วก็ยังมีความผิดอาญา
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิด ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ต้องรับผิดทางแพ่งโดยเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (7) และ 89/1 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (7) อีกทางหนึ่งด้วย การที่จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง ข้อ 1.3 และ 1.4 ครบถ้วนก็เป็นเรื่องของความรับผิดทางแพ่งมีผลให้หนี้ภาษีอันเป็นหนี้ทางแพ่งระงับ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความรับผิดทางอาญาหาใช่ทำให้ความรับผิดทางอาญาระงับไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ของผู้ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าของรวม
ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องบังคับตามความเป็นจริงของพื้นที่ครอบครองจริง ไม่ยึดติดกับรูปแผนที่พิพาทที่ไม่ถูกต้อง
ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรง เพื่ออธิบายว่ากรณีจะต้องบังคับตามรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.20 หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน คำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
การบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงอากรนำเข้าและเจตนาฉ้อภาษี ศาลพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า "อากร" ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วย
ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ที่อาจกระทบความมั่นคงฯ แม้ไม่เป็นความผิดโดยตรง
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา" ดังนั้น การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้นั้นอาจเป็นเพียงกรณีที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่ง ป.อ. ตาม (2) ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บัญญัติไว้เพียงข้อเดียวก็ได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่ง ป.อ. แล้วหรือไม่ เมื่อผู้คัดค้านเสนอเรื่องการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 มีหัวเรื่องระบุว่า วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ แล้วต่อมามีผู้แสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ตว่า "ธ. ลั่น ยอมติดโควิด ตายดีกว่า ไม่ขอใช้วัคซีนพระราชทาน" "วัคซีนภาษีไพร่ แจกจ่ายในนามเจ้า" "ผลประโยชน์ทับซ้อนนี้จะเพื่อใคร ก็เพื่อคนที่ซื้อหุ้น 100% ของบริษัท S. วัคซีนพระราชทาน" "ในหลวงรัชกาล...ไม่คิดจะออกมาอธิบายหน่อยเหรอครับ เรื่องวัคซีนโควิดในฐานะเจ้าของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากเงินภาษีของประชาชน ปล่อยให้หน่วยงานของรัฐบาลออกหน้าแทนมันไม่แฟร์นะครับ" "ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า" แสดงว่าเมื่อมีผู้เห็นถ้อยคำของผู้คัดค้านตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวแล้วได้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล การกระทำของผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวอาจเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 แห่ง ป.อ. ดังนั้น หากให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้คัดค้านดังกล่าวแพร่หลายต่อไปอาจทำให้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ กรณีจึงมีเหตุให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำของผู้คัดค้านตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริตหรือไม่ และเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรม การลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และการรอการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านจัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันเล่นพนันสนุกเกอร์ ซึ่งสภาพแห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกันได้ และเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จึงเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันสนุกเกอร์ด้วย อันมีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดสำเร็จอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันและความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันและร่วมเล่นการพนันก็เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อลงโทษบทหนักตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาแบ่งสินสมรส: หนังสือแบ่งทรัพย์สินครอบคลุมที่ดินทั้งแปลง แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียด
ตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินมีข้อความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 และบ้านเลขที่ 335 ให้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนบ้านเลขที่ 426/2 ตกเป็นของจำเลย โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีบ้าน 2 หลัง เป็นสินสมรสเป็นที่อยู่อาศัย และจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่า ประกอบกับข้อความท้ายหนังสือแบ่งทรัพย์สินระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิใด ๆ หลังจากนี้ไม่ว่าจะกรณีใด เชื่อว่าโจทก์และจำเลยทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรสให้แล้วเสร็จไปทั้งหมด โดยให้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของบ้านคนละหลังรวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์มั่นคงต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโดยยังไม่มีการแบ่งแยกเอกสารสิทธิ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจระบุถึงรายละเอียดของที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ในหนังสือแบ่งทรัพย์สินได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร จึงไม่น่าเชื่อว่า ในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโจทก์และจำเลยจะมีเจตนาให้คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ไว้โดยมิได้ตกลงแบ่งกันให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผล เชื่อว่าโจทก์และจำเลยตกลงยกบ้านเลขที่ 426/2 รวมถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านให้แก่จำเลยตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินแล้ว
of 6