คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
รังสรรค์ โรจน์ชีวิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์ข้ามประเทศ: ศาลไทยมีอำนาจลงโทษหากการกระทำเริ่มในไทย
พ. ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจําเลยขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้วพาไปส่งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินไปหาจําเลยที่ประเทศญี่ปุ่น การพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ พ. ขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้ว หาได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่จําเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ จึงเป็นกรณีที่การกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ได้กระทำในราชอาณาจักรและอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลจึงลงโทษจําเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คชำระค่าเช่า-ค่าตอบแทนสิทธิเก็บกิน การออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มิใช่ชำระหนี้ทันที ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ในกรณีของการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาเช่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ตกลงให้การเช่ามีผลย้อนหลังเป็นการเช่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปซึ่งเป็นข้อตกลงเช่าอสังริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 5 เดือน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การเช่าในระยะเวลาย้อนหลังดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็ครวม 5 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าเดือนมิถุนายน 2561 ถึงตุลาคม 2561 แม้ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่สัญญาเช่าดังกล่าวกระทำภายหลังจากจำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับแล้ว และถึงแม้ว่าจะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการออกเช็คที่มีหนี้อยู่จริง แต่หนี้นั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 7.2 ระบุว่า เมื่อผู้ให้เช่าได้รับค่าเช่าและค่าตอบแทนการจดสิทธิเก็บกินที่ผู้เช่าค้างชำระ... ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ให้แก่ผู้เช่า แสดงว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อประกันการชำระหนี้หาใช่เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมในสัญญาจ้างเหมา และการแก้ไขค่าเสียหายที่ศาลกำหนดเกินคำฟ้อง
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ทำงานรวม 3 สัญญา จำเลยที่ 3 นำจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมาร่วมทำงานรับจ้าง ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงเข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำงานรับจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจ้างอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาที่ 1 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี 2557 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงเกิดขึ้นนับแต่เวลาดังกล่าวเป็นต้นมา แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนก่อตั้งภายหลังจากโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 แล้วก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีต่อโจทก์จำกัดอยู่เฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นไม่สำหรับงานตามสัญญาที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมงานเป็นเงิน 130,765 บาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลอื่นทำแบบแนวสายเคเบิลเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าสายเคเบิลที่ต้องคืนเป็นเงิน 279,296.75 บาท รวมเป็นเงิน 510,061.75 บาท แต่โจทก์นำสืบค่าเสียหายที่ถูกบริษัทผู้ว่าจ้างหักเงินค่าจ้าง 275,528 บาท เพิ่มเข้ามา ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก้ไขงานกับที่โจทก์ถูกหักค่าจ้างและเสียค่าใช้จ่ายในการทำแบบแนวสายเคเบิล โดยกำหนดค่าเสียหาย 3 ส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าสายเคเบิลจำนวน 279,296.75 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นจำนวน 679,296.75 บาท จึงเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และโจทก์หาอาจเรียกค่าเสียหายในส่วนที่กำหนดเกินไปจากคำฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจเลือดผู้ต้องหาในคดีขับรถเมา การยินยอม และการรับฟังพยานหลักฐาน
การตรวจพิสูจน์ที่ต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือดจากร่างกายของผู้ต้องหาในความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหานั้น ป.วิ.อ. มาตรา 131/1 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่า การให้ความยินยอมต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การให้ความยินยอมจึงอาจทำโดยวิธีอื่นได้
การที่ร้อยตำรวจเอก ส. ร้องขอให้เจาะเลือดของจำเลยจนแพทย์เวรมีคำสั่งให้เจาะเลือดของจำเลยแล้ว ณ. เข้าไปสอบถามจำเลยก่อนเจาะเลือด ซึ่งมาตรฐานในการตรวจเลือดของคนไข้จะต้องสอบถามและได้รับความยินยอมจากคนไข้ก่อนทุกครั้ง เมื่อ ณ. สามารถสอบถามและเจาะเลือดของจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยให้ความยินยอมในการเจาะเลือดแล้ว รายงานการตรวจวิเคราะห์จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ผู้เสียหายมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำห้องชุด 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ชดใช้คืนเพียงเท่าที่ขายได้ กรณีขายทอดตลาดได้เงินเกินจำนวนดังกล่าว ให้เงินส่วนที่เกินพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินนั้น เมื่อเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำไปซื้อห้องชุดเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้าน กรณีจึงต้องคืนห้องชุด 84 ห้องแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหก โดยไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 6 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา กำหนดว่า การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 249 หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย เมื่อคำร้องขออนุญาตฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ระบุถึงประเด็นปัญหาตามฎีกาประเด็นใดไว้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะขออนุญาตฎีกาในประเด็นปัญหานั้น และปัญหานั้นได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องค่าสินไหมทดแทนก่อนศาลยกคำร้องเพิกถอนการบังคับคดี ไม่ชอบตามกฎหมาย
ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องคดีนี้บัญญัติไว้ใจความว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำร้องขอดังกล่าวในคดีเดิมได้ โดยไม่ต้องนำไปฟ้องเป็นคดีต่างหาก แต่มีการระบุเงื่อนเวลาไว้ว่า ศาลต้องยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีอันเป็นมูลเหตุแห่งการร้องขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นเสียก่อน และต้องยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันเดียวกับวันที่โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้อง อันเป็นมูลเหตุที่โจทก์ใช้อ้างให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในขณะที่ศาลยังไม่ได้สั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้อง ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง การผิดสัญญา การคิดดอกเบี้ย และการลดเบี้ยปรับ
แม้ตามหนังสือสัญญาไม่มีข้อตกลงที่ระบุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ แต่การไม่ส่งเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์แก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้นโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมกับผู้รับจ้างช่วง โดยยอมชำระเงินค่าจ้างที่ค้างให้ เมื่อบริษัทดังกล่าวดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว แสดงให้เห็นว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างและติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำมีข้อตกลงโดยปริยายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยแก่จำเลย เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ส่งมอบให้ตามกำหนด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2858/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์ในคดีไม้หวงห้าม จำเลยต้องพิสูจน์ที่มาของไม้ หากไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายถือว่าผิด
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีภาระพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 69 และ 73 ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว หากจำเลยจะต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าไม้ท่อนของกลางเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ส่วนไม้แปรรูปของกลางก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 50 (4) เมื่อมาตรา 69 วรรคหนึ่งและมาตรา 50 (4) ได้บัญญัติในเรื่องภาระการพิสูจน์ไว้เป็นการเฉพาะเช่นนี้แล้ว แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วมี พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม" บทบัญญัติมาตรา 7 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็หามีผลทำให้โจทก์มีภาระพิสูจน์ถึงที่มาของไม้ท่อนและไม้แปรรูปของกลางไม่ แต่ยังคงเป็นภาระของจำเลยที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวในการนำสืบข้อเท็จจริงอันจะทำให้ตนพ้นผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินโดยการยกให้และครอบครองเพื่อตน มิใช่การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน คดีไม่ขาดอายุความ
ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 บางส่วน และยกที่ดินพิพาทให้แก่นาย ส. หลังจากนั้นนาย ส. ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อมาอย่างเป็นเจ้าของโดยที่ทายาทอื่นของผู้ตายไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง การครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ส. และจำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นทายาทของนาย ส. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น กรณีมิใช่การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน สำหรับปัญหาตามฎีกาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เมื่อนาย ส. กับจำเลยทั้งแปดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของโดยการยกให้จากผู้ตายมิได้เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นแล้ว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ทายาทครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามตาม ป.วิ.พ. เนื่องจากจำเลยยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกาเพื่ออ้างประโยชน์จากกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับหลังมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่าไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นของจำเลย และไม่ทราบว่าเป็นไม้ของผู้ใด โดยไม่เคยให้การว่าเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยยังคงโต้เถียงว่าไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นไม้ของจำเลย มิได้กล่าวอ้างว่าเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาอ้างว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. ถือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
of 4